ใคร ๆ ก็ทาสีบ้านเองได้ หลายคนอาจมองว่าการทาสีบ้านตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและวุ่นวายแต่ในความเป็นจริงแล้วเพียงแค่เรารู้วิธีที่ถูกต้อง ใส่ใจรายละเอียดก็สามารถทาสีบ้านให้ออกมาดีได้ ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้น…สีทาบ้านก็ไม่ต่างจากเครื่องสำอาง ที่ต้องการความใส่ใจและขั้นตอนการทำงานที่ถูกต้อง เพื่อความสวยงามที่คงทน ยิ่งยุคนี้ถ้าวันไหนไม่แต่งหน้าสักหน่อย ความมั่นใจคงไม่เต็ม 100% ใช่มั้ยคะ

“แต่งหน้านาน” กลายเป็นประโยคยอดฮิตที่คุณพ่อบ้านบ่นออกมาหรือบางท่านได้แต่บ่นอุบอยู่ในใจ (^^”) ซึ่งคุณผู้หญิงมักให้เหตุผลว่าขั้นตอนเยอะ.. ก็คุณเคยเดินผ่านโซนเครื่องสำอางแล้วเห็นชุดบำรุงเป็นเซตรึเปล่าคะ? 5-6 ขวดเชียวนะที่ต้องประโคมลงไปแต่ละรอบ ต้องรอให้ตัวแรกแห้งค่อยลงต่อ จึงกินเวลาไม่ใช่น้อยๆ ..ที่เกริ่นมาทั้งหมดนี้อยากจะบอกว่าการทาสีบ้านก็มีขั้นตอนเหมือนการลงเครื่องสำอางบนใบหน้าเลยค่ะ มีขั้นตอนเฉพาะของแต่ละสภาพพื้นผิว แต่ละประเภทเหมือนกัน

หากเห็นว่าเครื่องสำอางต้องมีสูตรหลากหลายให้เข้ากับทุกสภาพผิว เพื่อสร้าง “ลุค” ที่ดูดี ก็เช่นเดียวกับการทาสีบ้าน เพราะโจทย์สำคัญที่สีทาบ้านทุกแบรนด์ต้องเจอ คงหนีไม่พ้นเรื่องสภาพผนังบ้าน ความชื้น ความร้อน ความชำนาญของช่างที่มีไม่เท่ากัน

แต่เรามองว่าการทีสีบ้านนั้นมีความยากกว่าการแต่งหน้าขึ้นมาอีกระดับนึง เพราะอย่างใบหน้านั้นสามารถล้างแต่งใหม่กันได้ทุกวัน แต่การสีทาบ้านนั้นช่วงชีวิตนึงจะทำกันไม่บ่อยนักตามอายุการใช้งานของสีก็ทุกๆ 10-15 ปี “สีทาบ้าน” ที่เราทำใหม่ในแต่ละครั้งจึงอยู่กับเราไปนานกว่า 10 ปี สมควรที่จะได้รับความพิถีพิถันในการเลือกใช้สีที่มีคุณภาพ รวมถึงขั้นตอนการทาก็ควรถูกต้องตามสภาพของผนังบ้านด้วย ไม่ใช่ทาไปแค่ 2-3 ปี ต้องมาทาซ่อมกันใหม่ มันจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุค่ะ

ถ้าไม่อยากสิ้นเปลืองทาสีหลายรอบก็อย่าเพิ่งคิดว่า..”แค่จ้างช่างทาสีก็จบ หรือทาสีอะไรก็ได้ แล้วแต่ช่างแนะนำ” เพราะ 5 ขั้นตอนในการทาสี ก็มี Steps ที่มองข้ามไม่ได้ ซึ่งเราอยากให้เจ้าของบ้าน (Owner) ได้เอาข้อมูลนี้ไปใช้พูดคุยกับช่างและคุมงานได้ดียิ่งขึ้น มาดูกันว่าแต่ละขั้นตอนจะช่วยให้ไม่ต้องจ่ายเงินทาสีใหม่หลายรอบได้อย่างไรบ้างค่ะ


