สวั๋สดี ยินดีต้อนรับเจ้า อากาศเริ่มจะเย็นลงเรื่อยๆแล้วโดยเฉพาะภาคเหนือ เชื่อว่าเป็นจุดหมายในการพักผ่อนของใครหลายๆคนใช่ไหมค่ะ คราวนี้เฮาขอพาเพื่อนๆมาเยี่ยมชมทำเลจังหวัดเจียงใหม่กันบ้างเน้อ แน่นอนว่านอกจากสถานที่ตากอากาศจะเป็นที่นิยมกันอย่างมากกับชายไทยและชาวต่างชาติแล้ว โครงการอสังหาฯต่างๆก็ตบเท้ากันมาตั้งกันอย่างหนาแน่น สมกับเป็นเมืองหลวงของภาคเหนือเลยทีเดียว ส่วนเพื่อนๆคนไหนมีคำแนะนำกับทำเลในจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติมละก็ ยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยค่ะ เอาเป็นว่าตามฝนไป๋กันเต๊อะ
เริ่มแรก มามะ ทบทวนความรู้วิชาภูมิศาสตร์กันเบาๆ จังหวัดเชียงใหม่มีอาณาเขตติดกับอะไรบ้างนะ
- ทิศเหนือติดกับพม่า
- ทิศใต้ติดกับจังหวัดตาก
- ทิศตะวันออกติดกับเชียงราย ลำปาง ลำพูน
- ทิศตะวันตกติดกับแม่ฮ่องสอน
ใครเคยได้ยินคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่กันบ้าง…..“ดอยสุเทพเป็นศรี ประเพณีเป็นสง่า บุพผาชาติล้วนงามตา งามล้ำค่านครพิงค์”…..ว่าไปไม่เห็นมีคำว่าเชียงใหม่เลยใช่ไหมค่ะ….”เชียงใหม่” หรือชื่อเดิม “นพบุรีศรีนครพิงค์” ก่อตั้งเป็นราชธานีแห่งอาณาจักรล้านนาอายุอานามก็กว่า 700 ปีก่อน โดยพญาเม็งรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์เม็งราย ….ในสมัยพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(รัชกาลที่๑) เชียงใหม่มีฐานะเป็นเมืองประเทศราช และเมื่อมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๕) เมืองเชียงใหม่จึงเปลี่ยนฐานะเป็นมณฑลพายัพ และกลายเป็นจังหวัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่๗) สำหรับตรงนี้ใครอ่านแล้วจำได้ เอาคะแนน สปช.ไป 10 คะแนนเลยค่ะ
พญาเม็งรายท่านเห็นชัยมงคลของเชียงใหม่ที่เป็นลักษณะทางกายภาพ อยู่ 4 ข้อค่ะ ข้อแรก คือมีน้ําไหลจากดอยสุเทพมาอ้อมเมือง ข้อที่สอง คือมีพื้นที่ลาดเอียงจากตะวันตกไปตะวันออก ข้อที่สาม คือมีหนองใหญ่อยู่หนอีสาน และสี่คือมีแม่น้ำปิงทางทิศตะวันออก นับเป็นผังเมืองแรกเลยของเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 1839 หรือ 718 ปีที่แล้ว และมีการปรับกันมาเรื่อยๆ เชียงใหม่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาโตเร็วมากค่ะ เรียกว่าบูมจนอิ่มกันไปแล้ว ถ้าใครที่เป็นคนพื้นที่หรือตามข่าวกันอยู่จะทราบช่วงที่ผังเมืองไม่มีผลการบังคับใช้ ทำให้เกิดสูญญากาศมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จำนวนมาก แน่นอนละว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายผังเมืองแล้วไม่สามารถเอาผิดย้อนหลังได้ ทำให้มีโครงการต่างๆเร่งก่อสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้มากมาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างละเอียดอ่อนเลยนะคะ นอกจากการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสมแล้ว ยังมีเรื่องสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรมของเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องอีก อันนี้ก็ขอให้ติดตามกันต่อไปละกัน จากภาพด้านบนจะเห็นภาพแค่เฉพาะตัวเมืองและพื้นที่โดยรอบใช่ไหมค่ะ ตัวห้างสรรสินค้าต่างๆตอนนี้เริ่มกระจายออกไปทางวงแหวนต่างๆกันบ้างแล้ว ถึงแม้เชียงใหม่จะเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากก็จริงแต่พื้นที่ที่สามารถอาศัยตั้งรกรากได้จะมีเพียงบริเวณที่ไม่สูงชันมากนักก็คือตามแผนที่ที่เห็นนี่แหละ…….นั่นเองเป็นอีกปัจจัยที่ในเมืองหนาแน่กว่านอกเมือง
ด้วยประวัติศาตร์อันแสนยาวนาน นอกจากทำให้เชียงใหม่เป็นเมืองที่เป็นเหมือนจุดศูนย์รวมความเจริญและสะดวกสบายของทางภาคเหนือทั้งอดีตและปัจจุบันค่ะ ทั้งทางธุรกิจ การศึกษาการคมนาคมแทบทุกประเภท (ยกเว้นเรือนะ) ห้าง ร้าน ต่างตบเท้าเข้ามาทะยอยเปิดกันอย่างกับกรุงเทพภาคเหนือ ในด้านการท่องเที่ยวยังเป็น Destination ของทั้งชาวไทยและเทศในการมาเยี่ยมเยือน มีทั้งวัฒนธรรม ภาษา ประเพณีที่งดงามยังคงสืบต่อกันมาในหลายๆอย่าง แต่ยังคงมีสีสันของสถานที่กิน เที่ยว ชอป รวมอยู่ด้วย นี่แหละเสน่ห์ของที่แห่งนี้ อ้อ ที่สำคัญชาวเชียงใหม่ก็น่ารักด้วยค่ะ 🙂
สี่เหลี่ยมที่เป็นเหมือนไข่แดงของเชียงใหม่ มีคูเมืองล้อมรอบ คิดว่าน่าจะคุ้นตากันดีเนอะ ตัวเมืองเชียงใหม่อยู่ภายในของกำแพงเมืองเชียงใหม่ หรือ กำแพงเวียงเชียงใหม่ ซึ่งสร้างขึ้นพร้อมๆกับตอนสถาปนาอาณาจักร อายุอานามก็ 718 ปีเข้าไปแล้วในสมัยพญาเม็งราย มีการคุดขูเมืองล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ความยาวข้างละ 1.63 กิโลเมตรและนำดินที่ขุดคู ถมเป็นกำแพง ก่ออิฐ สร้างกำแพงเมืองขึ้นมาและมีการเจาะประตูเอาไว้ 4 ด้านค่ะ โดยมีการเพิ่มเติมภายหลังรวมเป็น 5 ประตู การเดินรถในรอบตัวเมืองเชียงใหม่นั้น ถามว่า งงไหม ต้องขอยอมรับเลยว่างงค่ะ ไม่ใช่เพราะทางการเดินรถที่เป็นลักษณะทางเดียว สวนกันรอบในวิ่งทวนเข็มรอบนอกวิ่งตามเข็มนะคะ แต่ด้วยลักษณะของประตูเมืองและแจ่งแต่ละมุม ขับเพลินก็เลยก็หลงกันบ้างนั่นแหละ ส่วนคำว่า “แจ่ง” นั้น เป็นภาษาเหนือค่ะ ที่แปลว่า มุม เป็นส่วนหนึ่งของกำแพงเมืองที่หลงเหลืออยู่ตามมุม โดยแต่ละแจ่งก็มีชื่อที่ต่างกันไปเช่นกันค่ะ
คูเมืองเชียงใหม่แต่ก่อนเอาไว้ใช้ป้องกันข้าศึก และเป็นแหล่งประมงน้ำจืด เคยมีความกว้างถึง 25 เมตรและลึก 4 เมตรค่ะ แต่ปัจจุบันความกว้างลดเหลือ 10 เมตร และมีเจุดกลับรถเป็นระยะระหว่างถนนรอบนอกกับรอบใน
- ประตูช้างเผือก เดิมมีชื่อว่า ประตูหัวเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศเหนือ สมัยก่อนเป็นประตูเอกของเมือง ในพระราชพิธีบรมราชาพิเษก กษัตริย์จะเสด็จเข้าเมืองยังประตูนี้ ประตูนี้เปลี่ยนชื่อในรัชสมัยของพระเจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 1 เนื่องจากได้โปรดให้สร้างอนุสาวรีย์รูปช้างเผือกขึ้น
