มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า BTS สะพานตากสิน (S6)…สถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานตากสิน (S6) เป็นหนึ่งในรถไฟฟ้า BTS สายสีลม หรือสายสีเขียวเข้ม ระหว่างสถานี สรุศักดิ์ และ กรุงธนบุรี ที่ตั้งของสถานีนั้นอยู่บนถนนเจริญกรุง บริเวณสามแยกจุดที่ถนนสาทรมาบรรจบกับถนนเจริญกรุง อยู่ใต้สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินหรือสะพานสาทรพอดิบพอดี หากใครขับรถข้ามสะพานตากสิน ก็จะมองเห็นตัวสถานีรถไฟฟ้าอยู่ติดกับตัวสะพานเลย โดยจะมองเห็นชานชาลาจะอยู่เหนือสะพานขึ้นมาเล็กน้อย
ความพิเศษอย่างหนึ่งของ BTS สะพานตากสินนี้ คือ เป็นสถานีรถไฟฟ้าสถานีเดียวที่มีชานชาลาเดี่ยว ทำให้มีรางรถไฟฟ้าเพียงรางเดียวเท่านั้น (ที่อื่นมีสองรางไป-กลับ) เป็นจุดที่รถไฟฟ้าจะวิ่งสวนกันไม่ได้ ถ้ามีรถไฟฟ้าวิ่งมาที่สถานีพร้อมกันสองขบวน ต้องจอดรอให้ขบวนที่อยู่ก่อนหน้าวิ่งออกไปจากชานชาลาเสียก่อน จึงทำให้เกิดคอขวดที่สถานีนี้นั่นเอง
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่ มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า: BTS สุรศักดิ์ (S5)
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่ มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า: BTS กรุงธนบุรี (S7)
สิ่งอำนวยความสะดวกโดยรอบ
- ท่าเรือสาทร
- ท่าเรือด่วนเจ้าพระยา
ฝั่งเหนือ
- โรงเรียนอัสสัมชัญ, โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา, โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์
- โบสถ์อัสสัมชัญ
- โรงพยาบาลเลิดสิน
- โรงแรมแชงกรี-ลา
- โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
- วัดสวนพลู
- ตลาดบางรัก
- โรบินสันบางรัก, บางรักบาซาร์, โรงแรม Center Point
- อาคาร State Tower
- อาคาร Gems Tower
ฝั่งใต้
- วัดสุทธิวราราม, โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
- โรงเรียนนานาชาติ Shrewsbury
- Chatrium Hotel & Residence
- สะพานปลากรุงเทพฯ
- ศาลแพ่งกรุงเทพใต้
- สถานีดับเพลิงและกู้ภัยยานนาวา
- วัดยานนาวา
- ไปรษณีย์ วัดพระยาไกร
แผนที่สถานีสะพานตากสิน (คลิกที่ภาพเพื่อขยายใหญ่)
การคมนาคม
ถนนเส้นหลักของทำเลแถว BTS ตากสินจะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก ถนนเจริญกรุง ซึ่งก็เป็นเหมือนหลอดเลือดใหญ่ของคนแถวนี้เลย ถนนเจริญกรุงเป็นถนนในเมืองชั้นในที่ยาวมากเส้นหนึ่ง ตัดตั้งแต่พระบรมมหาราชวัง ยาวคู่ขนานไปกับโค้งของแม่น้ำเจ้าพระยาไปจนสุดที่ถนนพระราม 3 แถวๆสะพานพระราม 3 ถนนเจริญกรุงจะเป็นถนนฝั่งพระนคร ในขณะที่ฝั่งธนก็มีถนนลักษณะคล้ายๆกัน คือถนนเจริญนคร (ซึ่งเดี๋ยวผมจะพูดถึงถนนเส้นนี้ใน มองหาทำเลน่าอยู่ BTS กรุงธนบุรีครับ)
