…เวลาที่เราจะสร้างบ้านสักหลังหนึ่ง จะมีการใช้งานโครงสร้างหลักๆ 2 ส่วนคือ โครงสร้างคอนกรีต และโครงสร้างเหล็ก ซึ่งข้อดีหลักๆของการใช้เหล็กก็คือ ความแข็งแรงทนทาน และความสะดวกรวดเร็วในการก่อสร้าง หรือบางทีเราก็อาจต้องการงานที่มีการโชว์วัสดุ ที่เป็นโครงสร้างเหล็กด้วยใช่มั้ยครับ
ทีนี้ทุกคนก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่า “เหล็ก” และ “สนิม” เป็นของคู่กัน ก็เลยทำให้หลายๆคนยังมีความเป็นกังวลในการใช้วัสดุประเภทนี้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังจะสร้างบ้านใหม่ หรือคนที่มีปัญหาเรื่องสนิมในตอนนี้อยู่แล้วก็ตาม …ดังนั้นบทความนี้เราจะมาช่วยกันหาคำตอบว่า จะมีวิธีใดบ้างที่จะช่วยป้องกัน/แก้ไขการเกิดสนิมในเหล็กได้บ้าง? เราไปชมพร้อมๆกันเลยครับ
สนิม (Rust) คืออะไร?
เกิดจากการทำปฏิกิริยาของเหล็ก น้ำ และอากาศ ซึ่งขั้นตอนการสึกกร่อนจะค่อยๆเป็นไปอย่างช้าๆ และหลุดร่อนออกมาจนกลายเป็นเหล็กออกไซด์ที่มีสีแดงส้ม หรือที่เราเรียกกันว่า “สนิม” นั่นเอง
และถ้าหากเหล็กชิ้นนั้นๆ อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเป็นกรดสูงกว่าปกติ เช่น บ้านที่อยู่ตามริมชายทะเลต่างๆ ก็มักจะมีปัญหาเรื่องเหล็กเป็นสนิมได้บ่อยมาก เพราะความเข้มข้นของกรดเกลือที่มีอยู่ในอากาศ จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เข้าไปเร่งให้เกิดปฏิกิริยาได้เร็วกว่าปกตินั่นเองครับ
วิธีป้องกันการเกิดสนิม
หลักการง่ายๆคือ เราต้องทำยังไงก็ได้ไม่ให้เหล็กสัมผัสกับความชื้นและอากาศ ซึ่งก็มีหลากหลายวิธีเช่น การเคลือบผิวเหล็กด้วยสารบางอย่าง หรือการผสมแร่ธาตุบางอย่างเสริมเข้าไปเพื่อให้กลายเป็นเหล็กปลอดสนิม เป็นต้น โดยวันนี้ผมจะพามารู้จักกับ 4 วิธีป้องกันสนิม ที่นิยมใช้กันบ่อยสุด ประกอบด้วย
- การใช้เหล็กเป็นโครงสร้างภายใน
- การทาสีกันสนิม
- การใช้เหล็กกัลวาไนซ์
- การใช้วัสดุทดแทนเหล็กที่ไม่เป็นสนิม
การใช้เหล็กเป็นโครงสร้างภายใน
“คอนกรีตเสริมเหล็ก” ถือเป็นหนึ่งในวิธีพื้นฐานที่วงการก่อสร้างมักจะใช้กันอยู่บ่อยๆ โดยใช้โครงเหล็กขึ้นเป็นแบบอยู่ภายใน แล้วจากนั้นก็จะเทปูนหรือคอนกรีตทับลงไป ซึ่งตัวคอนกรีตนี้เองครับที่จะห่อหุ้มไม่ให้เหล็กต้องสัมผัสกับความชื้น หรืออากาศภายนอกโดยตรง จึงช่วยลดปฏิกิริยาการเกิดสนิมได้เป็นอย่างดี
แต่ที่เราเคยเห็นกันว่า โครงสร้างเหล็กของบ้านที่อยู่ในผนังก็มีโอกาสเป็นสนิมได้นั้น สาเหตุเป็นเพราะปูนหรือคอนกรีตที่ห่อหุ้มอยู่ เกิดรอยแตกร้าวลึกลงไปจนถึงเหล็กที่อยู่ด้านใน ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุมาก ไม่ว่าจะเป็นความชื้น การเสื่อมสภาพของปูน การทรุดตัวของดิน เป็นต้น เลยทำให้ความชื้นกับอากาศเข้าไปสัมผัส และทำปฏิกิริยากับเหล็กจนกลายเป็นสนิมได้นั่นเองครับ
ซึ่งวิธีป้องกันก็คือ เราควรหมั่นตรวจเช็คผนังให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ หากเจอว่าผนังส่วนไหนมีรอยร้าวก็ต้องรีบแก้ไข ก่อนที่จะลุกลามและเกิดปัญหาต่อโครงสร้างเหล็กที่อยู่ภายใน เช่น เราอาจใช้ยาแนวมาอุดรอยร้าวเหล่านั้น หรือสกัดผนังเพื่อฉาบปูนใหม่ทับลงไปเลยก็ได้ครับ
การทาสีกันสนิม
เป็นการเคลือบพื้นผิวของเหล็กด้วยสีหรือสารชนิดอื่น เพื่อที่จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้เหล็กสัมผัสกับความชื้นและอากาศโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายและสะดวกที่สุด แถมยังเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายอีกด้วย เพราะนอกจากงานโครงสร้างบ้านแล้ว เรายังสามารถใช้ได้กับส่วนอื่นๆที่เป็นเหล็กได้หลากหลายรูปแบบเลย ไม่ว่าจะเป็นบันได ประตู หน้าต่าง และรั้วบ้าน เป็นต้น
…แต่เพื่อนๆทราบหรือไม่ว่า จริงๆแล้วสีกันสนิมนั้นมีหลากหลายเกรดมาก และมีรูปแบบที่เหมาะสมกับการใช้งานที่ไม่เหมือนกันเลยครับ โดยผมสามารถสรุปเป็น 3 แบบง่ายๆได้ดังนี้
- สีรองพื้นกันสนิมแบบ “เรดออกไซด์”
- สีรองพื้นกันสนิมแบบ “ซิงค์ฟอสเฟต”
- สีอีพ็อกซี่ (Epoxy Paint)
สีรองพื้นกันสนิมแบบ “เรดออกไซด์”
เป็นสีกันสนิมที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด และมีราคาถูกที่สุดด้วยครับ โดยสารกันสนิมที่นำมาใช้ก็คือ “เรดออกไซด์” (Red Oxide) หรือออกไซด์ของเหล็กที่เป็นสีแดงตุ่น มาผสมเป็นผงสีแล้วนำมาทาเหล็ก และสีพื้นฐานก็คือจะเป็นสีแดงตามธรรมชาติ บางคนก็เลยเรียกติดปากว่า “กันสนิมแดง” นั่นเอง
ซึ่งเป็นสีกันสนิมขั้นพื้นฐานที่ใช้งานได้ดี โดยอาจต้องมีการทาสีซ้ำอย่างน้อย 2 รอบ เพื่อให้สีติดทนทานและใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเกรดและรุ่นของแต่ละผลิตภัณฑ์ด้วยนะครับ (สินค้าที่เน้นราคาประหยัด เค้าอาจจะใส่ผงออกไซด์ค่อนข้างน้อย เลยทำให้ทาไม่ค่อยติดหรือทาไม่ขึ้น จึงต้องมีการทาซ้ำกันหลายๆรอบหน่อยนะ)
นอกจากนี้ในตลาดปัจจุบัน ก็ยังมีการทำสีกันสนิมเรดออกไซด์สีเทาออกมาให้ใช้กันด้วยครับ หรือที่เรียกว่า “กันสนิมเทา” ซึ่งในด้านคุณภาพก็จะเหมือนกับกันสนิมแดงเลย แต่จะมีประโยชน์ใช้สอยที่ต่างกันตรงที่
- กันสนิมแดง : จะเหมาะกับการทาสีเข้มทับ
- กันสนิมเทา : จะเหมาะกับการทาสีอ่อนทับ
…ถ้าเราชอบสีเทา/สีแดงแบบเดิมๆของสีกันสนิมอยู่แล้ว ไม่ทาสีใหม่ทับลงไปได้ไหม?