- ประตูเชียงใหม่ เดิมมีชื่อว่า ประตูท้ายเวียง เป็นประตูชั้นในด้านทิศใต้ จุดสังเกตนี้จะมีศาลเจ้าพ่อประตูเชียงใหม่อยู่ติดกับประตูเลยและเป็นจุดที่ตั้งกับตลาดประตูเชียงใหม่ค่ะ พอตกกลางคืนแล้วของกินริมถนนนี่เยอะมาก ข้ามฝั่งคูเมืองออกไปจะเป็นถนนวัวลายซึ่งเป็นจุดถนนคนเดินวันเสาร์ค่ะ
ตลาดประตูเชียงใหม่ ที่อยู่บริเวณประตูเชียงใหม่
- ประตูท่าแพ เดิมมีชื่อว่า ประตูเชียงเรือก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันออก ที่มาของชื่อเนื่องจากประตูด้านนี้เป็นประตูที่จะไปยังท่าน้ำของแม่น้ำปิง ซึ่งมีแพจำนวนมากอยู่ บริเวณนี้เป็นประตูที่ใหญ่ที่สุดค่ะ มีลานด้านหน้าไว้จัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นจุดที่เริ่มต้นของถนนคนเดินวันอาทิตย์
- ประตูสวนดอก เป็นประตูชั้นในด้านทิศตะวันตก ที่มาของชื่อเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นเป็นที่ตั้งของพระราชอุทยานของพญาเม็งราย
- ประตูแสนปุง หรือ ประตูสวนปรุง เป็นประตูที่เจาะกำแพงชั้นในด้านใต้สร้างขึ้นใหม่ในรัชสมัย พญาสามฝั่งแกน เนื่องจากในรัชสมัยของพระองค์ได้สร้างเจดีย์ราชกุฏคารขึ้น ดังนั้น เพื่อความสะดวกแก่พระราชชนนีที่โปรดประทับอยู่ที่ตำหนักนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จะได้ทรงสะดวกในการเสด็จมาสักการะพระเจดีย์ จึงโปรดให้เจาะกำแพงเมืองด้านนั้น และตั้งชื่อว่า ประตูสวนแร ต่อมาเนื่องจากบริเวณนั้นเป็นที่ใช้ประหารนักโทษ ใช้หอกหลาวทิ่มแทงปุง (พุง) ชาวบ้านจึงเรียกว่าประตูสวนปุง หรือ ประตูแสนปุง นับแต่อดีต เชียงใหม่มีประเพณีที่ว่าหากมีการเสียชีวิตภายในเขตกำแพงเมืองเชียงใหม่ จะต้องนำศพออกจากตัวเมืองผ่านทางประตูนี้เท่านั้น ซึ่งก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่จนถึงปัจจุบัน
ในตัวเมืองเชียงใหม่ปัจจุบันนั้น นอกจากโรงแรมขนาดเล็กและร้านกาแฟแล้ว ที่เห็นกันถี่แบบทุกแยกทุกหัวโค้งเลยคือวัดนั่นเองค่ะ ชาวเมืองเชียงใหม่ก็เป็นชาวพุทธ 90% ได้ ไม่แปลกใจเลยที่มีวัดอยู่เยอะแบบนี้
สถาปัตกรรมล้านนาที่ยังคงมีกลิ่นอายอย่างชัดเจน ทำให้เป็นโรงเรียนประวัติศาสตร์ของหลายๆคนผ่านอาคาร ภายในเมืองนั้นที่จะฮิตสำหรับการเที่ยวชมก็คือเส้นทางจักรยาน เส้นทางอนุรักษ์ต่างๆ นอกจากจะได้ความเพลิดเพลิน ความรู้ แวะตามวัดได้บุญอีกด้วยนะคะ
อยากขยับเข้าไปไกลเธอ ขึ้นอีกจักกะหน่อย ฝั่งทิศตะวันออกของเมืองจะมีแม่น้ำที่เป็นแม่น้ำสายสำคัญของภาคเหนือคือแม่น้ำปิง ในอดีตนั้นชุมชนริมน้ำปิงก็เป็นแหล่งค้าขาย เรียกว่าเป็นเส้นทางหลักเลยที่ใช้เรือหางแมงป่อง ติดต่อ เดินทางมายังภาคกลาง ประเทศไทยเป็นประเทศที่ผูกพันกับน้ำจริงๆ ปัจจุบันมี “ขัว” หรือสะพานสำคัญๆที่เอาไว้ใช้ข้ามฝั่งแม่น้ำปิงอยู่ 6 สะพานค่ะ