ถนนเจริญกรุงแถวๆ BTS ตากสินนี่ ไล่ตั้งแต่ทางเหนือมาเลย ก็จะตัดกับถนนเส้นสำคัญๆหลายเส้น เช่น ถนนสุรวงศ์ ถนนสีลม ลงมาจนถึงถนนสาทรบริเวณที่ตั้งของสถานี และยาวต่อไปจนถึงถนนจันทน์ทางฝั่งใต้ของสถานี (โปรดดูแผนที่ประกอบไปด้วย) ถนนทั้ง 4 เส้นดังกล่าวสามารถวิ่งไปถึงถนนนราธิวาสราชนครินทร์ และถนนพระราม 4 ได้ทั้งหมด
หมายเหตุ: ถนนสุรวงศ์เข้าจากเจริญกรุงไม่ได้เนื่องจากเป็นถนนวันเวย์ต้องไปเข้าทางสีลม; ถนนจันทน์สุดที่ถนนนราธิวาสฯ แต่ถ้าวิ่งต่อไปก็จะไปเจอถนนเย็นอากาศ, ถนนเชื้อเพลิงที่ไปถึงพระราม 4 ได้เช่นเดียวกัน
การจะข้ามสะพานไปฝั่งธน จากถนนเจริญกรุงบินข้ามไปตรงๆไม่ได้นะครับ ถ้าจะเอาที่ใกล้ที่สุดก็จะมีอยู่ด้วยกันสองทางตามรูปเลยครับ (1) วิ่งไปสีลม แล้วเลี้ยวขวาที่แยกสุรศักดิ์มาเข้าถนนสุรศักดิ์ เพื่อรอเลี้ยวขวาอีกทีที่แยกสาทร-สุรศักดิ์ (2) วิ่งเข้าซอยดอนกุศล (เจริญกรุง 57) เพื่อไปเลี้ยวซ้ายออกถนนเจริญราษฎร์ จากนั้นวิ่งตรงมาที่แยกสาทร-สุรศักดิ์เพื่อรอเลี้ยวซ้ายขึ้นสะพาน
สำหรับทางด่วนที่ใกล้ที่สุด ก็จะอยู่บนถนนสรุวงศ์ ใช้ไปพระราม 9, ดินแดง, แจ้งวัฒนะได้หมด เวลาจะไปก็วิ่งเข้าถนนสีลมแล้วเลี้ยวซ้ายตามรูปนะจ๊ะ ไปเข้าทางสุรวงศ์ไม่ได้ เพราะมันเป็นวันเวย์ ส่วนทางด่วนบางนา-ดาวคะนอง ทางขึ้นจะอยู่บนถนนเจริญราษฎร์ครับ
การเดินทางโดยไม่ใช่รถยนต์ส่วนตัว รถสองแถวสีแดงที่เห็นดังรูปนี้ได้รับความนิยมมากครับ ค่าบริการอยู่ที่ 7 บาทตลอดสาย ต้นสายอยู่ที่เจริญกรุงตรงข้างๆสถานี BTS เลยครับ วิ่งไปจนถึงถนนจันทน์, สาธุประดิษฐ์, เซนต์หลุยส์ ฯลฯ ถือว่าสะดวกเลยทีเดียว แล้วมีเยอะ วิ่งอยู่ตลอด รถ Taxi แถวนี้
และพาหนะที่พิเศษสุดๆสำหรับ BTS ตากสินนี้ คือ เรือ! ครับ ซึ่งเป็นพาหนะที่คนพื้นที่ให้ความสำคัญ และมีความสะดวกสบายอย่างที่หลายๆคนคาดไม่ถึงเลยทีเดียวครับ ทั้งยังมีค่าบริการที่ไม่แพง ปลอดภัย และมีมาตรฐานพอสมควรเลยทีเดียว
“ท่าเรือสาทร” คือชื่อของท่าเรือที่นี่ครับ และยังเป็น Central Peer คือท่าเรือศูนย์กลาง เทียบง่ายๆก็เหมือนสถานีสยามนั่นแหละครับ
แผนที่ท่าเรือครับ จุดสีแดงๆที่เห็นทางด้านล่างสุดนั่นคือ ท่าเรือสาทรครับ และเหนือสุดนั่นคือ ท่าน้ำนนทบุรี หรือ “ท่าน้ำนนท์” ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปาก เรือระยะทางไกลนี้จะเรียกว่า “เรือด่วนเจ้าพระยา” ครับ และจะมีทั้งหมด 4 สาย คือ สายธงเขียว ธงเหลือง ธงส้ม และ ธงฟ้าเป็นเรือนักท่องเที่ยวครับ ซึ่งแต่ละสายก็จะเทียบท่าไม่เหมือนกัน
นอกจากเรือด่วนเจ้าพระยาก็ยังมีเรือข้ามฟากแบบนี้ด้วยครับ ก็ใช้ข้ามฟากอย่างเดียว ค่าบริการก็จะถูกกว่า
สุดท้ายก็จะเป็นเรือฟรีที่จอดเฉพาะท่าของตัวเองครับ เรือพวกนี้จะเป็นพวกเรือโรงแรม เรือโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี เรือห้างเอเชียทีค เป็นต้น
ท่าเรือโรงแรม และสถานที่ต่างๆใกล้เคียง
- โรงแรมแมนดารินโอเรียนเต็ล กรุงเทพ
- โรงแรมแม่น้ำริเวอร์ไซด์
- โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ
- โรงแรมเพนนินซูล่า
- โรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน
- โรงแรมอนันตรากรุงเทพ ริเวอร์ไซด์ รีสอร์ทแอนด์สปา
- โรงแรมชาเตรีียม ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพ
- โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ (Shrewsbury)
- เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ไซด์
- ศูนย์การค้าริเวอร์ซิตี้
ต่อไปเดี๋ยวผมพาเดินดูรอบๆสถานีครับ สถานีนี้ผมคงจะยึดถนนเจริญกรุงเป็นหลักนะครับ เพราะเป็นจุดที่คึกคักที่สุดและ อยู่ในระยะที่เดินได้จาก BTS ตากสิน เริ่มจากฝั่งเหนือกันก่อน ตามเส้นประสีน้ำเงินไปเลยครับ
เดินลงบันไดสถานีทางฝั่งเหนือ สถานีนี้หน้าตาแปลกไม่เหมือนสถานีอื่นจริงๆครับ ใครไม่เคยมาจะไม่คุ้นเลย พื้นที่บนสถานีก็เล็กด้วย
ใต้สะพานสาทร พอเดินลงมาก็จะเจอร้านรถเข็นขายของกินเต็มเลย ผมจำได้ว่าเมื่อก่อนจะไม่ได้มีเยอะขนาดนี้นะเนี่ย มีแค่ร้านสองร้าน นานๆเข้าก็เพิ่มมาเต็มเลย ท่าทางพื้นที่เปิดร้านแถวนี้จะหายากจริงแฮะ
ฝั่งตรงข้ามจะมีวินสองแถวมาจอดรอรับผู้โดยสารครับ ขึ้นคันแรกได้เลย นี่คือต้นสายครับ
เลี้ยวซ้ายมาทางถนนเจริญกรุงต่อเลยครับ สภาพชุมชนตรงนี้ก็จะเป็นอย่างที่เห็นนี่แหละครับ ร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่อยู่ตรงนี้มาเป็นสิบๆปี หลายๆร้านก็ยังอยู่ตรงนั้น ร้านเก่าไป ร้านใหม่ก็มา ร่มขายของคันใหญ่กางเต็มถนนเลย
พูดถึงถนนเจริญกรุง เป็นถนนเส้นแรกของประเทศไทยที่สร้างแบบตะวันตกครับ มีอายุเกือบ 150 ปีแล้ว สร้างเสร็จในปี 2407 สมัยร.4 โน่นเลย ซึ่งถ้าได้ชื่อว่าเป็นถนนสายแรกของประเทศแล้ว เราก็คงพอที่จะจินตนาการได้นะครับว่าความเก่าแก่ของชุมชน และการพัฒนาที่ดินแถวๆนี้จะเป็นแบบไหน
ถนนเจริญกรุงในปัจจุบันเป็นถนน 4 เลน ไป-กลับ ฝั่งละ 2 เลน โดยที่ไม่มีไหล่ทางครับ ทั้งสองฝั่งรถไม่สามารถจอดได้ตลอดเวลา (แต่ก็จะชอบหยุดรถกันประจำ) ปริมาณรถเยอะเกือบตลอดเวลา รถติดบ่อย แต่ไม่ถึงกับนิ่งสนิทเหมือนสาทร จุดที่รถเยอะที่สุดก็เห็นจะเป็นตรงหน้าห้างโรบินสันเนี่ยแหละครับ คนเดินถนนก็เยอะ เยอะจนกทม.ต้องนำแผวรั้วมากั้นเป็นทางยาว ไม่ให้คนเดินข้ามถนนมั่วซั่ว และในขณะเดียวกันก็ไม่ให้รถยนต์หยุดรถรับส่งผู้โดยสาร (โดยเฉพาะแท็กซี่และสองแถว) หรือสิ่งของระหว่างทาง เนื่องจากคนไทยมักง่ายกันเยอะ
ห้างใหญ่ที่ตั้งตระหง่านอยู่ตรงนี้ก็คือโรบินสันบางรักครับ ข้างในมีค่อนข้างครบตั้งแต่ Tops Market Place, ร้านอาหาร, ร้าน B2S ไปจนถึงเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ตามมาตรฐานโรบินสัน สาขานี้อยู่มานานพอสมควรแล้วครับ อยากให้ปิดปรับปรุงจริงๆเล้ย คนแถวนี้จะได้มีห้างให้เดินกันสบายๆ อีกหนึ่งห้าง และน่าจะยกระดับทำเลตรงนี้ได้อีกด้วย 😀
“บางรักบาซาร์” เป็นตลาดกลางคืนที่อยู่ข้างโรบินสันตรงซอยเจริญกรุง 50 ส่วนใหญ่ลูกค้านักท่องเที่ยวจะเยอะ แต่ก็มีคนพื้นที่มาเดินจับจ่ายใช้สอยกันเยอะอยู่ พื้นที่ยาวไปจนถึงท้ายซอยติดโรงแรมแชงกรี-ลาเลยครับ
ฝั่งตรงข้ามของห้างโรบินสัน คือถนนเจริญเวียง เป็นถนนทางลัดที่ใช้ไปออกสาทรได้ ในซอยจะไปเชื่อมกับถนนศรีเวียงที่อยู่ข้างๆกัน และลัดเลาะไปจนถึงถนนสุรศักดิ์ใช้ออกไปขึ้นสะพานสาทรข้ามไปฝั่งธนได้ครับ
ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับห้างโรบินสันบางรัก ก็คือโรงแรม Centre Point สีลม
เดินมาถึงซอยเจริญกรุง 46 ตรงนี้จะเข้าสู่โซนตลาดสด และห้องแถวแล้วครับ ฝั่งนี้จะเป็นพวกขายผลไม้สด ผักสด
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทำเลแถวบางรักนี้มีความคึกคัก และเหมาะแก่การค้าขายมาก เป็นเพราะเดิมตรงนี้เป็นที่อยู่ของคนจีนเสียส่วนใหญ่ ซึ่งบรรพบุรุษของคนแถวนี้ สมัยเหล่าโจ๋วกง เหล่าโจ๋วม่า ก็จะเป็นพ่อค้าแม่ขาย ที่มาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยสมัยก่อนครับ (ตรงนี้ติดแม่น้ำ มีท่าเรือ เรือสำเภาเข้ามาเทียบท่ากันเป็นจำนวนมาก) ไล่ตั้งแต่แถวเยาวราชยาวมาจนถึงแถวๆนี้ครับ นานๆไปแถวๆนี้ก็มีทั้งคนไทย คนจีน คนอินเดีย หรือชาวอาหรับมาค้าขายกันเต็มไปหมด และเกิดเป็นชุมชนอย่างที่เห็นในปัจจุบันครับ
และซอยเล็กๆแคบๆตรงนี้คือทางเข้าทางหนึ่งของตลาดสดบางรักครับ เดี๋ยวเราเข้าไปดูกัน
อาหารสดทั้งหลายทั้งปวงหาได้จากในนี้ครับ และเป็นของคุณภาพดีด้วยนะครับ มีตั้งแต่ถูกยันแพง อีกทั้งตรงนี้ใกล้สะพานปลาด้วย ก็จะมีสินค้าดีๆ แต่ราคาไม่เว่อร์มาวางขายให้เลือกซื้อกัน
เดินทะลุตลาดบางรักออกมาจะเจอกับโรงแรมแชงกรี-ลาครับ โซนด้านหลังในซอยนี้ก็จะเป็นตึกแถวที่อยู่อาศัยจำนวนมาก
ซอยนี้จะทะลุออกมาตรงซอยเจริญกรุง 42/1 หรือซอยวัดสวนพลูครับ ในซอยนี้ร้านค้าส่วนใหญ่จะมีลูกค้าเป็นพวกนักท่องเที่ยวครับ เพราะในซอยก็มีโรงแรม ห้องพัก ห้องเช่าเล็กๆเปิดให้บริการอยู่เช่นเดียวกัน
ทางเข้าฝั่งเจริญกรุง 42/1 หน้าตาเป็นซุ้มประตูแบบนี้ครับ มีป้ายโรงแรมแชงกรี-ลาอย่างที่เห็นตามรูป
หากเดินในซอยต่อเราจะไปออกตรงซอยเจริญกรุง 42 ตรงแยกบางรักได้ครับ
ฝั่งตรงข้ามซอย 42/1 คือถนนศรีเวียงที่กล่าวถึงข้างต้นครับ ทะลุไปสาทรได้ครับเส้นนี้
เดินต่อไปตามถนนใหญ่ ตึกแถวแถบนี้จะเริ่มเงียบเหงาแล้วครับ ส่วนใหญ่ตรงนี้จะเป็นพวกร้านขายผ้า เสื้อผ้า เครื่องประดับ อัญมณี ยาวเลยครับ เจ้าของร้านเป็นชาวอินเดีย, อาหรับเยอะเสียด้วย
ตรงนี้คือสามแยกบางรักครับ จุดที่ถนนเจริญกรุงตัดกับถนนสีลม และเป็นเส้นแบ่งเขตบางรักกับเขตยานนาวาตรงนี้ครับ เราเดินไปดูถนนสีลมตรงนี้กันแป๊บนึง
ถนนสีลม (แยกบางรัก)
ซูมแผนที่เข้าไปดูบนถนนสีลมกันซะหน่อย
ถนนสีลมตรงนี้ก็จะเป็นลักษณะตึกแถวอย่างที่เห็นในรูปครับ อาคารพาณิชย์ตรงนี้มีอายุเยอะหลายสิบปีแล้ว หลายแห่งก็ได้มีการปรับปรุง ตกแต่งทาสีใหม่แบบร้านนี้ครับ
ร้านค้าริมถนน หาบเร่ แผงลอยมีให้เห็นอยู่บ้าง บริเวณใกล้ป้ายรถเมล์ครับ
ในซอยแถวๆนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นตึกแถวที่อยู่อาศัยครับ มีบางหลังที่เปิดเป็นร้านค้า ส่วนใหญ่ดูโทรมๆแล้ว จะมีบางร้านที่ดูเป็นสัดเป็นส่วนหน่อย
บริเวณซอยสีลม 36 ที่อยู่ใต้ทางด่วนจะมีจุดที่เป็นเหมือนศูนย์อาหารมาเปิดอยู่ครับ มีร้านอาหารเยอะใช้ได้เลย แล้วมีลูกค้ามานั่งเยอะด้วย ท่าทางเที่ยงๆน่าจะเต็มนะเนี่ย
ปลายสุดตรงแยกนี้ก็คือทางลงทางด่วนครับ ถ้าจะขึ้นก็ต้องเลี้ยวซ้ายไปถนนสุรวงศ์ตามป้ายเขียวในรูป
ฝั่งตรงข้ามคือโรงพยาบาลเลิดสิน
และที่อยู่ติดกันนั่นคือ State Tower ครับ เป็นอาคารอสังหาริมทรัพย์แบบผสม เป็นทั้งอาคารสำนักงาน, คอนโด, เซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ และยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมเลอบัวระดับห้าดาว, ร้านอาหารสุดหรู Sirocco, Mezzaluna ที่เป็นหน้าเป็นตาให้กับทำเลตรงนี้เลยครับ
ดูจากชื่อร้านก็พอจะรู้ว่าหรูขนาดไหน
ถนนเจริญกรุง (ฝั่งเหนือ-โอเรียนเต็ล)
กลับมาที่ถนนเจริญกรุงอีกครั้ง ฝั่งเหนือของเรายังไม่หมดนะครับ ตามเส้นประสีน้ำเงินต่อไป
มาถึงซอยเจริญกรุง 42 ที่อยู่ตรงแยกบางรักเลย ตรงนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ส่วนที่ต่อขยายมาทางด้านหลังโรงเรียนอัสสัมชัญครับ
มุ่งหน้าขึ้นเหนือต่อไป ตรงนี้ก็ยังมีลักษณะเป็นตึกแถวขายอัญมณี เครื่องประดับ และของตกแต่งอยู่เช่นเดียวกันครับ ทางเท้าตรงนี้มีการปรับปรุงให้กว้างขึ้น เดินสบายขึ้นกว่าส่วนที่เราเดินผ่านมาครับ
และแล้วเราก็เดินมาถึงโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรักตัวทำรถติดประจำถนนเส้นนี้ครับ ทุกเช้าและเย็นก็เช่นเคย จะมีรถผู้ปกครองมาแอบหยุดรับ-ส่งเด็กนักเรียน ซึ่งก็ต้องคอยมีพี่ตำรวจมาโบกไล่อยู่เรื่อยๆ โดยจะโบกให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปจอดรับ-ส่งในซอยเจริญกรุง 40 แทน แล้วไปวนออกทางด้านข้างโรงแรมโอเรียนเต็ลทางเจริญกรุง 38 ครับ
และนี่ก็คือซอยเจริญกรุง 40 หรือซอยโรงแรมโอเรียนเต็ลที่ว่า
พื้นที่โรงเรียนติดซอยนี้ฝั่งซ้ายเกือบทั้งแถบเลยครับ ถ้ารวมกับโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ด้วยก็ยาวไปจนเกือบถึงแม่น้ำเลย โรงเรียนนี้มันรวยครับให้ทำไง 😛
ถนนเส้นนี้เป็นวันเวย์นะครับ พอเข้ามาก็จะเจอแยกให้เลือกว่าจะตรงไป หรือเลี้ยวขวาเพื่อวนออก
วิ่งตรงต่อเข้ามาเราก็จะเจอกับหนึ่งในโรงแรมที่ดีที่สุดและแพงที่สุดของประเทศไทยครับ โรงแรม Mandarin Oriental Bangkok ทางด้านขวามือ
อันนี้ถ่ายรูปมาให้ดูกันครับ ตรงข้ามโรงแรมมีธนาคารกรุงเทพที่หน้าตาแบบนี้อยู่ด้วย คงเป็นสาขาที่เก่าแก่มากแน่เลย มีเสาโรมันอยู่ด้านหน้าด้วยนะดูสิ เท่ชะมัดยาด
สุดซอยนี้เป็น ท่าเรือโอเรียนเต็ล ครับ โรงแรมแถวนี้ถ้าที่ไหนไม่มีท่าเรือเป็นของตัวเองนี่ไม่ได้นะครับ น้อยหน้าคนอื่นเค้ามากๆ ท่าเรือพวกนี้ไปส่งถึงรถไฟฟ้าเลยครับ ถ้าขี้เกียจเดินนั่งอันนี้แหละ สะดวกจริงอะไรจริง 😀
เราเข้าไปบุกรุกพื้นที่โรงเรียนกันบ้าง นี่คือโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ครับ