คำตอบคือ ไม่ผิด…แต่ก็ไม่ควร เพราะเดิมทีสีกันสนิมเค้าถูกออกแบบมาให้เป็น “สีรองพื้น” ซึ่งยังไงก็ควรจะมีสีทาทับหน้า ไม่อย่างนั้นก็อาจโดนแดด/ฝนทำให้หลุดร่อนได้ง่าย และจะแสดงประสิทธิภาพได้ไม่ดีเท่าที่ควรนั่นเองครับ
สีรองพื้นกันสนิมแบบ “ซิงค์ฟอสเฟต”
เป็นสีกันสนิมที่ดีว่ากันสนิมแดง (Red Oxide Primer) ขึ้นมาหน่อย และยังมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าด้วย จึงมักนิยมใช้กับบ้านหรือโครงการจัดสรรระดับบนๆสัก 8 – 10 ล้านขึ้นไป โดยในสมัยก่อนเค้าจะเรียกว่า “กันสนิมส้ม” หรือ Red Lead Primer ซึ่งเป็นสีที่มาจากตะกั่ว
และอย่างที่เราทราบกันดีว่า สารตะกั่วนั้นเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นผู้ผลิตสีในปัจจุบันจึงเปลี่ยนมาใช้เป็นซิงค์ฟอสเฟต (ซิงค์+ฟอสฟอรัส) และยังมีการแต่งสีให้กลายเป็นสีส้ม เพื่อให้คนทั่วไปยังเข้าใจตรงกันว่า คุณภาพของสีกันสนิมซิงค์ฟอสเฟตยังคงมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับสีกันสนิมส้มอยู่เหมือนเดิม
แต่จริงๆแล้วในท้องตลาดปัจจุบัน เราจะสามารถพบเห็นสีกันสนิมซิงค์ฟอสเฟสสีอื่นๆอย่าง สีแดง หรือสีเทา ที่มีราคาประหยัดลงมาได้ด้วยครับ เพราะการทำเป็นสีส้มนั้นจะมีความยากกว่า จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และการนำไปใช้งานของแต่ละคนอีกทีด้วยนะ
โดยการใช้งานสีกันสนิมซิงค์ฟอสเฟสหรือกันสนิมส้มนี้ ก็ยังจำเป็นต้องมีการทาสีซ้ำอย่างน้อย 2 รอบเหมือนเดิม เพื่อให้เกิดความทนทานและได้ประสิทธิภาพเต็มที่ แต่ทีนี้ในบางเคสของงานก่อสร้าง ถ้าเป็นโครงการจัดสรรที่ดีๆหน่อย ผู้รับเหมาเค้าจะแบ่งให้ช่างทากันสนิมแดงหรือสีเทารอบนึง และกันสนิมส้มอีกรอบนึง เพื่อที่จะได้เช็คได้ง่ายๆว่า ช่างเค้าทาสีครบ 2 รอบหรือเปล่านั่นเองครับ
สีอีพ็อกซี่ (Epoxy Paint)
เป็นสีที่มีคุณสมบัติทนทานต่อการกัดกร่อน และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่าการใช้สีทากันสนิมแบบทั่วไปที่เป็นสีน้ำมัน จึงเป็นที่นิยมสำหรับบ้านที่อยู่ใกล้กับชายทะเล ซึ่งจะช่วยป้องกันการสึกกร่อนจากความเป็นกรดของไอทะเลได้ดี และทำให้เหล็กไม่เกิดเป็นสนิมง่ายครับ โดยสีอีพ็อกซี่จะมีอยู่ 2 แบบหลักๆคือ
- สีกันสนิมอีพ็อกซี่แบบ 1 ส่วน
- สีกันสนิมอีพ็อกซี่แบบ 2 ส่วน
ซึ่งสีกันสนิมอีพ็อกซี่แบบ 1 ส่วน จะเป็นสีแบบสำเร็จรูปที่สามารถเปิดถังสีแล้วใช้ได้เลย (ปัจจุบันมีเพียงเจ้าเดียวคือ TOA รุ่น Heavy Guard Rust Shield) โดยมีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถทาทับสีน้ำมันเดิมไปได้เลย เน้นความสะดวกสบาย ไม่ต้องเสียเวลาขัดสีหรือสนิมเก่าออกทั้งหมด เพียงแค่ต้องทำความสะอาดเบื้องต้น ให้เรียบร้อยนิดหน่อยก่อนลงสีก็เป็นอันใช้ได้ จึงเหมาะกับพวกงานรีโนเวทนั่นเองครับ