ขั้นตอนแรก : เช็คและแก้ไขปัญหาบนผนังก่อนทาสีบ้าน

ที่ควรรู้ก่อนก็คือ การรู้จักสภาพผนังของบ้านเดิมว่าเป็นอย่างไร เปรียบเทียบกันให้เห็นภาพง่ายๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากสภาพผิวของคนเลย เพราะหากวันไหนเราลงรองพื้นไม่เนียน ไม่ถูกกับผิว โดนฝุ่น โดนแดดก็หลุดลอกหมดแล้วค่ะ สีทาผนังบ้านก็เช่นกันหากเตรียมพื้นผิวไม่ดี จากที่หวังจะได้สีสดทนทานนาน 10-15 ปี เพียงไม่ถึงปีก็จะเห็นรอยด่าง หลุดล่อน ได้ชัดแล้ว

ทางที่ดีที่สุดที่เราจะเช็คสภาพพื้นผิวได้ ก็ต้องดูจากปัญหาเดิมของสีทาบ้านนี่แหละ เราจะแยกเป็นปัญหาของผนังภายในบ้าน กับผนังภายนอกบ้านนะคะ เพราะสภาพแวดล้อมของภายในกับภายนอกบ้านนั้นต่างกันมาก จนต้องแยกว่าใช้สีคนละสูตรเชียวล่ะค่ะ

เมื่อดูสภาพผนังเดิมแล้วก็คงจะบอกได้ว่าผนังบริเวณไหนมีปัญหาอะไรบ้าง อย่างเช่น บริเวณที่เป็นคราบทางน้ำไหลก็ต้องปรับความลาดเอียงของผนัง (Slope) กันใหม่ เพื่อลดการไหลผ่านของน้ำ ก่อนที่จะทาสีทับลงไปใหม่ ไม่อย่างนั้นถึงทาสีใหม่ลงไป ไม่นานก็เกิดคราบอยู่ดีค่ะ ดังนั้นขั้นตอนของการเช็คและแก้ปัญหาผนังเดิมจึงมองข้ามไม่ได้เลย


Step 2 : เช็คสีทาบ้านให้ตรงกับงาน

อย่างที่เกริ่นไปในขั้นต้นว่าปัญหาเรื่องสีบ้านไม่ได้มีแค่คำตอบเดียว ความท้าทายในการเลือกสีให้ตรงกับสภาพพื้นผิวของผนังที่สุดจึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความชำนาญเช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่เราจะได้เห็นโปรดักส์หลายรุ่น ที่ผลิตมาให้มีคุณสมบัติที่แตกต่าง เช่น

สีทับหน้า : ก็มีให้เลือกอีกว่าใช้กับงานภายนอก ภายใน ฝ้าเพดาน พื้น ไม้ เหล็ก

สีรองพื้น : ต้องเลือกว่าใช้กับผนังปูนเก่า ปูนใหม่ ผนังภายนอก ภายใน ไม้ เหล็ก หรือกระเบื้อง

สีเคลือบ : จะเป็นสีที่ใช้กับงานหินกาบ ทรายล้าง ผนังปูนเปลือย

ตัวช่วยอื่นๆ : เช่น น้ำยาขจัดเชื้อราและแบคทีเรีย สีโป๊วอะคริลิก

ปัจจุบันการเลือกสีทาบ้านในตลาดจึงไม่ใช่ว่าหยิบกระป๋องไหนก็ได้ เพราะสีมีหลายรุ่น ใช้กับวัสดุที่ต่าง ๆ กันและควรใช้คู่กับตัวช่วยแบบไหนถึงได้ผลลัพธ์ของสีที่ดีสุด แน่นอนว่าคนที่รู้ดีสุดคือพนักงานขาย เพราะเค้าจะได้อัพเดทสินค้าใหม่ เทคโนโลยี สีรุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งบางทีช่างทาสีก็ตามไม่ทัน