และโรงเรียนอัสสัมชัญศึกษาที่ตั้งอยู่ติดกัน บริเวณนี้มีโรงเรียน 3 โรงเรียนตั้งอยู่ติดกันเลย คือโรงเรียนอัสสัมชัญ โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนอัสสัมชญศึกษา
และสิ่งปลูกสร้างที่เราเห็นอยู่นี้คืออาสนวิหารอัสสัมชัญหรือโบสถ์อัสสัมชัญครับ ตั้งอยู่ตรงนี้เอง ซึ่งที่นี่ก็เป็นศูนย์กลางของเขตมิสซังกรุงเทพด้วยครับ โบสถ์จะเปิดเฉพาะวันอาทิตย์ กับช่วงเทศกาลเช่นวันคริสต์มาสครับ
ขอย้อนกลับไปที่สามแยกหน้าโรงแรมโอเรียนเต็ลอีกครั้งนะครับ เดี๋ยวเราเลี้ยวขวาไปบ้าง
O.P. Place และ O.P. Garden เป็น Shopping Mall รุ่นเก่าที่อยู่ข้างๆโรงแรมโอเรียนเต็ล สินค้าในนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกของตกแต่งราคาแพงครับ เฟอร์นิเจอร์หรู รวมไปถึงเครื่องประดับ อัญมณี เป้าหมายลูกค้านักท่องเที่ยวอีกนั่นแหละ
สุดทางตรงนี้เราจะมาโผล่ที่ซอยเจริญกรุง 36 ตรงหัวมุมในรูปนี้นี้คือสถานฑูตฝรั่งเศสครับ
ตรงข้ามสถานฑูตคือมัสยิดฮารูณ
ออกมาทางซอยเจริญกรุง 36 ครับ ซอยนี้กับซอย 38 เป็นวันเวย์นะครับ ใช้ออกอย่างเดียวห้ามเข้า (เข้าทางซอย 40 เท่านั้น) แถมห้ามเลี้ยวขวาช่วงเวลาโรงเรียนเข้า-เลิกด้วย เพราะจะทำให้ถนนหน้าโรงเรียนอัสสัมชัญติด (แต่ถนนหน้าโรงเรียนไม่ได้เป็นวันเวย์ช่วงเวลาดังกล่าวนะครับ)
สุดท้ายก็คือแยกสุรวงศ์ครับ จากตรงนี้ถึงสถานี BTS ก็ประมาณ 800 เมตรครับ เกือบๆสุดที่คนจะเดินแล้วหละ เดี๋ยวย้อนกลับไปดูถนนเจริญกรุงฝั่งใต้กันบ้าง
เจาะลึกรอบสถานี (ฝั่งใต้)
เส้นทางต่อไปคือทำเลฝั่งใต้ของสถานี ตามถนนเจริญกรุงครับ
จุดแรกที่เราจะเจอคือวัดยานนาวาครับ
ด้านหลังของวัดยานนาวาส่วนที่เห็นในภาพนี้ยาวไปจนถึงริมแม่น้ำเลยครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นลานที่ใช้จัดงานแล้ว ตรงนี้จะมีตลาดนัดมาเปิดด้วย
ถัดมาเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ
แถวตรงนี้มีโรงเรียนเพียบ
สถานีดับเพลิงและกู้ภัยยานนาวา ตั้งอู่บริเวณซอยเจริญกรุง 59
ถัดมาอีกสองซอย คือซอย 63 คือที่ตั้งของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ซึ่งซอยนี้จะไปเชื่อมกับซอย 57 ที่จะไปทะลุออกถนนเจริษราษฎร์ได้
ทำเลฝั่งใต้ของสถานีตากสินนี้ เงียบสงบกว่าฝั่งเหนืออย่างเห็นได้ชัดเลยครับ ร้านค้ามีจำนวนน้อยกว่า หาบเร่ แผงลอยก็มีให้เห็นน้อยกว่า ส่วนใหญ่จะเป็นที่อยู่อาศัยมากกว่าครับ ปริมาณรถที่วิ่งมาก็น้อยกว่า (แต่รถก็มีติดบ้างเหมือนกันนะครับ)
ถนนเจริญกรุงนี้เป็นที่ตั้งของสะพานปลากรุงเทพด้วยครับ ด้วยความที่อยู่ติดกับท่าน้ำ และแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำให้เป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารทะเล สินค้าสัตว์น้ำ และประมงที่สำคัญของกรุงเทพเลย สะพานปลาจะวุ่นวายตั้งแต่เช้ามืดเลย เพราะจะมีลูกค้ามารับสินค้ากันเต็มไปหมดเลย