ส่วนสีกันสนิมอีพ็อกซี่แบบ 2 ส่วน ตามชื่อคือจะมีถังสี 2 ส่วนที่จะต้องนำมาผสม เพื่อทำปฏิกิริยาเคมีกันก่อนนำไปใช้ ประกอบด้วย ส่วนที่เป็นเนื้อสี และสารเร่งแข็ง ซึ่งจัดเป็นรุ่นที่ทนทานและเป็นที่นิยมมากที่สุด ในบรรดาสีกันสนิมทั้งหมดในปัจจุบันเลยก็ว่าได้ครับ
เหมาะที่จะนำไปใช้กับงานที่ต้องการความคงทนสูง เช่น บ้านที่สร้างใกล้ทะเล แล้วต้องโดนความเป็นกรดเข้มข้นจากไอทะเลเป็นประจำ หรืองานโครงสร้างเหล็กสูงๆ ที่เราไม่สามารถไปรีโนเวทได้บ่อยๆ เป็นต้น
การใช้เหล็กกัลวาไนซ์
กัลวาไนซ์ (Galvanized / Galvanization / Galvanizing) คือกระบวนการชุบเคลือบพื้นผิวเหล็กด้วยสังกะสี เนื่องจากสังกะสีมีศักย์ไฟฟ้าที่ต่ำกว่าเหล็ก จึงมีอัตราการกัดกร่อนที่น้อย และช่วยป้องกันการเกิดสนิมได้ดีกว่า โดยเมื่อเหล็กผ่านการเคลือบสังกะสีแล้วก็จะถูกเรียกว่า เหล็กกัลวาไนซ์ (Galvanized Steel) และวิธีที่นิยมมากที่สุดคือ วิธีการชุบสังกะสีแบบจุ่มร้อน (Hot-dip Galvanizing)
ซึ่งโดยทั่วไปแล้วก็มักจะนำไปใช้กับงานโครงสร้าง ที่ต้องการความทนทานต่อความชื้นหรือทนต่อสภาพอากาศได้มากเป็นพิเศษ เช่น โครงหลังคา ประตูรั้วบ้าน หรือเราอาจพบเห็นการใช้เหล็กชนิดนี้ตามงานกลางแจ้งต่างๆ เช่น เสาธง เสาไฟฟ้า เป็นต้น
ข้อดีของเหล็กกัลวาไนซ์
- ประหยัดค่าสีกันสนิม เพราะเหล็กกัลวาไนซ์จะมีผิวงานของสังกะสีเคลือบอยู่ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดสนิมในเหล็ก โดยใช้ตัวเองให้ถูกกัดกร่อนแทนอย่างช้าๆ
- ประหยัดเวลาและค่าแรงในการทาสีกันสนิม เนื่องจากเป็นเหล็กที่สามารถนำไปใช้ได้ทันที
- ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว เนื่องจากเป็นเหล็กที่มีอายุการใช้งานยาวนานถึง 50 ปี และไม่จำเป็นต้องบำรุงรักษาบ่อยๆ
- สะดวกในการเก็บกองวัสดุในขณะก่อสร้าง เพราะไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นสนิม
ข้อเสียของเหล็กกัลวาไนซ์
- บริเวณข้อต่อหรือจุดเชื่อมต่างๆ จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดสนิมได้ง่าย เพราะการเจาะหรือเชื่อมด้วยความร้อน จะทำให้สังกะสีที่เคลือบอยู่บริเวณนั้นหลุดลอกออกไปด้วยนั่นเองครับ
- ไม่เหมาะกับระบบปะปา หรือระบบท่อน้ำต่างๆ เนื่องจากสังกะสีจะมีโอกาสปนเปื้อนไปกับระบบน้ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อการบริโภคและอุปโภคได้สูง
