MRT สามย่าน… เป็นสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายเฉลิมรัชมงคล อยู่ระหว่างสถานีปลายทางหัวลำโพงและสถานีสีลม ที่ตั้งของสถานีอยู่บนถนนพระราม 4 ตรงบริเวณแยกสามย่าน ซึ่งเมื่อพูดถึงสามย่านแล้วทุกคนคงจะนึกถึงมหาวิทยาลัยชื่อดังแถวสามย่าน หรือ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักของสถานีนี้ โดยพื้นที่โดยรอบสถานีนี้ทางทิศเหนือเกือบทั้งหมดเป็นที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การพัฒนาพื้นที่ส่วนใหญ่จึงขึ้นกับการบริหารจัดการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหลัก ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะพื้นที่สำหรับการศึกษา แต่มีการพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์และสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยด้วย โดยพื้นที่บริเวณนี้นับได้ว่าเป็นเมืองมหาวิทยาลัยขนาดย่อมเลยทีเดียว
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่: มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (S2)
สิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่สำคัญโดยรอบ
ใกล้ทางออก 1
• วัดหัวลำโพง
• มูลนิธิร่วมกตัญญู
• ศาลเจ้าพ่อเขาตก
• ศูนย์อาหารสามย่านสเตชั่น
ใกล้ทางออก 2
• จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
• จามจุรีสแควร์
• สำนักงานใหญ่ DTAC (อาคารจามจุรีสแควร์)
• สถานเสาวภา (สวนงู)
• ยูเซ็นเตอร์
• CU Sports Complex
• ตลาดสามย่าน
การคมนาคม
ด้านการคมนาคม ทำเลพื้นที่แถวสามย่านนี้นับว่าอยู่ใจกลางเมือง ใกล้ศูนย์กลางการค้าย่านสยามสแควร์และราชดำริ ใกล้ศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งได้แก่สถานีรถไฟหัวลำโพง อีกทั้งยังมีสถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หากไม่พูดถึงการจราจรที่ติดขัดทำเลนี้นับว่าเป็นทำเลที่การเดินทางค่อนข้างสะดวกพอสมควรทีเดียว เนื่องจากแยกนี้มีสะพานยกระดับข้ามแยกสุรวงศ์และสีลมทำให้รถที่จะไปสาทร วิทยุ หรือขึ้นไปทางด่วนเดินทางไปได้สะดวก ไม่ต้องติดไฟแดง หรือว่าจะไปแถวเยาวราช วงเวียน 22 กรกฎาคม เพื่อไปต่อทางราชดำเนินข้ามไปปิ่นเกล้าก็ถือว่าไม่ไกลนัก ในส่วนของถนนพญาไทเองก็สามารถขับรถตรงดิ่งไปถึงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้อีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นทำเลใจกลางเมืองที่สะดวกมากอีกแห่งหนึ่ง
สำหรับการเดินทางภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตและบุคลากรสามารถนั่งรถโดยสารภายในจุฬาฯ ซึ่งสามารถเดินทางไปยังคณะต่างๆ ทั้งฝั่งพระบรมรูปสองรัชกาล ฝั่งศูนย์กีฬาฯ หรือแม้แต่ไปสยามสแควร์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้บริเวณหน้าจามจุรีสแควร์ยังมีสถานีจักรยาน ”ปัน ปั่น” โครงการจักรยานสาธารณะโดยกรุงเทพมหานคร ให้บริการฟรี 15 นาทีแรก ซึ่งสถานีจามจุรีสแควร์นี้นับเป็นสถานีนำร่องของโครงการ สำหรับผู้ที่ต้องการความแปลกใหม่ในการเดินทาง หรือต้องการออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด ให้เลือกเดินทางพื้นที่โดยรอบบริเวณนี้ได้อีกด้วย ปัจจุบันเพิ่งเริ่มเปิด 12 สถานี เมื่อ 1 พ.ค.56 ซึ่งทางเว็บของโครงการเองระบุว่าจะมีสถานีจักรยานในย่านนี้ครอบคลุมถนนสาทร พระราม 4 พญาไท พระราม 1 ราชดำริ สีลม ฯลฯ รวมกว่า 50 สถานี ซึ่งถือว่าเป็นคอนเซปต์ที่ค่อนข้างดีและเป็นประโยชน์ และปัจจุบันกระแสการเดินทางด้วยจักรยานก็เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่ชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้คงจะต้องรอดูกันต่อไปครับ
เจาะลึกรอบสถานี
ทางออกที่ 1 (เส้นทางสำรวจ A) ด้านถนนสี่พระยา-ถนนทรัพย์
เรามาเริ่มสำรวจเจาะลึกด้วยการเดินเท้ากันเลยดีกว่าครับ เริ่มจากทางออกที่ 1 ด้านถนนสี่พระยา
สำหรับ ทางออกที่ 1 จะออกมาทางถนนพระรามที่ 4 หน้าวัดหัวลำโพง ตรงหัวมุมเลี้ยวจากพระราม 4 เข้าถนนสี่พระยา โดยเราจะเริ่มสำรวจโดยเดินไปทางสี่พระยาก่อนนะครับ
ทางออกที่ 1 (เส้นทางสำรวจ B) ด้านถนนพระราม 4
เรามาสำรวจเจาะลึกกันต่อสำหรับทางออกที่ 1 ในอีกด้านนึงนะครับ ด้านถนนพระราม 4
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมของสวนงู สถานเสาวภา: http://www.saovabha.com/th/snakefarm_service.asp
ทางออกที่ 2 (เส้นทางสำรวจ A) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งพระบรมรูปสองรัชกาล
สำหรับทางออกที่ 2 จะออกมาทางหัวมุมถนนพญาไทเลี้ยวเข้าถนนพระราม 4 บริเวณหน้าจามจุรีสแควร์ อย่างที่กล่าวไว้แต่แรกว่าจุดหมายปลายทางของสถานที่นี้ก็คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั่นเอง แม้กระทั่งบริเวณตัวสถานี MRT เองก็มีป้ายบอกไว้ว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากเราจะไม่เข้าไปสำรวจจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลยก็คงจะไม่ได้ แต่ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทุกคณะก็คงเป็นงานช้างเกินไป จึงขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจทำเลใกล้รถไฟฟ้าใต้ดิน เราคงไม่ได้ครอบคลุมถึงทุกบริเวณของจุฬาฯ นะครับ นิสิตปัจจุบันและนิสิตเก่าของคณะที่ผมไม่ได้เดินผ่านก็อย่าน้อยใจไปนะครับ ถือว่าเราพาไปดูบรรยากาศของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกันดีกว่า สำหรับนิสิตเก่าที่จบไปแล้วหลายปีอาจจะพบว่า ภาพจุฬาฯ ที่เห็นกับสมัยคุณเรียนอยู่ จะว่าคล้ายกันก็คล้าย จะว่าต่างกันก็มากครับ เนื่องจากจุฬาฯ มีการพัฒนาพื้นที่อยู่เรื่อยๆ ครับ ถือว่ามาเยี่ยมชมการเปลี่ยนแปลงแล้วกัน
แนะนำการสำรวจเส้นทางนี้ก่อนว่า สถานีนี้จะมีทางออกแค่สองทาง ผมจะพาสำรวจจุฬาฯ ทั้งสองฝั่งเลยครับโดยแบ่งเป็นเส้นทาง A ฝั่งพระบรมรูปฯ ตามแผนที่ข้างต้น และเส้นทาง B (ต่อเนื่องจากเส้นทาง A) เป็นการสำรวจฝั่งสนามกีฬาฯ โดยเส้นทางจะกลับมาบรรจบที่ทางออก 2 ครับ มาเริ่มกันเลยดีกว่าครับ
สำหรับทางออกที่ 2 นี้เชื่อมเข้าสู่ชั้นใต้ดินของอาคารจามจุรีสแควร์เลย แต่การสำรวจนี้เราจะขึ้นมาบนทางออกปกตินะครับ จะได้เห็นภาพจากบนถนน
ภาพบรรยากาศภายในจามจุรีสแควร์ จะเป็นศูนย์การค้าที่เน้นการศึกษาหน่อยครับ ด้านล่างเป็นร้านอาหารและขนมต่างๆ เช่น MK, KFC, Swensen’s, Starbucks, เสวย, สมบูรณ์โภชนา ฯลฯ สำหรับนิสิตและอาจารย์ที่อยู่คณะแถวนี้จะมาเลี้ยงฉลองกัน ไม่ต้องไปไกลถึงสยามครับ นอกจากนี้ยังมีร้านหนังสือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซีเอ็ดฯ นานมีบุ๊คส์ ร้านนายอินทร์ ศูนย์หนังสือจุฬาฯ และบริการทางการเงินโดยสาขาของธนาคารต่างๆ เกือบครบทุกธนาคาร เปิดทุกวันครับ
จากหน้าคณะเศรษฐศาสตร์ซึ่งเป็นทางสามแพร่งเดินไปทางศาลาพระเกี้ยวครับ เห็นรถสีชมพูผ่านมา คันนี้เป็นรถโดยสารภายในจุฬาฯ ครับ ชาวจุฬาฯ นิยมเรียกว่ารถป๊อบซึ่งมีที่มาจาก”รถปอ.พ.”ครับ น่าจะยังจำกันได้ว่าสมัยหนึ่งเรามีรถเมล์ที่เรียกกันว่า”ไมโครบัส” 20 บาทตลอดสาย การันตีมีที่นั่ง และไม่ทอนตังค์วิ่งอยู่ทั่วไปใช่ไหมครับ ในช่วงแรกจุฬาฯ ก็ว่าจ้างบริษัทไมโครบัสให้มาเดินรถในจุฬาฯ นี่แหละครับ เลยได้รถหน้าตาเหมือนไมโครบัสหรือปอ.พ.ที่วิ่งข้างนอกมาวิ่ง เลยกลายมาเป็นรถไมโครบัส (คิดว่านิสิตปัจจุบันถ้ามาอ่านกันอาจจะเรียกรถป๊อบกันโดยไม่รู้ที่มาที่ไป และอาจจะนึกหน้าตาไมโครบัสที่ว่าไม่ออกนะครับ โปรด search ในกูเกิ้ลประกอบครับ)
ข้อมูลเกี่ยวกับรถป๊อบ พร้อมเส้นทางเดินรถ: http://www.chula.ac.th/about/visitor_map/visitor_map_shuttle/
เมื่อออกประตูคณะสถาปัตย์ฯ เลี้ยวขวามานิดนึงก็จะเป็นโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาครับ สำหรับนักเรียนที่เรียนที่นี่ยังถือว่าสามารถเดินทางมาเรียนด้วยรถไฟฟ้าใต้ดินลงสถานีสามย่านแล้วเดินมาได้ครับ ไม่นับว่าไกล(สำหรับนักเรียน) สมัยก่อนจะมีรถใต้ดิน MRT หลังมีรถไฟฟ้า BTS หลายคนก็มา BTS ลงสถานีสยามแล้วเดินมาครับ นับว่าเดินได้ แต่ผมว่าไกลกว่าเดินจาก MRT
ครับจบการสำรวจจุฬาฯ ฝั่งพระบรมรูปฯ แล้ว เรามาข้ามฝั่งสำรวจจุฬาฯ อีกด้านหนึ่งดีกว่าครับ
ทางออกที่ 2 (เส้นทางสำรวจ B) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝั่งสนามกีฬาฯ
เจาะลึกรวบยอด
สภาพแวดล้อมของชุมชน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่านนี้มีจุดหมายปลายทางที่ค่อนข้างเฉพาะเจาะจง เนื่องจากพื้นที่โดยรอบส่วนมากเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงกล่าวได้ว่าเป็นชุมชนมหาวิทยาลัยหรือเมืองมหาวิทยาลัย ผู้ที่มองหาที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ส่วนมากคงหนีไม่พ้นอาจารย์และนิสิตที่ต้องการที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับจุฬาฯ ส่วนพื้นที่ด้านหลัง(ทิศตะวันตก)ของสนามกีฬาจุฬาฯ นั้นเป็นชุมชนเก่าแก่ที่เช่าที่ของจุฬาฯ ทำมาค้าขายมายาวนาน แต่ก็มีแนวโน้มที่อาจจะถูกขอคืนโดยจุฬาฯ ได้ในไม่ช้านี้ (เช่นเดียวกับบริเวณหน้าถนนพญาไทและตลาดสามย่านเก่า) การพัฒนาพื้นที่ในโซนระหว่างถนนบรรทัดทอง-พญาไท-อังรีดูนังต์ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจและการบริหารจัดการของจุฬาฯ ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับทิศใต้ของสถานี MRT นั้นก็เป็นด้านถนนสี่พระยาซึ่งล้วนแต่เป็นอาคารพาณิชย์เก่า บริษัทห้างร้านไหนยังคงดำเนินธุรกิจได้ก็ทำกันไป แต่คงจะไม่ค่อยมีใครมาเช่าตึกแถวเก่าทำออฟฟิศหรืออยู่อาศัยกันแล้วครับ จะเห็นก็มีแต่โครงการวิชแอทสามย่าน และโครงการที่พักอาศัยในถนนทรัพย์ ซึ่งเชื่อมระหว่างย่านธุรกิจเก่าคือถนนสี่พระยา ไปย่านธุรกิจปัจจุบันคือสุรวงศ์และสีลม เนื่องจากพื้นที่ย่านนี้เป็นย่านธุรกิจ ไม่ใช่ย่านที่อยู่อาศัย ดังนั้นจะมีความคึกคักเฉพาะเวลากลางวัน ส่วนเวลากลางคืนจะค่อนข้างเงียบเหงาครับ
การคมนาคม ผู้ที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ถือว่าอยู่ในศูนย์กลางของกรุงเทพฯ อีกจุดหนึ่งเลยครับ จะไปเรียนที่จุฬาฯ เตรียมอุดมฯ หรือทำงานแถวสีลม นับว่าอยู่ในระยะเดินเท้าได้ครับ แต่หากไกลออกไปอีกหน่อย เช่น สาทร สยาม คงจะเดินกันเหนื่อยอยู่ เดินทางด้วยรถยนต์ก็สะดวกครับเพราะใกล้ แต่คงจะหนีเรื่องรถติดเวลาเร่งด่วนไม่พ้น แต่ถ้านอกช่วงเวลาเร่งด่วนการเดินทางด้วยรถยนต์ในบริเวณนี้ถือว่าสะดวกมากครับ ถนนที่เป็นทางหนีรถติดในบริเวณนี้คือถนนสี่พระยาและสุรวงศ์(ช่วงที่เลยพัฒน์พงศ์ไปแล้ว) ซึ่งโดยปกติการจราจรจะไปได้เรื่อยๆ ครับแม้ในช่วงรถติด หากถนนสองเส้นนี้ยังติดแล้วล่ะก็ แปลว่าการจราจร ณ เวลานั้น วันนั้นเป็นอัมพาตหมดทั้งโซนครับ สำหรับการเดินทางไปยังโซนอื่นของกรุงเทพฯ ก็ค่อนข้างสะดวก ไม่ว่าปลายทางจะเป็นฝั่งพระนครหรือฝั่งธน และสามารถเดินทางไปยังโซนอื่นโดยใช้ทางพิเศษซึ่งเลือกขับไปขึ้นได้ทั้งทางพระราม 4 (คลองเตย)หรือสุรวงศ์ครับ
การเดินทางโดยไม่ใช้รถยนต์ ในโซนแถวนี้มีวินมอเตอร์ไซค์ค่อนข้างน้อยนะครับ แทบไม่เห็นบนถนนสี่พระยา (ในซอยอาจมีบ้าง) เป็นโซนที่ถ้าไม่ขับรถก็ต้องเดินออกกำลังกายกันหน่อยละครับ
การพัฒนาในอนาคต พื้นที่บริเวณโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสามย่านนั้น ทางทิศเหนือทั้งหมดเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งการพัฒนาพื้นที่นั้นขึ้นกับนโยบายของทางจุฬาฯ เพียงอย่างเดียว แต่ช่วงสิบปีกว่าที่ผ่านมาเราเห็นการพัฒนาที่ค่อนข้างเร็วและมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากครับ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนตึกร้างที่สร้างค้างๆ คาๆ มาตั้งแต่สมัยวิกฤตเศรษฐกิจมาเป็นจามจุรีสแควร์ จามจุรีเรสสิเดนท์ การย้ายตลาดสามย่านเก่าไปด้านหลัง และเคลียร์พื้นที่เตรียมทำโครงการใหม่ การสร้างอาคารเรียน อาคารอเนกประสงค์ต่างๆ ในจุฬาฯ ส่วนทางด้านถนนสี่พระยาซึ่งส่วนมากเป็นตึกแถวนั้นคาดหวังการพัฒนาได้ยากครับ นอกจากจะมีการซื้อพื้นที่ด้านหลังด้วยเพื่อสร้างโครงการ เช่น วิชแอทสามย่าน เพราะปัจจุบันนี้ธุรกิจเกิดใหม่ก็ไม่ค่อยมีใครซื้อหรือเช่าตึกแถวมาทำสำนักงานกันซักเท่าไหร่แล้ว พื้นที่ในโซนสี่พระยาและถนนทรัพย์นั้น คาดได้ว่าจะอยู่กันไปแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ไม่เปลี่ยนแปลงไปอีกนานพอสมควรเลยครับ
สรุป พูดมายืดยาว มาสรุปกันสั้นๆ ง่ายๆ ดีกว่าครับ ทำเลที่อยู่อาศัยบริเวณนี้เหมาะสำหรับ
1. อาจารย์ นิสิต นักเรียน บุคลากร ของจุฬาฯ สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาฯ โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ และเตรียมอุดมฯ
2. ผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ทำงานในบริเวณถนนสีลม สุรวงศ์ สี่พระยา
3. ชาวชุมชนเดิมที่อยู่ในพื้นที่แถวนี้อยู่แล้ว หรือคนที่เติบโตมาในโซนสี่พระยา สุรวงศ์ สีลม สาทร ซึ่งคุ้นชินกับบรรยากาศและชีวิตในโซนนี้
สำหรับผู้ที่แค่ต้องการหาทำเลติดรถไฟใต้ดิน MRT แต่ไม่ได้อยู่ในข่าย 3 ข้อข้างต้น แนะนำว่าลองมองตัวเลือกสถานีอื่นก่อนดีกว่าครับ เนื่องจากที่ดินแถวนี้ราคาค่อนข้างจะ”แพง”เกินไปซักหน่อยครับ
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่: มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า BTS ศาลาแดง (S2)
*อ่านสักนิด* ใน การเลือกทำเลใกล้รถไฟฟ้าแต่ละสถานีนั้น แต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ให้น้ำหนักในแต่ละเรื่องที่ไม่เท่ากัน บางคนเลือกที่จะอยู่ใกล้สถานีที่อยู่ในตัวเมือง เพราะสภาพชุมชนรอบๆที่ คึกคัก สามารถไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์ได้ด้วย ขอนั่งไปสองสามสถานีแล้วถึงที่ทำงานเลย คนพวกนี้ก็ต้องจ่ายแพง ในขณะที่บางคนบอกว่า ออกไปอยู่ไกลๆหน่อยก็ได้ สุดสายเลยก็ไม่ว่ากัน แค่ขอให้ติดรถไฟฟ้าก็พอ ยอมตื่นเช้าขึ้นซัก 15-30 นาที แต่จ่ายถูกกว่า และเงียบสงบกว่า ส่วนบางคนก็แปลก เลือกที่อยู่อาศัยใกล้สถานี ขอให้ใกล้ไว้ก่อน แม้ว่าตัวเองอาจจะไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็ตาม แล้วสถานีไหนล่ะจึงจะเป็นสถานีที่ดีที่สุด? อันนี้ก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละบุคคลครับ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าสถานีใดเป็นสถานีที่ดีที่สุดดีเท่ากับตัวคุณเองหรอกครับ
สุดท้ายนี้ รบกวน ขอให้เพื่อนๆโดยเฉพาะเพื่อนๆที่อยู่ในพื้นที่ ช่วยกัน Comment แบ่งปัน เพิ่มเติมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารอร่อย ทางลัดเล็กๆน้อยๆ หรือสภาพแวดล้อมทั้งดีและไม่ดี ให้กับผู้อ่านที่กำลังหาบ้านโซนนี้ด้วยนะครับ