อย่างเช่น สีของทาง Nippon Paint ในปัจจุบันก็มีทั้งสูตรที่ทนต่อสภาพอากาศรุนแรง ใช้กับโลเคชั่นที่แดดจัดหรือฝนตกชุกโดยเฉพาะ

ที่เรายกตัวอย่างสีของ “Nippon Paint” ขึ้นมา เพราะบริษัทนี้มีประสบการณ์ที่น่าสนใจ โดยเริ่มต้นธุรกิจจากผลิตภัณฑ์เพื่อผิวหน้าให้กับสาวชาวญี่ปุ่นเมื่อ 140 ปีที่แล้ว ซึ่งต้องใช้ความละเอียดอ่อน มีขั้นตอนในการดูแล ไม่ต่างไปจากโปรดักส์ของสีทาบ้าน ที่ทาง Nippon Paint ผลิตมาให้หลากหลาย เพื่อให้ได้บ้านที่สีสดและทนทานที่สุด แต่ก็ต้องเลือกให้ถูกประเภทกับการใช้งานนะคะ

ยกตัวอย่างง่ายๆ แค่หนึ่งประเภทของสีทาภายนอกจาก Nippon Paint ก็มีหลายสูตร มีระดับความทนทานให้เลือกหลากหลาย แต่ละสูตรจะมี Features พิเศษที่ตอบโจทย์ เช่น บ้านที่มีแตกลายงาต้องอุดโป๊วและทาสีรองพื้นชนิดยืดหยุ่นพิเศษก่อนลงสีทับหน้า หรือ อยากได้แบบเช็ดล้างทำความสะอาดได้ก็ต้องเลือกสูตรที่ทนต่อการเช็ดล้างได้โดยเฉพาะ เป็นต้น


Step 3 : ต้องทาสีตามขั้นตอน อย่าลัดขั้นตอนเด็ดขาด

เมื่อเลือกของมาถูกกับพื้นผิวและวัสดุแล้ว วิธีการลงสีก็ต้องถูกขั้นตอนเหมือนกัน ถ้าเปรียบบ้านเป็นใบหน้าเราก็คงไม่ทากันแดด หรือปัดแก้ม ก่อนลงรองพื้นอะไรแบบนั้น ความชำนาญของช่างทาสี ก็ไม่ต่างอะไรกับ Make-up Artist ที่เก่งๆ มีชั่วโมงบินสูงก็มีประสบการณ์ที่ทราบว่าใบหน้าแต่ละคนควรแต่งอย่างไรให้ได้ผิวเนียน สีสันที่แต่งแต้มติดทนนานที่สุด

วันนี้เรามีตัวอย่างจากประสบการณ์ทาสีบ้านใหม่ของ Nippon Paint มาฝาก โดยเลือกกรณียอดฮิตอย่างผนังที่มีปัญหาคราบเชื้อรา ตะไคร่น้ำ และคราบด่างซีดจางมากฝาก หรือหากผนังบ้านใครมีปัญหาอื่นทั้งภายนอก ภายใน เช่น สีโป่งพอง, คราบทางน้ำไหล, รอยแตกลายงา สามารถคลิกอ่านเพิ่มได้ที่นี่เลยค่ะ

กรณีปัญหาคราบเชื้อรา ตะไคร่น้ำ มักเกิดจากความชื้นและการเตรียมพื้นผิวที่ไม่ถูกต้อง การใช้สีคุณภาพต่ำ ซึ่งไม่มีคุณสมบัติต้านทานการเกิดเชื้อรา ผนังที่มักจะเกิดเชื้อราจึงเกิดกับพื้นที่ความชื้นสูง ใกล้ท่อระบายน้ำ ผนังที่มีน้ำรั่วซึมหรือไหลผ่านบ่อย

