รู้กันรึเปล่าว่าในกรุงเทพฯ ท่ามกลางพื้นคอนกรีต ก็ยังมีพื้นที่สีเขียวๆ อย่างสวนสาธารณะกว้างๆ แทรกตัวอยู่ ลองนับดูได้ราวๆ 30 แห่ง ซึ่ง Think of Living ก็ได้ลองรวบรวม “10 สวนสาธารณะพื้นที่กว้างในกรุงเทพฯ” เรียงลำดับจากพื้นที่มากไปน้อย ส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้น ไปดูพร้อมๆ กันเลยค่าาาา 😉
[คลิกที่ภาพเพื่อดูภาพขนาดใหญ่]
สวนหลวง ร.9: พื้นที่ 500 ไร่
สวนหลวง ร.๙ สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ องค์กรภาครัฐและเอกชน โครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2527 ตามความมุ่งหวังร่วมกันที่จะสร้างสวนสาธารณะระดับนครให้เป็นหน้าตาของประเทศ และสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อประชาชนได้มาเที่ยวพักผ่อน ด้วยที่ดินผืนนี้ไม่ได้ต่อเนื่องเป็นผืนเดียว แต่มีหลายสิบโฉนด และมีหลายแปลงปะปนในที่ดินเอกชนจึงต้องแลกที่ดินกับเอกชน และได้รับบริจาคเพิ่ม ทำให้มีพื้นที่รวมถึง 500 ไร่
สวนวชิรเบญจทัศ: พื้นที่ 375 ไร่
ในปี 2534 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้มีมติรัฐบาลให้สร้างสวนสาธารณะบนพื้นที่ “สนามกอล์ฟรถไฟ” ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ส่วนแรก 140 ไร่ ให้สร้างเป็นสวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
ส่วนที่เหลือ 375 ไร่ กรุงเทพมหานครรับมอบที่ดินจากกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2541 และจ่ายค่าชดเชยให้การรถไฟฯ จำนวน 555 ล้านบาท และเริ่มเข้าปรับปรุงพื้นที่สนามกอล์ฟเดิมเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2542 เดิมสวนสาธารณะแห่งนี้ประชาชนรู้จักในนามสวนรถไฟ กรุงเทพมหานครได้ขอพระราชทานนามสวนแห่งนี้จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า “สวนวชิรเบญจทัศ” เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545
สวนลุมพินี: พื้นที่ 360 ไร่
สวนสาธารณะแห่งแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานที่ดินผืนนี้ในปี 2468 เพื่อใช้จัดงานแสดงพิพิธภัณฑ์สรรพสินค้าและทรัพยากรธรรมชาติ และมีพระราชดำริว่าเมื่อเลิกการจัดงานแล้ว บริเวณนั้นควรจัดเป็นสวนพฤกษชาติ เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาและใช้พักผ่อน ทรงเลือกบริเวณทุ่งศาลาแดงที่ดินส่วนพระองค์ที่เหลือจากแบ่งเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว เป็นที่จัดงานและทรงสละพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการเตรียมสถานที่ ครั้งนั้นมีการขุดสระกว้าง สร้างเกาะลอยกลางน้ำ ตัดถนน และสร้างถาวรวัตถุ เช่น หอนาฬิกา ตึกแบบกรีก ทรงพระราชทานชื่อว่า สวนลุมพินี หมายถึง สถานที่ประสูติแห่งพระพุทธเจ้า ณ ตำบลลุมพินีวัน ประเทศเนปาล แต่ด้วยทรงเสด็จสวรรคตก่อนกำหนดเปิดงานจึงต้องล้มเลิกงานไป
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 โครงการนี้จึงถูกรื้อฟื้นอีกครั้ง โดยทรงให้เช่าที่ดินด้านใต้ของสวนลุมพินี 90 ไร่ จัดเป็น “วนาเริงรมย์” คล้ายสวนสนุก และนำค่าเช่ามาปรับปรุงที่ดิน ส่วนที่เหลือเปิดเป็นสวนสาธารณะ นับแต่นั้น สวนลุมพินี จึงเป็นสถานที่ให้ความเพลิดเพลินสนุนสนานแก่ประชาชน มีทั้งกรละเล่น แข่งว่าว วิ่งวัว ชิงช้า ม้าหมุน โดยทรงพระราชทานที่ดินให้รัฐบาลดูแล และมีกระแสรับสั่งให้ใช้ เพื่อสวนสาธารณะเท่านั้น ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สวนลุมพินี กลายเป็นที่ตั้งค่ายทหารญี่ปุ่น สวนแห่งนี้จึงลดบทบาทลง จนสงครามสิ้นสุดในปี 2495 – 2497 จึงถูกใช้เป็นที่จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญและมีการประกวดนางสาวสยาม บริเวณเกาะลอย
ปัจจุบันสวนลุมพินีเป็น “สวนอเนกประสงค์” คือรวมไว้ด้วยประโยชน์ใช้สอย เพื่อกิจกรรมนันทนาการหลากหลายจัดเตรียมไว้บริการประชาชน โดยเป็นที่ตั้งของศูนย์นันทนาการ สมาคม ชมรมต่าง ๆ ภายใต้ภาพรวมของการเป็นพื้นที่สีเขียวซึ่งมีเอกลักษณ์ที่ความร่มรื่น ด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่เก่าแก่ ปลูกรายล้อมอยู่มาก และกระจายอยู่ท่ามกลางธรรมชาติที่จัดแต่งด้วยสระน้ำกว้างใหญ่
สวนเสรีไทย: พื้นที่ 350 ไร่
สวนน้ำกว้างใหญ่แห่งนี้มีที่มาจากโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อจุดประสงค์หลักในการเป็นบึงรับน้ำฝนขนาดใหญ่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ เพื่อใช้ป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ในขณะนั้นดำเนินการโดยสำนักงานเขตบางกะปิ ณ บริเวณบึงกุ่ม หรือ บึงตาทอง ซึ่งเป็นบึงสาธารณะเก่าแก่ขนาดใหญ่ แต่ได้ถูกรุกล้ำจนมีสภาพตื้นเขิน จึงได้ปรับปรุงบึงเดิมตามแนวธรรมชาติ จนสามารถใช้รองรับน้ำได้ถึง 1.5 ลูกบาศก์เมตร พร้อมประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำ และระบายสู่คลองบึงกุ่มต่อเนื่องสู่คลองแสนแสบต่อไป รวมทั้งพัฒนาพื้นที่ 90 ไร่ รอบบึงด้วย ต่อมาได้มอบให้กองสวนสาธารณะเป็นผู้ดูแลเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2530 จนในปี 2539 มีการพัฒนาขยายพื้นที่ส่วนที่เหลืออีก 260 ไร่ สร้างเป็นสวนป่า 1 ใน 9 แห่ง ตามโครงการสวนป่ากทม. เฉลิมพระเกียรติในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในชื่อว่า “สวนน้ำบึงกุ่ม” ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “สวนเสรีไทย” เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ขบวนการเสรีไทย ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศ และมีพิธีเปิดเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2540 ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 52 ปี แห่งวันสันติภาพไทย
สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์: พื้นที่ 196 – 3 – 65 ไร่
เกิดขึ้นตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในปี 2534 โดยมอบให้กระทรวงคมนาคมจัดสร้างบนที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้านทิศใต้ของสนามกอล์ฟรถไฟ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 ในส่วนการหาทุนสมทบและทุนในการดูแลสวนระยะยาวมูลนิธิสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้รับไปดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาตม และหน่วยงานเอกชน ซึ่งโครงการระยะที่ 1 ในพื้นที่ 140 ไร่ แล้วเสร็จมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2539 ต่อมาส่งมอบให้กรุงเทพมหานครดูแลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2538
สวนจตุจักร: พื้นที่ 155 – 0 – 56.6 ไร่
ในปีพ.ศ. 2518 การรถไฟแห่งประเทศไทยได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน เพื่อสร้างสวนสาธารณะ ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 4 รอบ กรุงเทพมหานคร เข้าร่วมดำเนินการก่อสร้าง และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หน่วยงานภาคเอกชนหลายหน่วย ต่อมาขยายพื้นที่โครงการอีก 90 ไร่ในที่ดินซึ่งการรถไฟฯ มอบให้เพิ่มเติม และได้ฤกษ์เปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ธันวาคม 2523
สวนเบญจกิติ: พื้นที่ 130 ไร่
ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2534 เห็นชอบในหลักการให้ย้ายโรงงานยาสูบไปอยู่ส่วนภูมิภาคและพัฒนาพื้นที่โรงงานยาสูบเดิมให้เป็นสวนสาธารณะ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบและเป็นแกนกลางร่วมกับสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำรายละเอียดแผนแม่บทในการพัฒนาพื้นที่โรงงานยาสูบให้เป็นสวนสาธารณะ และเนื่องจากในปี 2535 เป็นปีที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ คณะรัฐบาลเห็นควรเข้าร่วมโครงการเทิดพระเกียรติโดยทูลเกล้าฯ ถวายสวนสาธารณะแห่งนี้ในวาระดังกล่าว ในการนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนสาธารณะแห่งนี้ว่า “สวนเบญจกิติ” และเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสวน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2547 ต่อมากรุงเทพมหานครได้รับมอบสวนเบญจกิติจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ให้อยู่ในความรับผิดชอบตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551
สวนเบญจกิติ นอกจากจะได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อสวนจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระราชวินิจฉัยแบบจำลองของสวนและทรงโปรดให้พิจารณาปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ออกดอกในช่วงเดือนต่างๆ ด้วย พื้นที่ของสวนแห่งนี้จึงมีความสวยงามตระการตาด้วยดอกไม้นานาชนิดที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกดอกตลอดปี และด้วยการออกแบบที่มุ่งเน้นให้เป็นสวนน้ำแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 2 ใน 3 จำนวน 86 ไร่ บริเวณด้านหน้าสวนจึงถูกสร้างให้เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ ภายใต้แนวคิด ป่ารักษ์น้ำ ทั้งนี้ เพื่อเชื่อมโยงเข้ากับพื้นที่ด้านหลัง ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นสวนป่าที่จำลองลักษณะทางธรรมชาติของป่าไม้ในภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย นอกจากนั้นภายในสวนยังมีพื้นที่ใช้สอยประกอบด้วย ลานเบญจกิติ ลานองค์พระ ลานการแสดงกลางแจ้ง สวนสุขภาพ สนามเด็กเล่น ทางเดิน ลู่วิ่ง ทางจักรยาน ศาลาพักผ่อน และลานจอดรถ
สวนธนบุรีรมย์: พื้นที่ 63 – 1 – 20 ไร่
บริเวณที่ตั้งสวนสาธารณะแห่งนี้เคยเป็นสวนผลไม้และทุ่งหญ้ามาก่อน โดยเฉพาะสวนส้มบางมดที่ขึ้นชื่อ สำหรับที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่กรุงเทพมหานครเป็นผู้เช่าทำประโยชน์โดยในปี 2503 ผู้บริหารกรุงเทพมหานครในขณะนั้น คือ นายชำนาญ ยุวบูรณ์ ได้มีนโยบายปรับปรุงสถานที่แห่งนี้เป็น “สถานที่เพาะชำต้นไม้บางมด” เพราะความเหมาะสมในด้านที่ตั้ง และความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ จนในปี 2511 พระยามไหศวรรย์ นายกเทศมนตรี นครธนบุรี ได้เห็นความเหมาะสมของพื้นที่ จึงดำเนินการปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อการพักผ่อนของประชาชน ในย่านฝั่งธนบุรี และเปลี่ยนชื่อเป็น “สวนธนบุรีรมย์”
สวนกีฬารามอินทรา: พื้นที่ 59 – 0 – 36 ไร่
พื้นที่เดิมของสวนกีฬารามอินทราเป็นที่ทิ้งขยะและโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยของสำนักรักษาความสะอาด (ปัจจุบันคือสำนักสิ่งแวดล้อม) หลังจากที่งดทิ้งขยะแล้วจึงได้นำดินมาถมกลบที่ทิ้งขยะในพื้นที่ 32 ไร่ ต่อมาในปี 2532 สำนักงานสวนสาธารณะได้เข้าทำการปลูกต้นไม้เพื่อให้มีลักษณะเป็นสวนป่า และปลูกเพิ่มเติมอีกครั้งตามโครงการปลูกสวนป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539 หลังจากนั้น กรุงเทพมหานครได้ยกเลิกโรงงานกำจัดขยะมูลฝอย ซึ่งมีบริเวณพื้นที่อีก 27 ไร่ พร้อมทั้งปรับปรุงให้เป็นสวนสาธารณะและลานกีฬา ในปี 2543 และเปิดให้บริการอย่างทางการเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2548
สวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ: พื้นที่ 52 – 1 – 69 ไร่
สวนแห่งนี้เกิดจากการทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2541 โดยการเคหะได้มอบพื้นที่เคหะชุมชนร่มเกล้าให้กับกรุงเทพมหานครดำเนินการปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะ สำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและออกกำลังกายของประชาชน พร้อมทั้งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551
ขอบคุณข้อมูล: สำนักงานสวนสาธารณะ กทม.