- เนื่องจากเหล็กชนิดนี้จะก่อสารพิษสังกะสีในขณะที่ใช้ความร้อนเชื่อมต่อ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อช่างผู้ปฏิบัติงาน จึงควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐานทุกครั้ง
การใช้วัสดุทดแทนเหล็กที่ไม่เป็นสนิม
ถึงแม้ว่าเราจะทาสีกันสนิมก็แล้ว หรือจะชุบกัลวาไนซ์ก็แล้ว แต่วิธีการเหล่านี้ก็เพียงช่วยป้องกันและชะลอการเกิดสนิมให้ช้าลงได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งอนาคตก็ยังมีโอกาสเกิดสนิมได้อยู่ดีครับ แต่บนโลกนี้ยังมีวัสดุอื่นๆที่สามารถใช้ทดแทนเหล็กได้คือ
- เหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel)
- อลูมิเนียม (Aluminium)
- เหล็กเส้นไฟเบอร์กลาส (Glass Fiber Reinforced Polymer Rebar)
เหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel)
หลายๆคนมักจะเรียกทับศัพท์ว่า “สเตนเลส” หรือ “สเตนเลสสตีล” ซึ่งเกิดจากเหล็กกล้าที่เป็นโลหะผสมระหว่างเหล็ก คาร์บอน และโครเมียม ซึ่งตัวโครเมียมในเหล็กนี้เองที่จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ
ทำให้เกิดเป็นฟิล์มบางๆเคลือบผิวเหล็กไว้ ไม่ให้น้ำและอากาศผ่านเข้าไปทำลายเนื้อโลหะจนเกิดการกัดกร่อนได้ รวมถึงชั้นฟิล์มนี้ยังสามารถสร้างตัวเองขึ้นใหม่ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อผิวโลหะนั้นๆเกิดความเสียหายหรือการขูดขีดได้ทันทีอีกด้วย
โดยลักษณะเด่นของ “สเตนเลส” ที่เรามักจะเห็นได้ทั่วไปคือ จะมีพื้นผิวที่มันเงาสวยงาม สามารถทนความร้อนและความเย็นได้ดี แถมยังมีความปลอดภัยสูงและถูกสุขลักษณะอีกด้วย ซึ่งเรามักจะเห็นนำมาใช้กับเครื่องครัว และอุปกรณ์ทางการแพทย์บ่อยๆ
รวมถึงยังมีการนำมาใช้กับประตูรั้วบ้านเพื่อความสวยงาม และมีความแข็งแรงทนทานเป็นอย่างดี แต่ก็มีน้ำหนักที่มาก (เยอะกว่าอลูมิเนียม ประมาณ 2 เท่า) และมีราคาที่ค่อนข้างสูงด้วยเช่นกัน
อลูมิเนียม (Aluminium)
เป็นโลหะที่มีความหนาแน่นน้อย น้ำหนักเบา สามารถขึ้นรูปได้ง่าย แต่ก็เป็นวัสดุที่ไม่ได้แข็งแรงมากนัก เพราะหากมีการกระแทกหรือกดทับเป็นเวลานานๆ ก็อาจเสียรูปทรงได้ง่าย รวมถึงยังสามารถทนต่อการกัดกร่อนได้ดี และที่สำคัญคือ “ไม่เป็นสนิม” นั่นเองครับ
เนื่องจากสามารถทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ แล้วจะเกิดชั้นฟิล์มบางๆที่เรียกว่า “อลูมิเนียมออกไซด์” เคลือบบนชั้นผิวอลูมิเนียม ซึ่งช่วยป้องกันการเกิดปฏิกิริยาอื่นๆได้ดี แต่จะเกิดปฏิกิริยากับเกลือและสภาวะความเป็นด่างเข้มข้น ที่อาจทำให้เกิดการกัดกร่อนได้ครับ
ในด้านงานก่อสร้างเรามักเห็นว่า จะมีการนำอลูมิเนียมมาใช้เป็นวัสดุตกแต่งซะส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นประตู หน้าต่าง รั้ว ราวกั้น และบันได เนื่องจากมีน้ำหนักที่เบาแต่ก็ทนทาน แถมยังมีราคาที่ไม่แพงอีกด้วย (ราคาถูกกว่าสเตนเลส ประมาณ 3 – 4 เท่า)
เหล็กเส้นไฟเบอร์กลาส (Glass Fiber Reinforced Polymer Rebar)
หลายๆคนอาจไม่ค่อยคุ้นกับวัสดุชนิดนี้ เพราะปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมในไทยมากนัก แต่ในต่างประเทศเค้ามีการใช้งานกันมานานแล้วครับ ซึ่งเหล็กเส้นไฟเบอร์กลาส หรือ GFRP Rebar เป็นวัสดุทดแทนเหล็กเส้นที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเกิดสนิมโดยเฉพาะ
ผลิตจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส ที่ผ่านขบวนการดึงขึ้นรูปคล้ายการทำเชือกแล้วผสมเรซิน จึงมีการรับแรงได้ดี น้ำหนักเบาเพียง 1 ใน 4 ของเหล็กเท่านั้น และไม่เป็นสนิม รวมถึงของไม่มีทางหายได้ง่ายๆเมื่อวางไว้ที่ไซต์ก่อสร้าง เพราะเอาไปชั่งกิโลขายเหมือนเหล็กไม่ได้นั่นเองครับ
ส่วนข้อจำกัดที่ทำให้วัสดุชนิดนี้ไม่เป็นที่นิยมคือ เป็นวัสดุที่เหนียวแต่เปราะ ไม่สามารถดัดงอเองหน้างานได้ จำเป็นต้องสั่งทำมาจากโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมักจะใช้กับงานโครงสร้างคอนกรีตที่เป็นแนวราบเท่านั้น เช่น ถนน พื้นลานจอดรถ หรือคานที่อยู่บนพื้นดิน เป็นต้น ไม่แนะนำให้ใช้กับงานโครงสร้างที่สูงกว่านั้นขึ้นไป เนื่องจากตัววัสดุยังมีความแข็งแรงไม่มากพอ
…เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับการป้องกันเหล็กไม่ให้เป็นสนิมทั้ง 4 วิธี ที่ผมนำมาฝากกันในวันนี้ โดยมีหลักการง่ายๆเลยคือ เราต้องเคลือบผิวด้านนอกของเหล็กอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปฏิกิริยาเคมีของเหล็กและความชื้นในอากาศ
ไม่ว่าจะเป็นการทาสีกันสนิมที่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่ก็มีหลากหลายเกรดให้เลือก ทั้งแบบพื้นฐานที่มีถูกที่สุด ไปจนถึงแบบทนทานมากที่สุดและมีราคาแพงหรือจะเป็นการใช้เหล็กที่ผ่านกรรมวิธีพิเศษต่างๆ เช่น เหล็กชุบกัลวาไนซ์ สเตนเลส และอลูมิเนียม เป็นต้น ซึ่งต่างก็มีคุณสมบัติและความเหมาะสมที่ต่างกันออกไป
โดยหวังว่าบทความนี้จะทำให้ทุกคน สามารถเลือกใช้วิธีป้องกันเหล็กเป็นสนิมกันได้อย่างถูกต้องมากขึ้นนะครับ ส่วนครั้งหน้าเราจะมีบทความดีๆอะไรมาฝากกันอีก ก็อย่าลืมติดตามกันด้วยนะ สวัสดีครับ
ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc