หากใครกำลังเบื่อวัสดุปูพื้นห้องแบบเดิมๆ หรือพื้นเก่าจนได้ฤกษ์เปลี่ยนของใหม่สักที แต่ก็ไม่อยากต้องมานั่งรื้อพื้นใหม่ให้เสียเวลา อาจเพราะเป็นบ้านหรือคอนโดมิเนียมที่ต้องพักอาศัยอยู่ทุกวัน จึงต้องการความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน แบบให้เสร็จใน 1 วันเลยได้ยิ่งดี มิฉะนั้นก็อาจต้องเสียเงินเช่าโรงแรม หรือรบกวนญาติๆกันอีกหลายวันเลยทีเดียว

ซึ่งเทคนิคของการ “ปูพื้นใหม่ทับพื้นเก่า” จะสามารถตอบโจทย์เรื่องนี้ได้ดีเลยครับ เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องของการประหยัดเวลา และประหยัดค่ารื้อถอนพื้นเก่าไปได้เยอะแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการลดปัญหาเรื่องเสียงดังที่อาจรบกวนเพื่อนบ้าน รวมถึงพื้นที่หน้างานก็ไม่ต้องเลอะเทอะอีกด้วย

โดยในปัจจุบันก็มีวัสดุมากมายเลยครับ ที่สามารถติดตั้งลงบนพื้นผิวของวัสดุเดิมได้ และแต่ละวัสดุก็จะมีความเหมาะสมในการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน หรือมีข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้นผมจึงได้รวบรวมหัวข้อต่างๆที่ควรรู้ สำหรับคนอยากปูพื้นใหม่ทับพื้นเก่าไว้ดังนี้

  1. พื้นแบบไหนที่สามารถปูพื้นใหม่ทับลงไปได้เลย?
  2. สิ่งที่ต้องคำนึง/ข้อจำกัด ของการปูพื้นใหม่ทับพื้นเก่าคืออะไร?
  3. วัสดุยอดนิยมที่สามารถปูทับพื้นเก่าได้เลยมีอะไรบ้าง?


1. พื้นแบบไหนที่สามารถปูพื้นใหม่ทับลงไปได้เลย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ไม่ใช่พื้นทุกแบบที่จะสามารถปูพื้นใหม่ทับไปได้เลยนะครับ เพราะพื้นบางชนิดก็ยังมีความจำเป็นต้องรื้อออกไปก่อน มิฉะนั้นก็อาจส่งผลกระทบตามมาได้ในภายหลัง ดังนั้นจึงแนะนำให้สังเกตกันให้ดีๆก่อนว่า พื้นเก่าของเราเป็นแบบไหน ซึ่งผมสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆดังนี้

  • กลุ่มที่สามารถปูทับของเก่าได้เลย ไม่จำเป็นต้องรื้อ :  ได้แก่ พื้นคอนกรีต พื้นปูน และพื้นกระเบื้อง เป็นต้น โดยพื้นรูปแบบนี้จะมีความแข็งแรง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานเป็นพิเศษ ซึ่งหากมีการตรวจเช็คความเรียบร้อยของพื้นเดิม ให้กลับมามีความสมบูรณ์ดีแล้ว ก็จะสามารถปูพื้นใหม่ทับของเก่าลงไปได้เลยครับ
  • กลุ่มที่จำเป็นต้องรื้อของเก่าออก ก่อนที่จะปูพื้นใหม่ : ได้แก่ พื้นไม้จริง พื้นปาเก้ พื้นลามิเนต พื้นไวนิล ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่เป็นวัสดุตกแต่งพื้นที่มีอายุการใช้งานไม่ยาวนานนัก และมีอัตราความเสื่อมสภาพได้ง่ายมาก อย่างเช่น พื้นไม้จริงภายในก็อาจกำลังโดนปลวกกิน หรือมีเชื้อราอยู่แล้วก็ได้ ซึ่งหากเราปูพื้นใหม่ทับของเก่าเดิมที่ไม่ดีอยู่แล้วลงไปเลย ก็อาจส่งผลกระทบต่อพื้นใหม่พังเร็วขึ้นได้นั่นเองครับ


2. สิ่งที่ต้องคำนึง/ข้อจำกัด ของการปูพื้นใหม่ทับพื้นเก่า

ถึงแม้ว่าการปูพื้นใหม่ทับพื้นเก่าจะสามารถช่วยลดขั้นตอนต่างๆ และประหยัดเวลาลงได้มากมายก็จริง แต่ก็ยังมีข้อควรระวังบางอย่าง ที่ต้องนำมาเป็นปัจจัยในการพิจารณาร่วมด้วย โดยมีหลักการง่ายๆก็คือ

การทำพื้นใหม่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเดิม และสามารถใช้งานต่อได้ตามปกติ รวมถึงยังต้องมีการเตรียมความพร้อมของพื้นผิวเดิมที่หน้างานให้ดี เพื่อที่เวลาติดตั้งพื้นใหม่ลงไปจะได้ไม่เกิดปัญหาตามมาภายหลังได้ ซึ่งผมก็สามารถสรุปสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมาได้ 3 หัวข้อหลักๆคือ

  • ระดับความสูงของพื้นห้องที่เพิ่มขึ้นจะมีผลอย่างไร
  • น้ำหนักของพื้นใหม่ มีผลต่อโครงสร้างบ้านหรือไม่
  • ตรวจเช็คความพร้อมของพื้นผิวเดิมให้เรียบร้อย ก่อนที่จะปูพื้นใหม่

ระดับความสูงของพื้นห้องที่เพิ่มขึ้นจะมีผลอย่างไร

การปูพื้นใหม่ทับลงไปโดยไม่ได้นำของเก่าออกก่อน แน่นอนว่าจะทำให้ตัวพื้นมีความหนาที่เพิ่มขึ้นตามวัสดุนั้นๆ (ยิ่งถ้าเป็นการปูพื้นใหม่เป็นกระเบื้อง ก็จะมีความสูงขึ้นอย่างน้อยๆ 1 – 2 cm. แต่ถ้าเป็นวัสดุอื่นๆก็อาจน้อยกว่านี้ครับ) ซึ่งความสูงที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลอยู่ 3 ประเด็นหลักๆคือ

  1. การเปิด-ปิดประตูห้อง
  2. ความสูงฝ้าที่ลดลง
  3. ความต่างระดับของพื้นในแต่ละฟังก์ชัน

1. การเปิด-ปิดประตูห้อง

หากระดับพื้นสูงขึ้นมาจากเดิมแม้เพียงน้อยนิด ก็อาจส่งผลให้เราไม่สามารถเปิด-ปิดประตูได้สะดวกเหมือนเดิม ซึ่งหากเป็นประตูไม้ก็อาจต้องมีการไสประตูออกเล็กน้อย เพื่อให้เกิดช่องว่างใต้บานประตู แต่ถ้าเป็นประตูชนิดอื่นๆเช่น ประตูกระจกบานเลื่อนกรอบอลูมิเนียม แบบนี้อาจต้องทำใจอยู่ 3 ทางเลือกหลักๆคือ

  1. ยอมเสียเงินเปลี่ยนประตูใหม่ทั้งชุด เพื่อให้เข้ากับขนาดของพื้นที่ห้องใหม่
  2. พยายามเลือกใช้วัสดุปูพื้นที่มีความหนาน้อยที่สุด เพื่อลดความต่างระดับของวงกบ/บานประตูให้น้อยที่สุด
  3. ยอมเว้นพื้นที่ตรงวงกบ/ขอบประตูเอาไว้ คือไม่ต้องทำตรงส่วนนั้นเลย แต่หน้างานก็อาจต้องยอมให้มีช่องว่างต่างระดับบนพื้น ซึ่งอาจมีการเก็บฝุ่นอยู่บ้าง หรือต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินมากขึ้นเพื่อไม่ให้สะดุดล้มครับ

2. ความสูงฝ้าที่ลดลง

การที่พื้นมีระดับความสูงเพิ่มขึ้น แต่ฝ้าเพดานยังคงอยู่ระดับเดิม แน่นอนว่าระยะความสูงจากพื้นถึงฝ้าในห้องนั้นๆย่อมลดลงเป็นธรรมดา และจะส่งผลเมื่อเราไปยืนอยู่ในห้องนั้นๆคือ รู้สึกว่าห้องนี้เล็ก/แคบลง ความโปร่งโล่งลดลง และเตี้ยลง เป็นต้น

โดยวิธีที่จะสามารถช่วยได้ก็คือ อาจทาสีห้องให้เป็นโทนสว่าง เช่น สีขาว เพื่อทำให้ห้องดูสว่างและกว้างมากขึ้น หรืออาจใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีความโปร่งไม่ทึบตัน เพื่อลดความอึดอัดภายในห้องก็ได้ครับ

3. ความต่างระดับของพื้นในแต่ละฟังก์ชัน

ในหัวข้อนี้ผมขอแยกอธิบายเป็นลักษณะของฟังก์ชันห้อง ซึ่งจะมีความจำเป็นและผลกระทบที่แตกต่างกันออกไปดังนี้

  • ห้องนอน ห้องนั่งเล่น และห้องทั่วๆไป : การทำพื้นห้องเหล่านี้ให้มีความสูงต่างระดับกันเล็กน้อย ผลที่ตามมาก็อาจเป็นการเดินสะดุดพื้นอยู่บ่อยครั้ง และมีช่องว่างตรงพื้นที่จะเก็บฝุ่นผงเยอะ เลยต้องคอยทำความสะอาดกันดีๆหน่อย หรือทำให้การเคลื่อนย้ายสิ่งของผ่านร่องพื้นเหล่านั้น มีความลำบากมากขึ้นได้นั่นเองครับ
  • ห้องน้ำ ห้องครัว และระเบียง : เป็นฟังก์ชันที่มีเรื่องของน้ำและความชื้นเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งปกติแล้วฟังก์ชันเหล่านี้ควรจะต้องอยู่ต่ำกว่าพื้นห้อง เพื่อที่น้ำจะได้ไม่ไหลย้อนเข้ามาภายในและทำให้พื้นห้องเสียหาย ดังนั้นหากมีการปูพื้นใหม่ทับของพื้นเก่าลงในฟังก์ชันเหล่านี้ ควรระวังเรื่องความสูงของพื้นของดีๆ คือต้องไม่สูงกว่าหรืออยู่ระดับเดียวกับพื้นห้องภายใน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมาในอนาคตครับ

น้ำหนักของพื้นใหม่ มีผลต่อโครงสร้างบ้านหรือไม่?

ตามปกติแล้ว พรบ. ควบคุมอาคาร จะมีการกำหนดให้โครงสร้างบ้านต้องสามารถรับน้ำหนักได้ไม่น้อยกว่า 150 กก./ตร.ม. โดยน้ำหนักทั้งหมดก็จะถูกถ่ายเทลงมาตามเสา-คาน และหากตัวบ้านมีการบรรทุกน้ำหนักที่เกินความสามารถของโครงสร้างบ้านนั้นๆ ก็อาจส่งผลให้พังลงมาทั้งหลังได้เลยทีเดียว

ซึ่งพอฟังแบบนี้แล้วก็เป็นประเด็นที่น่ากลัวมากๆเลยใช่มั้ยครับ และแน่นอนว่าการปูพื้นใหม่ทับลงไปบนพื้นเก่า ย่อมเป็นการเพิ่มน้ำหนักของตัววัสดุเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เลยทำให้หลายๆคนก็อาจเริ่มกังวลว่า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมานี้…อาจส่งผลเสียต่อโครงสร้างบ้านของเราด้วยหรือไม่?

แต่จริงๆแล้วทีมช่างหรือวิศวกรที่ก่อสร้างบ้าน เค้ามักจะมีการออกแบบโครงสร้างให้สามารถรับน้ำหนักได้เผื่อเอาไว้อยู่แล้ว ประกอบกับวัสดุที่ใช้ปูพื้นส่วนใหญ่ก็จะมีน้ำหนักที่ไม่เยอะมากนัก จึงวางใจได้ระดับหนึ่งว่า การปูพื้นใหม่ทับลงไปเลยมักจะไม่ค่อยมีผลต่อโครงสร้างบ้านสักเท่าไหร่ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุที่มีน้ำหนักมากๆอย่าง พื้นหิน และพื้นคอนกรีตหนาๆ ซึ่งในส่วนนี้จะต้องปรึกษากับทางวิศวกรดูอีกครั้งครับ

ตรวจเช็คความพร้อมของพื้นผิวเดิมให้เรียบร้อย ก่อนที่จะปูพื้นใหม่

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราไม่สามารถปูพื้นใหม่ทับของเก่าได้กับทุกสภาพพื้นผิวนะครับ เพราะถ้าพื้นเดิมอยู่ในสภาพชำรุดหรือเสียหายอยู่แล้ว ก็ควรที่จะได้รับการแก้ไขซ่อมแซมให้ดีก่อนที่จะติดของใหม่ทับลงไป

เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยและแข็งแรง สามารถใช้งานได้นานๆ เพราะมิฉะนั้นก็อาจเกิดปัญหากับพื้นใหม่ของเราในอนาคตได้นั่นเองครับ ซึ่งสิ่งที่ต้องตรวจเช็คหลักๆจะมีอยู่ 2 อย่างคือ ระดับของพื้นห้อง และความสมบูรณ์ของพื้นเดิม

ระดับความราบเรียบ/ลาดเอียงของพื้น

ก่อนจะปูพื้นใหม่ทุกชนิดเราจำเป็นต้องมีการปรับระดับ และทำให้พื้นห้องมีความราบเรียบที่เท่ากันอยู่เสมอ เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ปูพื้นใหม่ลงไปแล้ว ซึ่งเราอาจตรวจสอบได้จากการลองใช้มือลูบสัมผัส เพื่อเปรียบเทียบกับแผ่นพื้นที่อยู่รอบๆกัน หรืออาจใช้เครื่องมืออื่นๆเข้ามาช่วยทุนแรงก็ได้อย่าง เครื่องวัดระดับน้ำ เป็นต้น

แต่สำหรับพื้นห้องน้ำ/พื้นระเบียง จำเป็นต้องมีความลาดเอียงที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการระบายน้ำไหลลงสู่ท่อน้ำทิ้งได้ดี โดยจะมีวิธีทดสอบก็ง่ายๆคือ เราอาจลองราดน้ำลงบนพื้นดูเลยก็ได้ ซึ่งหากยังมีน้ำขังนองอยู่เยอะ ไม่ยอมไหลลงสู่ท่อตามที่ควรจะเป็น ก็อาจแปลว่าพื้นส่วนนั้นมีปัญหา และต้องได้รับการปรับปรุงแก้ระดับความลาดเอียงของพื้นให้เสร็จก่อนปูทับพื้นใหม่ลงไปครับ

ความสมบูรณ์ของพื้นเดิม

ก่อนจะปูพื้นใหม่ทับลงไป เราควรตรวจสอบความสมบูรณ์ของพื้นเดิมให้ดีก่อนว่า มีรอยแตกร้าว รอยบิ่น การโก่งตัว หรือหลุดร่อนบ้างมั้ย? ซึ่งหากตรวจพบก็ควรให้ช่างแก้ไขทำการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อน เช่น ใช้ปูนโป้วรอยร้าวให้เรียบร้อย / ขัดคราบรอยกาวของพื้นเดิมออก / นำแผ่นพื้นที่ชำรุดนั้นออกไป แล้วจึงปรับพื้นด้วยปูนทรายหรือปูนกาว เพื่อให้มีระดับพื้นที่เรียบเสมอกับพื้นเดิมที่เหลือ เป็นต้น

รวมถึงอย่าให้มีโพรงอากาศ หรือช่องว่างใต้แผ่นพื้นเป็นอันขาด และต้องทำความสะอาดพื้นผิวเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา หรือสิ่งสกปรกทุกครั้งด้วยนะครับ เพื่อที่เวลาปูพื้นใหม่ทับลงไปจะได้ติดแน่นทนทาน และไม่เกิดปัญหาตามมาในอนาคตนั่นเอง

วิธีตรวจสอบแผ่นกระเบื้องด้วยตัวเองแบบง่ายๆ :

  1. ใช้เหรียญโลหะเคาะลงไปที่แผ่นกระเบื้อง ถ้าเจอว่ามีเสียงก้องหรือกลวง ก็แปลว่าจะต้องสกัดแผ่นนั้นออกมาซะก่อน ซึ่งจะเกิดจากความมักง่ายของช่างเก่าที่ปูกระเบื้องแบบซาลาเปา (การทาปูนแบบเฉพาะจุด/ไม่เต็มแผ่น เลยทำให้เกิดช่องว่างภายใน)
  2. วางเหรียญตรงระหว่างรอยต่อของกระเบื้องทั้ง 2 แผ่น หากใช้นิ้วกดเหรียญด้านใดด้านหนึ่งแล้วกระดกเหรียญขึ้นมาได้ ก็แสดงว่าปูกระเบื้องไม่ได้ระดับที่เสมอกัน


3. วัสดุที่สามารถปูทับพื้นเก่าได้เลยมีอะไรบ้าง?

หลังจากที่เราเตรียมความพร้อมของพื้นเก่าเรียบร้อย และรู้ถึงข้อจำกัดต่างๆแล้ว ก็จะเริ่มเข้าสู่ส่วนที่สำคัญอีกอย่างนั่นก็คือ “การเลือกวัสดุปูพื้น”

ซึ่งปัจจุบันโลกของเรามีวัสดุให้เลือกใช้มากมายในท้องตลาด ขึ้นอยู่จุดประสงค์ที่จะนำไปใช้ และความชอบของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน โดยผมจะขอยกตัวอย่าง 6 วัสดุยอดนิยมที่สามารถใช้ปูทับพื้นเก่าได้ง่ายดังนี้

พื้นกระเบื้อง (Tile Floor)

  • ข้อดี : มีลวดลายและสีสันให้เลือกมากที่สุด เหมาะจะใช้กับห้องน้ำ/ห้องครัว/ระเบียงบ้าน หรือพื้นที่อื่นๆที่ต้องการวัสดุปูพื้นที่มีความแข็งแรง ไม่กลัวน้ำ และสามารถเช็ดทำความสะอาดได้ง่าย
  • ข้อเสีย : เป็นวัสดุที่มีความหนาระดับหนึ่ง และมองเห็นรอยต่อของยาแนวชัดเจน ไม่ได้เนียนตาเหมือนวัสดุอื่นๆ รวมถึงมักเจอปัญหาการปูพื้นได้ไม่เรียบ หรือปูไม่ได้แนวค่อนข้างบ่อย เนื่องจากการใช้กระเบื้องเกรดต่ำ หรือช่างขาดประสบการณ์และความปราณีต
  • วิธีการติดตั้ง : ใช้ปูนกาวที่เป็นวัสดุยึดติดครอบจักรวาลของวงการช่าง นำมาทาให้ทั่วด้านหลังแผ่นกระเบื้อง และติดทับพื้นเดิมที่เตรียมไว้ได้เลย
  • ราคา : แผ่นกระเบื้อง 150 บาท/ตร.ม. ขึ้นไป (ขึ้นอยู่กับเกรดและรุ่นที่เลือก), ค่าแรง 200 – 400 บาท/ตร.ม., ค่าปูนกาว 150 – 200 บาท/ถุง ใช้ได้ประมาณ 5 – 6 ตร.ม.

พื้นไม้ลามิเนต (Laminate Floor)

  • ข้อดี : ถือเป็นวัสดุทดแทนพื้นไม้จริงที่นิยมมากที่สุด เพราะมีราคาค่อนข้างถูก แถมยังมีลายให้เลือกเยอะอีกด้วย เหมาะที่จะนำมาปูภายในห้องนอนหรือห้องนั่งเล่น ให้ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นธรรมชาติ รวมถึงยังมีความทนทานต่อรอยขีดข่วนได้ระดับหนึ่งด้วย
  • ข้อเสีย : ไม่ถูกกับน้ำหรือความชื้น เพราะเนื้อไม้ด้านในจะบวมเสียหาย หรือเป็นเชื้อราได้ง่าย รวมถึงยังมีโอกาสถูกแมลงกิน และหากพื้นที่ติดตั้งไม่เรียบจริง ก็จะทำให้เวลาเดินเกิดเสียงไม้ลั่นได้ง่ายด้วย
  • วิธีการติดตั้ง : กรณีเป็นแบบ Backing (ใช้กาว) ก็สามารถติดกับพื้นเดิมได้เลย / กรณีเป็นแบบ Click Lock ให้รองพื้นด้วย PE FOAM เพื่อให้พื้นด้านล่างเรียบ และยังมีส่วนช่วยลดเสียงจากการเดินได้อีกด้วย ก่อนจะนำแผ่นพื้นมาติดตั้งแบบเข้าลิ้นกันตามปกติครับ
  • ราคา : 500 – 1,500 บาท/ตร.ม.

พื้นกระเบื้องยางไวนิล (Vinyl Floor)

  • ข้อดี : ราคาถูก มีความสามารถทนน้ำและความชื้นได้ดี เพราะมีส่วนผสมของยาง PVC ที่เพิ่มเข้ามา ทำให้ไม่ต้องกลัวถูกแมลงกิน มีลวดลายให้เลือกเยอะ เหมาะที่จะใช้กับทุกๆห้อง ไม่เว้นแม้แต่ครัวที่ตามคอนโดจะนิยมใช้กันมาก
  • ข้อเสีย : ไม่ทนต่อรอยขีดข่วน ผิวสัมผัสเหมือนพลาสติก ไม่สมจริง
  • วิธีการติดตั้ง : เหมือนกับพื้นไม้ลามิเนตเลยครับ กรณีเป็นแบบ Backing (ใช้กาว) ก็สามารถติดกับพื้นเดิมได้เลย / กรณีเป็นแบบ Click Lock ให้รองพื้นด้วย PE FOAM เพื่อให้พื้นด้านล่างเรียบ และยังมีส่วนช่วยลดเสียงจากการเดินได้อีกด้วย ก่อนจะนำแผ่นพื้นติดตั้งแบบเข้าลิ้นกันตามปกติ
  • ราคา : 150 – 1,000 บาท/ตร.ม. ขึ้นไป

พื้นกระเบื้อง SPC (Stone Plastic Composite)

  • ข้อดี : มีส่วนผสมของหินปูน (Limestone) ทำให้ไม่กลัวน้ำ/ความชื้น/แมลง อีกทั้งยังมีความแข็งแรง สามารถป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี ทนต่อสารเคมี และไม่ลามไฟอีกด้วยครับ ซึ่งจัดเป็นวัสดุที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาของพื้นไม้ลามิเนตโดยเฉพาะเลยทีเดียว
  • ข้อเสีย : ผิวสัมผัสเวลาเดินจะไม่เหมือนไม้จริง และจำเป็นต้องปรับพื้นให้เรียบเสมอกันถึงจะปูได้
  • วิธีการติดตั้ง : เป็นแบบ Click Lock ให้รองพื้นด้วย PE FOAM เพื่อให้พื้นด้านล่างเรียบ และยังมีส่วนช่วยลดเสียงจากการเดินได้อีกด้วย ก่อนจะนำแผ่นพื้นมาติดตั้งแบบเข้าลิ้นกันตามปกติ
  • ราคา : 500 – 1,000 บาท/ตร.ม.

พื้นไม้เอ็นจิเนียร์ (Engineered Wood)

  • ข้อดี : เป็นวัสดุทดแทนสำหรับคนที่ต้องการผิวสัมผัสของไม้จริง แต่ยังคงมีราคาที่ถูกและติดตั้งได้ง่ายกว่ามาก และเมื่อผิวด้านบนเป็นไม้จริง ก็เลยทำให้มีผิวสัมผัสที่อบอุ่น ดูเป็นธรรมชาติ รวมถึงยังมีการเคลือบและขัดสีพร้อมใช้งาน จึงไม่ต้องกังวลเรื่องฝุ่นหน้างานเหมือนเวลาที่ใช้ไม้จริง และถ้ามีการชำรุดเสียหายในอนาคต ก็สามารถเปลี่ยนเฉพาะแผ่นได้ค่อนข้างง่ายอีกด้วยครับ
  • ข้อเสีย : ส่วนใหญ่จะไม่สามารถขัดผิวหน้าไม้เพื่อทำสีใหม่ได้เหมือนพื้นไม้จริง ความทนทานและการกันความชื้นจะขึ้นอยู่กับเกรดของสินค้า แต่ก็อาจไม่ได้ทนน้ำได้ดีเท่ากับพื้นกระเบื้องยางไวนิล (เพราะเป็นไม้จริง) รวมถึงมีราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ
  • วิธีการติดตั้ง : เป็นแบบ Click Lock ให้รองพื้นด้วย PE FOAM เพื่อให้พื้นด้านล่างเรียบ และยังมีส่วนช่วยลดเสียงจากการเดินได้อีกด้วย ก่อนจะนำแผ่นพื้นมาติดตั้งแบบเข้าลิ้นกันตามปกติ
  • ราคา : 700 – 4,000 บาท/ตร.ม.

พื้นพรม (Carpet Floor)

  • ข้อดี : เป็นวัสดุที่นิยมใช้ในห้องปรับอากาศ ให้ผิวสัมผัสที่นุ่มสบายเท้า อบอุ่น และดูหรูหรามากขึ้น อีกทั้งยังมีคุณสมบัติช่วยลดการสะท้อนของเสียงภายในห้อง และดูดซับเสียงได้ดีมาก เหมาะกับห้องที่ต้องการความสวยงามและความเงียบ เช่น ห้องทำงาน ห้องดูหนังฟังเพลง เป็นต้น
  • ข้อเสีย : ไม่เหมาะกับห้องที่มีฝุ่นเยอะ ทำความสะอาดได้ยาก เป็นแหล่งสะสมของฝุ่นและเชื้อราได้ง่าย รวมถึงไม่เหมาะกับบ้านที่มีสัตว์เลี้ยงด้วยครับ
  • วิธีการติดตั้ง : สามารถวางบนพื้นปกติ หรือหากต้องการความแข็งแรงและถาวรมากขึ้น ก็อาจใช้กาว (Backing) ติดกับพื้นเก่าก็ได้เหมือนกัน
  • ราคา : มีขายตั้งแต่หลักร้อย-หลักพัน ขึ้นอยู่กับแบรนด์และเกรดของสินค้า


…เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับข้อมูลที่ผมนำมาฝากกันในวันนี้ จะเห็นได้ว่าขั้นตอนของการปูพื้นใหม่ทับพื้นเก่านั้นไม่ได้ยาก …แต่ก็ไม่ได้ง่ายซะทีเดียว โดยยังคงมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นวัสดุพื้นเดิมหน้างานว่าจะมีความเหมาะสมมั้ย รวมไปถึงเรื่องของระยะความสูงต่างๆ ที่อาจมีผลต่อฟังก์ชันและการใช้งานด้วย

โดยเราอาจต้องนำปัจจัยหลายๆอย่างมาประกอบการพิจารณา และเปรียบเทียบดูว่าบ้านของเราควรจะใช้วิธีไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด แน่นอนว่าถ้าเราสามารถปูพื้นเก่าทับพื้นใหม่ได้โดยไม่ต้องรื้อแบบนี้ ประโยชน์หนึ่งที่จะได้แน่ๆคือเรื่องของการประหยัดเวลา และประหยัดค่าใช้จ่ายในการรื้อพื้นเก่าไปได้มากเลยทีเดียว


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc