Dox House เริ่มต้นมาจากความต้องการหาที่ออกกำลังกายให้กับสุนัข …ทางเจ้าของต้องการพื้นที่ที่ “ถูกจริต” ให้น้องหมาได้วิ่งเล่นอย่างมีความสุข แต่ทว่าพื้นที่อย่างเดียวไม่อาจเติมเต็มความต้องการทางจิตใจของน้องหมาได้ เพราะความเชื่อที่ว่า “หมาจะมีความสุขได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อได้อยู่กับเจ้านายอันเป็นที่รักเท่านั้น” ภารกิจการออกแบบให้คนอยู่ร่วมกับหมาจึงเริ่มต้นขึ้นในสถานที่แห่งนี้ …ด้วยแนวคิดในการออกแบบ การเลือกใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสมและน่าสนใจทำให้ Dox House ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประเภทบ้านพักอาศัย จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี 2022 นี้ด้วยค่ะ
…สำหรับบ้านหลังนี้เกิดจากความรักสุนัขของคุณบุ๊ค – นรวีร์ วัยนิพิฐพงษ์ นายแพทย์ออร์โธปิดิกส์ ที่ได้เริ่มต้นโดยเช่าที่ดินขนาด 1 ไร่ไว้ให้สุนัขใช้เป็นที่ออกกำลังกายเพราะบ้านเดิมมีพื้นที่ไม่กว้างขวางนัก ซึ่งต่อมาจากพื้นที่ออกกำลังกายก็ได้ขยับขยายให้เป็นธุรกิจเล็กๆ สำหรับรับฝากสุนัข พาสุนัขวิ่งออกกำลังกายและว่ายน้ำด้วยค่ะ
“บ้านที่สร้างตามใจผู้อยู่”
บ้านที่อยู่แล้วสบายใจไม่ใช่เพียงบ้านที่สวย แต่เป็นบ้านที่ตามใจผู้อยู่อาศัย ซึ่งผู้อยู่อาศัยใน Dox House นั้นประกอบไปด้วยคนและสุนัข หลักการออกแบบต่างๆ นานา ซึ่งเคยใช้กับบ้านคนจึงไม่ได้เหมาะสมกับสถานที่แห่งนี้ไปหมดทุกอย่าง เพราะทั้งเรื่องของ Scale คนกับสุนัข, นิสัย, สัญชาตญาณ, ความต้องการของคนและสุนัขนั้นแตกต่างกัน โจทย์หลักของที่นี่จึงกลายเป็น…จะทำให้คนและสุนัขเชื่อมโยงกันได้อย่างไร?
“วาง Zoning ให้น้องหมารู้สึกปลอดภัย”
เริ่มจากการจัด Zoning ในพื้นที่ 1 ไร่ ซึ่งประกอบไปด้วย พื้นที่ของสุนัข, บ้านเจ้าของและพื้นที่สำหรับรับแขก …สถาปนิกได้เลือกวางอาคารไว้ด้านหน้าแปลงที่ดิน บังพื้นที่วิ่งเล่นของหมา (Dog Park) ที่ถูกผลักเข้ามาไว้ด้านในเพื่อป้องกันไม่ให้น้องหมาตกใจกับรถหรือเพื่อนบ้านที่สัญจรผ่านไปมา หมาจะวิ่งเล่นได้อย่างสบายใจขึ้น ไม่ต้องระแวงระวังสิ่งรอบตัว
Front Area
- Waiting Area อาคารด้านที่ติดถนนเป็นพื้นที่รับรองสำหรับคนที่มารอรับสุนัข และเป็นพื้นที่รับแขกที่เพื่อนๆมาสังสรรค์กัน
- Welcome Courtyard วางไว้ตรงกลางทางเข้าออก เป็นคอร์ตสำหรับปลูกพืชพรรณแบบสวนธรรมชาติที่มีซอกมุมต่างๆให้น้องหมาได้วิ่งซุกซนได้
- Home บ้านพักอาศัยของเจ้าของที่แยกให้เป็นส่วนตัว ซ่อนอยู่หลังผนังและดงต้นไม้
Dog Area
- Dog Hotel : อาคารอีกหลังที่อยู่ด้านในเป็นที่อาบน้ำ, ห้องฝากสุนัข, ห้องเป่าขนและที่พักพนักงาน
- Dog Park : สนามหญ้าที่ออกแบบให้เป็นที่วิ่งเล่นพักผ่อนหลักของน้องหมา ซึ่งอยู่ติดกับสระว่ายน้ำมีประตูเปิดเชื่อมกันได้
“หลังคาที่ทำให้คนและสุนัขเชื่อมโยงกัน”
ไอเดียหลังคาไล่ระดับมีที่มาที่ไปจาก Scale หรือสัดส่วนของสุนัขที่เตี้ยกว่าคน ซึ่งทางสถาปนิกได้เรียนรู้ผ่านการเรียกสุนัขให้เข้าหา ว่าหากเรายืนเรียกสุนัขจะรู้สึกตื่นกลัวมากกว่าการที่เราย่อตัวลงให้ความสูงเราอยู่ระดับเดียวกับเค้า สบตากัน ลูบหัว สื่อสารกันอย่างใกล้ชิดจะทำให้สุนัขสบายใจมากกว่า
…ทางผู้ออกแบบจึงเลือกทรง “หลังคาจั่วที่มีชายคาต่ำ” เข้ามาใช้เพราะช่วยลดการรบกวนจากคนภายนอกได้ดี ชายคาบางส่วนเว้าต่ำเพื่อให้สุนัขเดินผ่านได้และส่วนที่เว้าสูงสำหรับคนเดิน โดยความสูงของหลังคาจะอ้างอิงตามฟังก์ชัน เช่น ในบริเวณพื้นที่ที่ตั้งใจให้มีปฏิสัมพันธ์กับสุนัขจะใช้หลังคาต่ำ เพื่อทำให้คนต้องย่อตัวลงโดยปริยาย หรือในขณะที่เรายืนขึ้นสุนัขก็จะมองลอดหลังคามาเห็นแค่เพียงช่วงขา ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย ทำให้หลังคามีลักษณะเว้าแหว่ง มีชายคาต่ำกว่าบ้านปกติทั่วไป
อาคารทรงจั่วที่ดูคล้ายโรงเลี้ยงสัตว์ที่พบเห็นกันบ่อยๆ ในจังหวัดนครปฐม เป็นความตั้งใจของสถาปนิกให้การออกแบบบ้านดูเนียนไปกับบริบท ดูเรียบง่าย ไม่โฉ่งฉ่าง แต่ตัวหลังคาจะมี Gimmick ที่ออกแบบให้ชายคาต่ำกว่าปกติ
ปลายชายคามีเคาน์เตอร์บาร์ยาวให้เป็นมุมนั่งดูน้องหมาออกกำลังกาย เมื่อนั่งลงจะเป็นระดับที่สามารถมองออกไปเห็นสนามหญ้าได้พอดี ได้เห็นบรรยากาศน้องหมาวิ่งในสนามแบบเต็มตา แต่เมื่อยืนขึ้นก็จะมองไม่เห็นสนามหญ้านะคะ เป็นการออกแบบที่ทำให้เรารับรู้ด้วยตัวเองว่าควรทำตัวอย่างไรหากจะปฏิสัมพันธ์กับน้องหมา
อีกมุมหนึ่งที่ออกแบบไว้ให้นั่งลงริมน้ำหากต้องการมองออกไปเห็นสวน เห็นสุนัข แต่สุนัขไม่สามารถเข้ามาในโซนนี้ได้หากเจ้าของไม่อนุญาต เพราะถูกกั้นด้วยบ่อน้ำ ซึ่งทางสถาปนิกเลือกใช้แทนการกั้นด้วยรั้ว
ประตูและความสูงของหลังคาที่ออกแบบไว้สำหรับ 1 คน 1 ตัว
“พื้นที่สวนที่เหมาะกับสุนัข”
สวนสำหรับสุนัขต้องมีความกว้างเพียงพอให้สามารถวิ่งออกกำลังได้ ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่แค่ไหน ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่เลี้ยงนะคะ สำหรับที่นี่เลี้ยงพันธุ์เกรทไพรีนีสที่เป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่ซึ่งมีอยู่ 4 ตัว การวิ่งของพวกเขานั้นต้องการพื้นที่กว้างเพื่อให้มีระยะถีบตัวยาวๆ สถาปนิกจึงออกแบบสนามกว้างๆ และปรับพื้นที่ปลายสนามให้เป็นเนิน เพื่อให้น้องหมาได้สร้างกล้ามเนื้อเวลาที่ต้องวิ่งขึ้นลง และออกแบบให้มี Sub drain ช่วยระบายน้ำได้เร็ว พื้นไม่แฉะนาน และตั้งระบบรดน้ำอัตโนมัติ เพื่อช่วยล้างกลิ่นฉี่กลิ่นอึไม่ให้หมักหมมในดินค่ะ
ทางสถาปนิกออกแบบสนามหญ้าให้มีเนินสำหรับวิ่งขึ้นลง เป็นการเปิดมุมมองให้เจ้าของสามารถมองลอดชายคามาเห็นน้องหมาได้ชัดขึ้น เต็มตัวขึ้น และยังช่วยให้กล้ามเนื้อของน้องหมาได้ใช้งานมากขึ้น อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระดับโซนสระว่ายน้ำด้านหลังได้พอดี
สนามหญ้าของน้องหมาจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่สถาปนิกเลือกใช้รั้วเป็นกระจกใส เพราะตรงกับประตูทางเข้าออกพอดี หากน้องหมาอยากรู้อยากเห็นว่าใครมาหาพวกเขาก็สามารถออกมาดูที่มุมนี้ได้ แต่ถ้าตัวไหนไม่ชอบรับแขกก็สามารถไปวิ่งเล่นที่มุมอื่นได้ ไม่เสียความเป็นส่วนตัวค่ะ
พื้นที่สวนที่อนุญาตให้น้องหมาสามารถเข้าไปลุยได้จะเปิดโล่งไม่ได้มีกระถางต้นไม้กั้น
” ช่องแสงใต้หลังคา”
ทางสถาปนิกออกแบบโดยเปิดหลังคาโล่งบางส่วนให้ต้นไม้เติบโตได้รับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ ส่วนในพื้นที่ใต้หลังคาที่ต้องการแสงก็เปลี่ยนใช้วัสดุที่แสงผ่านลงมาได้ เป็นการยอมให้ทุกอย่างเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกับสถาปัตยกรรม ทั้งสัตว์เลี้ยง, ต้นไม้, แสงแดด และก็มีคนเป็นส่วนหนึ่งในนั้น
พื้นที่ภายใต้หลังคาจะไม่ใช่พื้นที่ร่มซะทั้งหมดนะคะ ทางสถาปนิกต้องการให้พื้นที่ที่เป็นแนวทางเดินมีแสงลงมายังต้นไม้จึงมุงหลังคาโปร่งแสงแทนแบบทึบ ซึ่งทำให้แนวทางเดินนี้สว่างในช่วงกลางวันโดยไม่ต้องเปิดไฟเลยค่ะ
สวนที่อยู่ใต้หลังคานั้นเน้นปลูกไม้ใบที่ทนทาน ดูแลรักษาน้อย และโรยพื้นด้วยกรวดสีน้ำตาลให้คล้ายดิน แต่ดูแลรักษาง่ายกว่า รูปแบบสวนดูฟรีฟอร์มใช้งานง่าย ถ้าน้องหมาลุยเข้าไปก็ไม่ทำสวนเสียทรงค่ะ
“รั้วในรั้ว”
จากแนวคิดที่ว่าการออกแบบระบบรั้วนั้นต้องให้พวกเขารู้สึกอิสระเพราะ “บ้านของสุนัขคือรั้ว ไม่ใช่กรง” ดังนั้นทางสถาปนิกจึงตั้งใจให้ขอบเขตที่ดินเป็นเสมือนกรงขนาดใหญ่ที่สุนัขเดินไปได้เกือบทั้งหมด แต่สร้างรั้วหลายชั้นเพื่อแบ่งโซนต่างๆ ให้เขาได้มีอิสระในแต่ละโซน และรั้วแต่ละชั้นก็เป็นการลำดับเข้าถึงฟังก์ชันต่างๆ
ทำรั้วแบ่งพื้นที่ให้สุนัขออกไปใช้งานแต่ละโซน โดยให้มีรั้วปิดอย่างน้อย 2 ชั้น เผื่อบางตัวหลุดออกไป ก็ยังมีรั้วอีกชั้นกั้นไว้ได้
เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกขังกรง พื้นที่แต่ละส่วนต้องมีขนาดใหญ่ให้ไม่รู้สึกอึดอัดเกินไป
“ออกแบบให้ล้างได้ง่าย”
ตามสัญชาตญาณของสุนัขนั้นการฉี่ใส่สิ่งของ วัตถุต่าง ๆ ส่วนใหญ่เพื่อเป็นการทำเครื่องหมาย หากอยู่ในบ้านเป้าหมายหลักในการทำเครื่องหมายก็เพื่อบ่งบอกอาณาเขต แต่หากอยู่นอกบ้านเหตุผลหลักในการฉี่ของสุนัข เพื่อบ่งบอกความเป็นตัวของตัวเอง สร้างความคุ้นเคยกับพื้นที่ และเพื่อเพิ่มความมั่นใจค่ะ
..แต่ทำไมสุนัขชอบฉี่ตามเสา ตามล้อรถ?
เพราะต้องการให้กลิ่นของปัสสาวะไปติดกับวัตถุที่อยู่สูงขึ้น เพื่อกลิ่นจึงอยู่ในระดับเดียวกันกับจมูก และทำให้กระจายกลิ่นได้ง่าย บริเวณยอดฮิตก็อย่างเช่น เสาไฟ, มุมตึก, ล้อรถยนต์ เป็นต้น
ทางผู้ออกแบบเมื่อเข้าใจลักษณะนิสัยของพวกเขาจึงออกแบบฐานเสาให้เป็นทรงโค้ง เพื่อให้สามารถล้างทำความสะอาดได้ง่ายค่ะ
“สระว่ายน้ำสัดส่วนสุนัข”
สระว่ายน้ำสุนัขของที่นี่เป็นสระว่ายน้ำระบบเกลือ ซึ่งระบบนี้บำบัดน้ำโดยการใช้น้ำเกลือธรรมชาติมาทำการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ทำให้น้ำในสระไม่มีกลิ่นฉุนของคลอรีน ไม่ทำให้ผิวของน้องหมาแห้งหรือคัน และยังเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนัง
Highlight ของตัวสระคือ การออกแบบด้านหนึ่งเป็นขั้นบันไดเตี้ยๆ และพื้นบันได (ลูกนอน) มีความกว้างกว่าปกติ เพื่อให้สุนัขทั้งตัวเล็กตัวใหญ่เดินขึ้นได้เองค่ะ
บทส่งท้ายจากสถาปนิก
“ความสำเร็จในการออกแบบไม่ใช่แค่การสร้างเสร็จแล้วถ่ายรูปออกมาสวย แต่อยู่ที่การใช้งานหลังจากนั้นซึ่งไม่มีวันจบสิ้นต่างหาก สถาปัตยกรรมของผมจึงเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะชีวิตคนหรือชีวิตสุนัข”
ผลงาน Dox House นี้นอกจากจะช่วยเปิดมิติใหม่ในการเชื่อมโยงคนกับสุนัขแล้ว ส่วนตัวเองยังเข้าใจงานออกแบบมากขึ้น โดยสถาปนิกได้กล่าวว่า ถ้าคุณบอกได้ว่างานไหนคือสไตล์การออกแบบของผม ผมถือว่าผมมาผิดทางนะ เพราะบ้านแต่ละหลังนั้นมันควรเป็นงานคราฟต์ ผลงานแต่ละที่จะไม่เหมือนกันขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน ดังนั้นงานออกแบบแต่ละที่มันควรไม่เหมือนกันต่างหาก…
Architect : EKAR Architects
Lead Architect : เอกภาพ ดวงแก้ว
Photographer : โศภิตา ปิยะทัต
ติดตามผลงาน EKAR Architects ได้ที่
Facebook : https://www.facebook.com/ekar.architects/
Ig : https://www.instagram.com/ekar_architects/