- สะพานเฉลิมพระเกียรติ ร.9 เชื่อมระหว่างถนนรัตนโกสินทร์ไปยังถนนเจริษราษฎร์ค่ะ เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็ก มี 4 ช่องทางจราจรและทางเท้าค่ะ
- สะพานนครพิงค์ เป็นสะพานข้ามช่วง ถนนท้ายวังของฝั่งตะวันตก ระหว่างถนนวังค์สิงห์คำ ไปยังถนนแก้วนวรัฐ ผ่านโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย และโรงเรียนดาราวิทยาลัย ไปอำเภอดอยสะเก็ด เป็นสะพานที่มี 2 ช่องการจราจรแบบสวนกันไปกลับ นอกจจากจะมีไหล่ทางสำหรับคนเดินแล้ว มีช่องทางสำหรับรถจักรยานหรือมอเตอร์ไซด์ด้วยค่ะ
- สะพานนวรัฐ เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรก แต่ก่อนทำด้วยไม้สัก ขยับขั้นมาเป็นสะพานเหล็ก ปัจจุบันได้รับการสร้างใหม่ให้เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กแล้ว เรียกว่า 3 Generation เลยทีเดียว ชื่อสะพานตั้งเพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองเชียงใหม่ (พ.ศ.2454-2482) แน่นอนว่าสะพานนี้นักท่องเที่ยวน่าจะรู้จักกันดี ใช้เป็นสถานที่จัดงานมหกรรมไม้ดอกไม้ประดับ
- สะพานจันทร์สม หรือ “ขัวเก่า” , “ขัวแขก” เป็นสะพานข้ามแม่น้ำปิงเรียกว่าเก่าสุดแล้ว แต่เป็นสะพานคนข้ามนะจ้ะ สร้างโดย ดร.แมคกิลวารี มิชชั่นนารีชาวอเมริกันคนแรกที่มาเชียงใหม่เมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว ข้ามจากกาดหลวงมาชุมชนหน้าวัดเกต นับเป็นสะพานที่สำคัญและนักท่องเที่ยวรู้จักดีเลย มีการประกาศจากทางเทศบาลเชียงใหม่ยกเลิกใช้งาน ทุบทิ้งไปแล้ว แต่ทนเสียงเรียกร้องไม่ไหวตอนนี้เห็นว่ากำลังสร้างกลับมาแล้วหล่ะค่ะ (ข่าวอ้างอิง)
- สะพานเหล็ก หรือ “ขัวเหล็ก” หรือสะพานนวรัฐจำลอง เป็น สะพานเหล็กที่จำลองสะพานนวรัฐเมื่อครั้งที่ยังเป็นสะพานเหล็กเมื่อครั้งเก่ากาล สะพานนี้เป็นอีกสะพานที่มีคนรู้จักเยอะ เพราะอะไรหนอ…..แม้เดินรถได้ทางเดียวนะคือจากฝั่งเมืองข้ามไปฝั่งถนนเชียงใหม่-ลำพูนนะ ส่วนทางเข้าก็แสนจะแคบ หากไม่สังเกตก็มีเลยหล่ะ คือ ถ้าพูดในแง่การใช้งานคือไม่คล่องตัวนักค่ะ แต่ๆกลายเป็นสถานที่ยอดฮิตสำหรับการนั่งชมวิว ถ่านรูป ปล่อยโคม ลอยกระทง
- และสะพานเหล็กยังเป็นที่ถ่ายทำหนังเรื่องเพื่อนสนิทอีก กลายเป็นสถานที่โรแมนติกไปเลยนะคุณขา
- สะพานเม็งราย ชื่อ “เม็งราย” เป็นการตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์ถวายแด่ “พญาเม็งราย” เชื่อมระหว่างถนนเชียงใหม่-ลำพูน กับถนนเจริญประเทศ เปิดใช้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2510 พร้อมๆ กันกับพิธีเปิดสะพานนวรัฐ และ โดยจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิด สะพานนี้มี 2 ช่องการจราจรค่ะ และมีทางเท้าสำหรับคนเดิน
จะเห็นว่าถนนที่วิ่งเข้าสู่ตัวเมืองนั้น มักจะตรงกับถนนด้านในเขตเมืองเก่าหรือตรงกับแนวประตูเมือง ซึ่งถนนต่างๆเหล่านี้เป็นถนนมีมาก่อนจะมีการตัดถนนวงแหวนแต่ละวงขึ้นมา ดังนั้นแล้วอาคาร บ้านเรือน หรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำคัญๆ เช่น ตลาด โรงเรียน วัด โรงพยาบาล นั้น จะตั้งอยู่ตามแนวถนนเหล่านี้ค่ะ ชุมชนที่อยู่ตามถนนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นบ้านเรือนหรือห้องแถวเพื่อการค้าขายค่ะ
จากประตูสวนดอกออกมาเป็นโซนที่เรียกว่ามีศักยภาพในการสร้างโครงการอสังหาฯต่างๆมากเลยนะคะ เพราะจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล ทำให้ไม่ว่าจะเป็นหอพัก อพาร์เมนท์ คอนโดมิเนียม หรือบ้านเช่า โรงแรม ที่อยู่ละแวกนี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูงทีเดียวค่ะ
- ถนนสุเทพ เป็นถนนที่มุ่งหน้าออกมาจากประตูสวนดอก มีสถานที่สำคัญๆอย่างโรงพยาบาลมหาราช , โรงพยาบาลประสาท , มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นต้น ดังนั้นแล้วบริเวณนี้อุดมไปด้วยร้านอาหารและ หอพัก อพาร์เมนท์ ไม่น้อยเหมือนกัน เพราะอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั่นเองค่ะระยะทางรวมๆประมาณ 3 กิโลเมตร
- และสิ่งอำนวยความสะดวกหลักๆฝากท้องได้ก็คือกาดต้นพยอมค่ะ หลัง 5 โมงเย็นเป็นต้นไปบริเวณนี้ก็เต็มไปด้วยร้านอาหารริมทางราคา 35 บาทขึ้นไป
- ส่วนโครงการเปิดใหม่ที่ค่อนข้างน่าสนใจก็คือ สวนดอกปาร์คค่ะ เป็นลักษณะอาคารจอดรถ 9 ชั้น โดยมีร้านค้าเช่น Tops , ร้านกาแฟ รวมทั้งธนาคารไว้ให้บริการ แน่นอนว่าทำมาตอบโจทย์ผู้คนที่มาใช้บริการโรงพยาบาลสวนดอกเป็นหลักค่ะ แต่ก็ดีที่ไม่ต้องมาลำบากหาที่จอดรถหรือจอดกันเกะกะข้างทาง
- พอขยับเลยแยกกาดต้นพยอมไปจะเป็นส่วนหลังมช. เป็นอีกโซนที่มีร้านค้าเปิดคึกคักเช่นกันค่ะ ส่วนใหญ่จะเป็นหอพักสำหรับนักศึกษา สำหรับถนนสุเทพราคาที่ดินอ้างอิงจากทางที่สํานักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ รอบปี พ.ศ.2555-2558 อยู่ที่ 40,000 – 175,000 บาทต่อตารางเมตร
- ถนนนิมมานเหมินท์ ถึงแม้จะเป็นถนนที่ยาวเพียง 1.3 กิโลเมตรและมี 17 ซอย 4 ช่องทางจราจร แต่เส้นนี้เห็นจะเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวทั้งไทยเทศ ส่วนหนุ่มสาวเชียงใหม่เองก็นิยมมาแวะเวียนถนนสายสั้นๆนี้ไม่ใช้น้อย นอกจากร้านรวงยามค่ำคืนมีหลายหลายแล้ว โรงแรม ร้านกาแฟและอาหารยังขึ้นกันแน่นขนัด นับว่าเป็นโซนปราบเซียนสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเลยทีเดียว ร้านไหนไม่เจ๋ง อยู่ไม่เกินปีก็เปลี่ยนร้านซะแล้ว ถนนเส้นนี้เป็นถนนที่เช่ือมระหว่างถนนห้วยแก้วและถนนสุเทพเข้าด้วยกันค่ะ โดยราคาที่ดินอ้างอิงจากทางที่สํานักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ รอบปี พ.ศ.2555-2558 อยู่ที่ 82,000-150,000 บาทต่อตารางเมตร
- ด้วยความที่เป็นเหมือนถนนที่แทบจะมีกิจกรรมตลอดเวลา ช่วงแดดออกยันค่ำ แน่นอนว่าร้านต่างๆผลัดหมุนเวียนปิดเปิดกันไม่ขาดสาย Think Park ก็เป็นแม่เหล็กอีกตัวที่ดึงดูดผู้คนไม่น้อย ส่วนโรงแรมอมารีรินคำ เชียงใหม่ ขณะนี้กลายเป็นพื้นที่จอดรถของโครงการธิงค์พาร์คไปก่อน (อยู่ฝั่งตรงข้ามนะ) แน่นอนว่าบ้าน เรือน ในซอยนี้มีโครงการ คอนโดมิเนียม Low Rise มาเปิดใหม่บ้าง แต่แนวโน้มการพัฒนาไม่น่าจะเป็นการสร้างใหม่แต่อย่างใด การรีโนเวท ปรับปรุง น่าจะเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ประกอบการมากกว่า
- ถนนศิริมังคลาจารย์ เป็นถนนที่เหมือนเป็นเส้นคู่ขนานกับถนนนิมมานฯค่ะ มีซอยนิมมานฯฝั่งเลขคี่ที่สามารถมาทะลุกันได้คือ ซอยนิมมานฯ 5,7,9,11,13,17 ถึงแม้ว่าจะไม่คึกคักเท่ากับนิมมานฯ แต่ถนนศิริมังคลาจารย์ ก็เป็นแหล่งของกินที่รสชาดดี ราคาสบายกระเป๋า และยังเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างถนนห้วยแก้วกับถนนสุเทพเข้าไว้ด้วยกัน แน่นอนว่ามีโครงการแบบโรงแรมขนาดเล็กกับคอนโดมิเนียม Low Rise ขึ้นมาเพื่อตอบสนองเหล่านักท่องเที่ยวระยะสั้นและระยะยาว
- ถนนห้วยแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงหมายเลข 1004 ค่ะ ซึ่งถนนนี้จะมุ่งหน้าออกจากประตูเมืองเชียงใหม่ ยาวไปถึงสวนสัตว์เชียงใหม่ จากนั้นมุ่งหน้าขึ้นสู่ดอยสุเทพ ถนนเส้นนี้มีห้างเซนทรัลกาดสวนแก้วตั้งอยู่ค่ะ ระยะทางรวมๆประมาณ 5 กิโลเมตร
- ส่วนห้างใหม่สุดๆก็ Maya ที่มาเปิดอยู่บริเวณตรงแยกรินคำพอดี เป็นแยกสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของถนนซุปเปอร์ไฮย์เวย์ ตรงข้ามกันกับ Think Park ของคุณตัน
- บริเวณสี่แยกภูคำจุดตัดระหว่างถนนห้วยแก้วกับถนนเลียบคลองชลประทาน บริเวณนี้ส่วนใหญ่จะเป็นที่พักอาศัยรูปแบบโรงแรมและอพาร์ตเมนต์ให้เช่า อย่างเช่นโรงแรมไอบิส สไตล์ หรือใครทันก็คือออลซีซั่นส์ เชียงใหม่เดิมนั่นแหละ
- เลยแยกไปบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็เป็นอีกจุดที่หนาแน่นเช่นกันทั้งแง่การอยู่อาศัยและการจราจรค่ะ มีตลาดมารินพลาซ่าเป็นตลาดชอปปิ้ง สำหรับถนนห้วยแก้วราคาที่ดินอ้างอิงจากทางที่สํานักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ รอบปี พ.ศ.2555-2558 อยู่ที่ 30,000-150,000 บาทต่อตารางเมตร
- ถนนช้างเผือกและถนนโชตนา เป็นถนนที่ตรงมาจากประตูช้างเผือก มุ่งตรงมาทางทิศเหนือผ่านแยกข่วงสิงห์ เข้าสู่ถนนโชตนา ซึ่งเป็นทางที่มุ่งหน้าสู่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเหมือนศูนย์ราชการนั่นแหละค่ะ โดยถนนสายนี้ ไม่ได้มีบ้านจัดสรร หรือโครงการคอนโดมิเนียมเปิดใหม่ให้ได้จับจองกัน แต่เป็นถนนสายสำคัญของเชียงใหม่สายหนึ่งเช่นกัน
- เมื่อตรงจากประตูช้างเผือกมาจะเจอตลาดช้างเผือกอยู่ด้านขวามือเลย เป็นตลาดที่เช้าเป็นตลาดสดค่ะ มีของกินให้จับจ่าย ส่วนตอนเย็นจะเป็นตลาดโต้รุ่งของกินอร่อยๆแถวนี้เพียบ ถนนช้างเผือกเองเป็นถนน 4 ช่องจราจรค่ะ ด้วยความที่เป็นย่านค้าขาย แน่นอนว่าจะมีรถราจอดข้างทางกันเพื่อจับจ่ายข้าวของเข้าบ้าน อาคารที่เรียงรายอยู่บริเวณถนนเส้นนี้ก็หนีไม่พ้นตึกแถวและอาคารพาณิชย์ที่ใช้ประกอบการค้าได้
- อนุสาวรีย์ช้างเผือก จะมีรูปปั้นช้างเผือกสองเชือก เล่าประวัติฉบับย่อๆจากกันซักนิด ” สมัยพระญาแสนเมือง ได้ปกครองเมืองเชียงใหม่และยกทัพไปช่วยทางสุโขทัย แต่กลับโดนตีจากทางสุโขทัยเอง ทำให้ทัพแตกพ่าย พระญาแสนเมืองหนีออกมาได้พบกับอ้ายออบและอ้ายยี่ระ แบกพระองค์มาถึงเชียงใหม่ คุณความดีครั้งนั้นพระญาแสนเมืองมาทรงได้ปูนบำเหน็ดทั้งสองเป็น ขุนช้างซ้าย ขุนช้างขวา และทั้งสองได้สร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกไว้ที่ประตูเมืองช้างเผือก ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระเจ้ากาวิละ เจ้าประเทศราชเชียงใหม่ได้สร้างรูปปั้นช้างเผือก 2 เชือกมีขนาดโตเท่ากับช้างตัวจริง ช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศตะวันออกชื่อ ปราบจักรวาล ช้างเชือกที่หันหน้าไปทางทิศเหนือชื่อปราบเมืองมาร หรือปราบเมืองมารยักษ์ และมีการครอบซุ้ม 4 ด้าน ทาสีขาว เอาไว้ ” เดือนพฤษภาคม – มิถุนายนทุกปี ชาวเชียงใหม่จะมีประเพณีบูชาอนุสาวรีย์ช้างเผือก ชาวบ้านที่อยู่ บริเวณนั้นก็จะร่วมกันตั้งเครื่องสังเวย พระยาช้างเผือกทั้ง ๒ เชือก แต่ก่อนนั้นบริเวณนี้เดิมคือขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 1 หรือที่รู้จักกันในชื่อขนส่งช้างเผือก
- นอกจากถนนเส้นนี้เป็นที่ตั้งของ ขนส่งเชียงใหม่แห่งที่ 1 ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนและมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่อีกด้วยค่ะ ภายในถนนซอยก็จะเป็นลักษณะห้องแถวที่ปรับปรุงไว้เป็นห้องเช่า หรือห้องแถวเพื่อประกอบการค้าหากอยู่ติดริมถนน
- แยกข่วงสิงห์เป็นแยกที่ถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ตัดกับถนนช้างเผือก มุ่งหน้าเข้าสู่ถนนโชตนา
- สภาพแวดล้อม บ้านเรือนของถนนโชตนาจะคึกคัก หนาแน่นน้อยต่างกับเส้นช้างเผือกค่ะ เพราะเป็นเส้นที่มุ่งหน้าออกชานเมือง วัดข่วงสิงห์ที่เป็นชื่อของแยกก็ตั้งอยู่บริเวณถนนโชตนา ชื่อวัดตอนแรกยอมรับว่าอ่านเป็น “ช. ช้าง” บ่ใช่ “ข. ไข่” (แอบสารภาพ = =”)