จุดสำคัญต่อมาคือจุดที่เป็นวัดสุทธิวราราม และโรงเรียนวัดสุทธิวราราม
ต่อมาเราก็เดินมาจนถึงสามแยกตรอกจันทน์ และถนนทางซ้ายของรูปนั่นก็คือถนนจันทน์ครับ
ช่วงนี้ก็มีข่าวเรื่องการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มอีก 11 แห่งในกทม.ครับ หนึ่งในนั้นที่อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาคือ สะพานตรอกจันทน์-เจริญนคร ดูจากรูปแล้วท่าทางชาวบ้านแถวนี้จะไม่ได้พอใจเท่าไรนะเนี่ย
และที่อยู่ตรงแยกพอดีคือโรงแรมและเซอร์วิสคอนโด Chatrium
ที่อยู่ติดกันคือโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ที่มีท่าเรือเป็นของตัวเอง นั่งไปรถไฟฟ้าบีทีเอสได้
เดี๋ยวเราจะเดินไปขึ้นเรือที่ท่าน้ำของโรงแรม Chatrium กัน
ที่ชั้นล่างมีเซเว่นอีเลฟเว่นขนาดใหญ่ และร้านค้าอื่นๆ เช่น Starbucks Coffee เป็นต้น
เดินไปข้างหลังโรงแรมเจอท่าเรือ Chatrium ครับ
เรือมาทุกๆประมาณ 15 นาทีครับ โดยปกติโรงแรมมีเรือไว้ให้บริการเฉพาะลูกค้าโรงแรมครับ แต่อันนี้ผมไปขอเค้าขึ้น แหะๆ
เรือกลับไปจอดที่ท่าเรือสาทร จุดเริ่มต้นของเจาะลึกทำเลครั้งนี้ เป็นอันจบการรีวิวครับ 😀
เจาะลึกรวบยอด
การคมนาคม ถนนเจริญกรุงเป็นถนนเส้นหลักของทำเลตรงนี้ การเข้าสู่ใจกลางกทม.ทำได้ไม่ยาก แต่ถ้าจะข้ามไปฝั่งธนถึงแม้จะอยู่ใกล้สะพานตากสินแต่ไม่สามารถขึ้นได้ ต้องอ้อมไปขึ้นสะพานทางถนนสาทรอยู่ดี ถนนเจริญกรุงเป็นถนนเส้นเก่าแล้ว สภาพถนนไม่ได้ดีอย่างถนนสาทร, ถนนพระราม 4 แล้วก็มีจุดที่เป็นวันเวย์เยอะ ซึ่งถ้าไม่ใช่คนพื้นที่ที่ชินกับถนนหนทางอาจจะไม่ถูกใจได้
การเดินทางด้วยเรือมีความสะดวกสบาย และค่อนข้างควบคุมเวลาได้ คนที่ไม่เคยนั่งควรจะลองดูจริงๆ และสุดท้าย ทางด่วนที่อยู่บนถนนสุรวงศ์ถือว่าสะดวก ถ้าจะไปทาง งามวงศ์วาน แจ้งวัฒนะ แต่ถ้าไปดินแดง พระราม 9 ก็อาจจะต้องอ้อมไกลพอสมควร ซึ่งก็ต้องระวังเรื่องรถติดเหมือนกัน ช่วงทางแยกบนทางด่วน
สภาพแวดล้อมและชุมชน สภาพแวดล้อมเป็นแบบผสมผสานที่มีความเป็นเอกลักษณ์สูง คล้ายๆกับแถวเซนต์หลุยส์, ถนนจันทน์ และสีลม คือเป็นเขตเมืองเก่า ถนนเจริญกรุงมีความเป็นพาณิชย์สูง แต่ในขณะเดียวกันโซนที่ไม่ได้ติดถนนใหญ่ก็ยังเอื้อต่อการเป็นที่อยู่อาศัย สิ่งอุปโภคบริโภคมีครบอุดมสมบูรณ์ มีตลาดสด มีโรบินสันบางรักเป็นห้างสรรพสินค้าใหญ่ มีธนาคารต่างๆมาเปิดสาขา
ทำเล BTS ตากสินนี้ มีสิ่งสาธารณูปโภคที่ค่อนข้างครบ อยู่ใกล้โรงเรียนหลายแห่ง มีโรงพยาบาล ใกล้อาคารสำนักงาน ทั้งที่ตั้งอยู่บนถนนเจริญกรุงเอง และบนถนนสีลม, ถนนสาทร และศาสนสถานทั้งวัด โบสถ์ และมัสยิด ที่มีอยู่หลายจุดกระจายอยู่เต็มพื้นที่
ทำเลตรงนี้ยังมีความเอื้อเฟื้อต่อการท่องเที่ยวของชาวต่างชาติสูง ซึ่งในแง่ของการอยู่อาศัยแล้ว อาจจะสร้างความวุ่นวาย และทำลายความเป็นส่วนตัวได้ เพราะมีโรงแรมที่พักจำนวนมากตั้งแต่ 1-5 ดาว ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มีแหล่งช้อปปิ้งสิ่งของมีค่า ของฝาก วัดและสถานที่สำคัญ และยังมีท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของกรุงเทพเขตเมืองเก่า
การพัฒนาในอนาคต คงจะไม่ได้ผิดนักหากจะบอกว่าทำเล BTS ตากสินนี้ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่การพัฒนาค่อนข้างอิ่มตัว การพัฒนาที่ดินตรงนี้ ยิ่งบริเวณที่ใกล้สถานี BTS นั้นทำได้ยาก ไม่ค่อยมีโครงการใหม่ๆมาขึ้นอยู่แถวนี้ เนื่องจากติดสะพาน ติดแม่น้ำ ติดทางด่วน ติดโรงเรียน ติดโรงแรม หนำซ้ำยังเป็นเขตเมืองเก่าที่อาคารส่วนใหญ่ถูกทำเป็นตึกแถวที่มีหลายเจ้าของ แล้วส่วนใหญ่คนพื้นที่พวกนี้จะค่อนข้างจะอยู่ติดที่ และไม่ค่อยย้ายออกไปไหน เนื่องจากชินกับสภาพแวดล้อมแบบนี้ ซึ่งก็เป็นลักษณะที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วจริงๆ
การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นได้ในขั้นต้นก็คงจะเป็นการปรับปรุงหน้าตาใหม่ของตึกแถวบริเวณนี้ แต่ก็คงจะทำอะไรไม่ได้มาก ถ้าไม่ได้ทุบทิ้งแล้วทำใหม่ สภาพที่ดินด้วยความที่เป็นเมืองเก่า ถ้าจะสร้างคอนโด หรือที่อยู่อาศัยสมัยใหม่ก็คงต้องมีการปรับสภาพที่ดินกันยกใหญ่ วางรากฐานกันใหม่หมดในหลายจุด
สรุป สถานี BTS สะพานตากสินนั้นเป็นสถานีที่เกิดขึ้นมาเพื่อ คนพื้นที่ที่เดิมอาศัยอยู่บริเวณนี้อยู่แล้ว เช่นเดียวกับคนที่มีสถานศึกษาหรือที่ทำงานอยู่แถวนี้ ทั้งนี้ยังรวมไปถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาเที่ยวโซนเมืองเก่าของกทม.ด้วย
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่ มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า: BTS สุรศักดิ์ (S5)
เพิ่มเติมข้อมูลสถานีใกล้เคียงได้ที่ มองหาทำเลน่าอยู่ใกล้รถไฟฟ้า: BTS กรุงธนบุรี (S7)
*อ่านสักนิด* ในการเลือกทำเลใกล้รถไฟฟ้าแต่ละสถานีนั้น แต่ละคนมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ให้น้ำหนักในแต่ละเรื่องที่ไม่เท่ากัน บางคนเลือกที่จะอยู่ใกล้สถานีที่อยู่ในตัวเมือง เพราะสภาพชุมชนรอบๆที่คึกคัก สามารถไปไหนมาไหนด้วยรถยนต์ได้ด้วย ขอนั่งไปสองสามสถานีแล้วถึงที่ทำงานเลย คนพวกนี้ก็ต้องจ่ายแพง ในขณะที่บางคนบอกว่า ออกไปอยู่ไกลๆหน่อยก็ได้ สุดสายเลยก็ไม่ว่ากัน แค่ขอให้ติดรถไฟฟ้าก็พอ ยอมตื่นเช้าขึ้นซัก 15-30 นาที แต่จ่ายถูกกว่า และเงียบสงบกว่า ส่วนบางคนก็แปลก เลือกที่อยู่อาศัยใกล้สถานี ขอให้ใกล้ไว้ก่อน แม้ว่าตัวเองอาจจะไม่ได้เดินทางด้วยรถไฟฟ้าก็ตาม แล้วสถานีไหนล่ะจึงจะเป็นสถานีที่ดีที่สุด? อันนี้ก็ต้องอยู่ที่การตัดสินใจของแต่ละบุคคลครับ ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าสถานีใดเป็นสถานีที่ดีที่สุดดีเท่ากับตัวคุณเองหรอกครับ
สุดท้ายนี้ รบกวนขอให้เพื่อนๆโดยเฉพาะเพื่อนๆที่อยู่ในพื้นที่ ช่วยกัน Comment แบ่งปัน เพิ่มเติมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารอร่อย ทางลัดเล็กๆน้อยๆ หรือสภาพแวดล้อมทั้งดีและไม่ดี ให้กับผู้อ่านที่กำลังหาบ้านโซนนี้ด้วยนะครับ