ขั้นตอนแก้ไข 1. เตรียมพื้นผิวโดยการกำจัดและยับยั้งเชื้อรา ตะไคร่น้ำ > 2. ใช้สีรองพื้นปูนเก่า ช่วยปรับสภาพพื้นผิวเดิมที่มีปัญหา > 3. ทาสีทับหน้าใหม่โดยเลือกรุ่นที่ป้องกันเชื้อรา

กรณีปัญหาคราบด่าง ซีดจาง เกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การที่ผนังปูนมีค่าความเป็นด่างในปูนสูง ทำให้สีซีดจางเร็ว หรือมีน้ำซึมจากรอยแตกร้าวหรือจากดาดฟ้า ทำให้เกิดความชื้นสะสม จนสีซีด หรือสีที่ใช้คุณภาพไม่ดี จึงซีดจางได้ง่าย

ขั้นตอนแก้ไข 1. เตรียมพื้นผิวโดยการทิ้งปูนให้แห้ง > 2. ขัดทำความสะอาดสีเก่าที่เป็นฝุ่นผงออก > 3. ซ่อมแซมรอยแตกร้าว ลายงาด้วยการโป้ว > 4. ทาสีรองพื้น โดยเลือกรุ่นที่ทนทานต่อด่างและเกลือได้ดี เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้สีทับหน้าซีดจาง > 5. ทาสีทับหน้ารุ่นที่ทนต่อสภาพอากาศรุนแรง

พอจะเห็นภาพแล้วใช่ไหมคะว่าผนังบ้านที่มีปัญหาต่างกันก็มีวิธีเตรียมพื้นผิว และการเลือกใช้สีแตกต่างไปด้วยเช่นกัน แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุดค่ะ


Step 4 : ออกแบบเฉดสีสำหรับสีทาบ้าน

เสน่ห์อย่างหนึ่งที่ทำให้การเลือกสีสันบ้านเป็นความสนุกเลย หรือบางคนที่ไม่ได้ถนัดในงานศิลปะนัก อาจจะบอกว่าเป็นความเครียดได้เลยนะ เพราะสีนี่แหละที่เป็นจุดหลักในการบอก Mood&Tone ของบ้าน สร้างบรรยากาศของบ้านแต่ละหลังให้แตกต่างกันออกไป จะให้ดูเรียบๆง่ายๆ ฟีลสบายๆ สดชื่น หรือดูเคร่งขรึม ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกตัวตนเจ้าของบ้านได้ค่ะ

หากใครกังวลกับการเลือกสีบ้าน เราขอแนะนำให้เริ่มจากดูรูป Reference เยอะๆ ง่ายที่สุดก็ Search จาก Website ต่างๆที่รวบรวมไอเดียไว้เยอะๆ เช่น Pinterest, Banidea, baanlaesuan เป็นต้น หรือเราสามารถคลิกดู ไอเดียจาก Nippon Paint ได้ที่นี่ เลยนะคะ หากใครยังจับต้นชนปลายไม่ถูก เราก็มีสูตรการใช้สีง่ายๆ มาแนะนำกัน เป็นหลักการใช้สีง่ายๆ ที่ทำให้การทาสีไม่โป๊ะ!! ซึ่งหากเป็นสีที่โทนที่เราชอบแล้ว ก็แนะนำว่าทาไปเถอะค่ะ บ้านของเราเอง อย่างมากก็แค่หามาทาใหม่ 555 แต่ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนได้รู้จักกับหลักการใช้สีแบบ “60-30-10” กันก่อนค่ะ

เจ้า “60-30-10” เป็นหลักการหนึ่งที่ช่วยคุมโทนสีให้กับห้อง ไม่ให้หลุดเฉดจากกัน ผ่านการกำหนดสัดส่วนสี แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ สีหลัก 60% – สีรอง 30% – สีไฮไลท์ 10%

สีหลัก 60% : ส่วนใหญ่จะใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ของห้องเช่น ผนัง เพดาน พื้น หรือเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่สุด ซึ่งสีที่เลือกใช้ก็จะเป็นโทนสีอ่อน ให้สว่างๆ อย่างเช่น สีขาว ครีม เทา ชมพูอ่อน เขียวอ่อน ซะส่วนใหญ่ ซึ่งจะทำให้ห้องมีบรรยากาศที่โปร่งโล่งขึ้น ไม่อึดอัด และยังเป็นโทนที่เติมเฟอร์นิเจอร์เพิ่มได้ง่าย

สีรอง 30% : มักจะใช้กับพื้นที่บางส่วนในส่วนห้อง หรือเฟอร์นิเจอร์ขนาดกลาง เช่น ผ้าม่าน พรม โซฟา โต๊ะรับประทานอาหาร แต่จะเลือกให้มีสีที่เข้มขึ้นมาหน่อย

สีไฮไลท์ 10% : เป็นส่วนที่เพิ่มความเด่นให้กับห้องนั้นๆ มักใช้กับบรรดาของตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ เช่น โคมไฟ แจกัน หมอนอิง ใช้เป็นสีโทนเข้ม ให้เป็นสีสันของห้องเท่านั้น


Step 5 : การเลือกช่างทาสีบ้าน (กรณีที่เราไม่อยากทำเอง)

“ถึงแม้มีวัตถุดิบที่ดี แต่หากทำไม่เป็นก็ใช้งานได้ไม่คุ้มค่า” ใครเป็นสายอุปกรณ์ดีเด่นก็อยากแนะนำให้เลือกช่างที่มีฝีมือด้วย เวลาที่จะตกลงจ้างช่างจึงควรพูดคุยให้แน่ใจว่าเค้ามีความรู้ด้านนี้พอสมควร อย่างประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง เคยจ้างช่าง Built-in เฟอร์นิเจอร์ที่เก็บงานสีด้วยแปรงเบอร์ใหญ่ เก็บอย่างไรก็ไม่เรียบร้อยเสียที หรือบางเจ้าใช้สีผิดประเภท เป็นรอยแตกลายงาที่ผนังแต่กลับทาสีทับๆ เพื่อกลบรอยอยู่อย่างนั้น ซึ่งหากเปลี่ยนเป็น Wall Putty ป้ายเพียงนิดเดียวก็เรียบแล้วแท้ๆ การเลือกช่างมืออาชีพจึงส่งผลต่อคุณภาพงานที่ออกมาอย่างมาก

ใครที่ยังลังเลไม่รู้จะตัดสินใจเลือกช่างเจ้าไหนดี ที่ Nippon Paint เองก็มีบริการช่างทาสีแนะนำไว้ให้เป็นทางเลือกด้วยเช่นกัน เรียกว่า Smart Painter ที่ให้บริการได้ทั้งทาสีภายนอก ทาสีภายใน หรือสีที่เป็นลวดลายค่ะ คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่เลย 


เป็นอย่างไรบ้างคะกับ 5 ขั้นตอนที่เราเตรียมมาให้จะช่วยให้เพื่อนๆ ทาสีบ้านได้ทนทาน ไม่ต้องเสียเงินทาสีหลายรอบ แต่ก็ฝากไว้ว่าการเลือกใช้สีเกรดพรีเมี่ยมและช่างที่ความชำนาญ ใช้สีได้ถูกต้องตามคุณสมบัติจะทำให้ได้สีบ้านที่สวยงามแน่นอน หวังว่าช่วงที่ต้องอยู่บ้าน Work From Home แบบนี้ ทุกคนจะได้เทคนิคดีๆ ไปดูแลสีบ้านให้สดใสกันนะคะ

Facebook: Nippon Paint Decorative
Line: @nipponpaint
Website: www.nipponpaintdecor.com
Youtube: Nippon Paint Decorative
Tel: 02 463 1899