- ฝั่งตะวันออกของตัวเมืองเก่ายาวไปถึงแม่น้ำปิง (หรือฝั่งท่าแพ) จะเป็นฝั่งที่ผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่นค่ะ ด้วยที่ซ้ายเป็นตัวเมือง ขวาเป็นแม่น้ำปิงสายสำคัญ ดังนั้นแล้วจึงไม่แปลกใจเลยที่มีกาด ชุมชน วัด อยู่อาศัยกันแถบนี้เยอะตั้งแต่โบราณ จะเห็นว่าสิ่งที่ดูแล้วจะแสนสุดงงสำหรับถนนหนทางช่วงนี้นั้นคือ เงื่อนไขการเดินรถทางเดียว จะเห็นว่าบางเส้นนั้นจะมีทั้ง One-way กับ Two-way รวมกันเลย คนที่มาพักแบบไม่นานเรื่องทิศทางการเดินรถไม่น่ามีปัญหาอะไร เพิ่งพารถแดงพี่เค้าพาไปได้ทุกที่ แต่สำหรับคนที่มาอยู่บ่อยๆ ต้องขับรถเอง หรือเช่ารถเอานั้น การทราบและทำการบ้านเรื่องเส้นทางถนนเพื่อจะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุ ฝนว่าสำคัญนะคะ ปลอดภัยไว้ก่อนเจ้า
- ถนนวิชยานนท์ เป็นถนนที่มุ่งหน้ามาจากแจ่งศรีภูมิจากนั้นตรงยาวมาจนเลียบแม่น้ำปิงค่ะ ถนนเส้นนี้จะเชื่อมต่อไปยังถนนไปรษณีย์ ถนนเป็นขนาด 2 ช่องการจราจรสวนกันไม่มีเกาะกลางและไม่มีทางเท้า บ้านเรือนส่วนใหญ่บนถนนเส้นนี้ เน้นอยู่อาศัย ตึกแถว บ้านแถวขนาดเล็กที่หน้าตาเดิมๆ มีการค้าขายชั้นล่าง และเป็นโรงแรมเกสต์เฮ้าส์ แยกที่ตัดกับถนนเมืองสมุทรมี TCDC ที่เพิ่งมาเปิดให้นักออกแบบชาวเชียงใหม่ได้ปลื้มปริ่ม หากใครขับมาสังเกตุดีๆบนถนนเส้นนี้มีขายผลไม้ตามฤดูเป็นระยะเพราะมี ตลาดเมืองใหม่ที่อยู่บนถนนเส้นนี้เน้นขายผักผลไม้ ส่วนอีกสถานที่ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์คือ เจดีย์กิ่ว หรือ เจดีย์ขาว ที่อยู่บริเวณสุดทางก่อนจะเลี้ยวมาเลียบแม่น้ำปิง จะพบเจดีย์อยู่ตรงกลางถนน ขับรถตรงนี้ขับเป็นวงเวียนนะคะ จะว่าไปมีใครสงสัยไหมน้อว่าเจดีย์มาอยู่กลางถนนได้เยี่ยงไร
- เกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ เจดีย์นี้สร้างเป็นอนุสรณ์เมื่อตอนที่พม่าได้เดินทัพมาประชิด จึงได้ท้าดำน้ำอึดกันโดยใช้เมืองเชียงใหม่เป็นเครื่องเดิมพันค่ะ เพราะพม่าคิดว่าเชียงใหม่คงไม่มีคนดำน้ำเก่งเลยจัดการประลองนี้ขึ้น มีการประกาศหาคนรับอาสาสจนสุดท้าย “ปู่เปียง” จึงขอรับอาสานี้ด้วยว่าแกอยู่ตัวคนเดียวไม่มีลูกไม่มีหลาน ต้องการตอบแทนคุณแผ่นดิน ถึงวันแข่งขันมีการปักเสาลงน้ำสองต้นและให้ผู้เข้าแข่งขันดำน้ำลงไป ใครขึ้นมาก่อนแพ้ ลุงเปียงเอาผ้าขาวม้าติดตัวลงไปด้วยผูกตัวเองกับเสา เวลาผ่านไปฝั่งพม่าขึ้นจากน้ำก่อนเป็นอันว่าไทยไม่เสียเมือง แต่จน 1 วันยังไม่เห็นลุงเปียงขึ้นมาจากน้ำ ทหารดำลงพบว่าปู่ผูกตัวเองไว้กับเสาได้เสียชีวิตลงแล้ว เจ้าผู้ครองนครเวียงพิงค์ จึงสร้างเจดีย์ไว้เพื่อเป็นอนุสรณ์ เรื่องนี้เป็นตำนานที่เล่าขานต่อกันมานะคะ ไม่พบเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด นอกจากเป็น Landmark ที่สำคัญๆของเชียงใหม่แล้วยังมีเรื่องราวเล่าขานให้น่าจดจำอีกด้วย
- ถนนวิชยานนท์เลียบแม่น้ำปิงไปสามารถใช้สะพานนครพิงค์ข้ามไปฝั่งถนนแก้วนวรัฐหรือหากตรงไปเข้าสู่ถนนไปรษณีย์เพื่อไปแหล่งจับจ่ายอย่างกาดหลวงก็ได้ค่ะ
สำหรับทำเลเชียงใหม่ในตอนแรก จะมีเนื้อหาเพียงเท่านี้ก่อนนะ ส่วนตอนถัดไปแน่นอนว่าฝนจะพาไปรู้จักถนนเส้นต่างๆมากขึ้นและที่สำคัญไม่พลาดเสน่ห์ของเมืองเชียงใหม่อย่างถนนคนเดินด้วยเจ้า
แล้วป๊ะกั๋นใหม่เน้อ ^ ^