Screen Shot 2556-08-06 at 3.55.09 PM

สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่าน TOL ที่รัก พบกันอีกแล้วนะคะ ก่อนอื่นคุณนายก็ต้องขอสารภาพตรงๆ ว่าตอนนี้คุณนายน่ะคิดไม่ออกค่ะว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไรดี คิดมาหลายหัวข้อ อันนี้ก็ไม่ใช่ อันโน้นก็ไม่ชอบ เขียนหลายๆ ตอนเข้าบางทีมันก็หมดมุขได้เหมือนกันนะคะ แล้วคุณผู้อ่านรู้ไหมว่าคุณนายน่ะ เขียนใน Thinkofliving มาได้ครบหนึ่งปีแล้ว! ^^ คุณนายยังไม่เชื่อตัวเองเลยนะคะว่าจะเขียนได้ทนขนาดนี้ 555

สำหรับตอนนี้ คุณนายเลยได้ขออนุญาตนำกระทู้ของคุณ new เพื่อนสมาชิกใน webboard ของ Thinkofliving ที่คุณนายชอบมากๆ และเห็นว่ามีประโยชน์มากมาแบ่งปันกันค่ะ โดยคุณนายขออนุญาตปรับเปลี่ยนหัวข้อซักเล็กน้อย

ข้อควรพิจารณาก่อนการซื้อที่อยู่อาศัยในทรรศนะของคุณ  new มีประเด็นอะไรบ้าง อ่านได้ตามนี้เลยค่ะ

  1. ควรวิเคราะห์ทำเลด้วยตนเอง

บางครั้งผู้ซื้อที่อยู่อาศัยขาดการวิเคราะห์ทำเลด้วยตนเอง มีผลให้เวลาอยู่จริงมีปัญหาไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร  เราควรแวะเวียนเข้ามาดูในหลายๆ ช่วงเวลา เพื่อให้เห็นสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตของเราเอง อาทิเช่น เพื่อนบ้าน ที่ดิน ตึกข้างเคียง การจราจร ร้านค้า ร้านอาหาร ฯลฯ ไม่มีใครบอกถึงความเหมาะสมของโครงการได้ดีเท่าตัวเราเอง

เครดิตรูปตัวการ์ตูนจาก http://vcharkarn.com

คุณนายขอเสริมนะคะ หลักๆ เลยคือเรื่องของการเดินทางและการจราจร การเดินทางไปโรงเรียนลูก การเดินทางไปกลับจากที่ทำงาน ต้องลองไปดูตามเวลาที่เราต้องเดินทางจริงๆ นะคะถึงจะเห็นภาพ และประเมินได้ชัดเจนว่าเราสะดวกไหม

2. ควรมีการวางแผนอนาคตที่ดี

ที่อยู่อาศัยเป็นภาระผูกพันกับเรายาวนาน ควรคิดล่วงหน้ายาวๆ อย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป โดยพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ เช่น

  • รายได้คงที่เพียงพอผ่อนชำระต่อเนื่องหรือไม่  ถ้าเกิดต้องออกจากงานจะทำอย่างไร
  • จะมีเปลี่ยนงาน โยกย้ายที่อยู่เมื่อไหร่
  • คู่รักที่ช่วยกันผ่อนชำระ จะมีบุตรเมื่อไหร่   หากมีปัญหาเลิกร้างกันจะทำอย่างไร

หากมีปัญหาเกิดขึ้นคิดแต่เพียงว่าขายทิ้ง แต่อสังหาบางแห่งไม่ใช่ว่าจะขายกันได้ง่ายๆ สภาพคล่องต่ำ ใครมีเงินทุนหมุนเวียนน้อยอาจมีปัญหาตามมา

3. ควรใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจ อย่าเชื่อคนง่ายเกินไป

ข้อนี้มือใหม่หลายคนเป็นกันบ่อย เพราะไม่มีพื้นฐานความรู้ที่จะไปวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมา   เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ต้องศึกษาข้อมูลจากหลายๆ แหล่งให้มากที่สุด  ในโลกออนไลน์เราสามารถค้นหาข้อมูลของผู้ประกอบการผลงาน ปัญหาในอดีต ความรู้ด้านอสังหาต่างๆ ได้โดยง่าย  จุดสำคัญ คือ เราต้องแยกแยะให้เป็นระหว่างข้อมูลที่เป็น”ข้อเท็จจริง”  และ “ความคิดเห็น” ให้ได้    อย่าเชื่อ เพียงเพราะเค้าเป็นคนใกล้ชิด เพราะเค้าเป็นเซียนอสังหา เพราะเค้าเป็นเซลล์ที่ให้ข้อมูลดีมาก (ซึ่งมักเสนอแต่ด้านดี) ไม่เว้นแม้แต่รีวิวต่างๆ ซึ่งควรดูแค่เป็นแนวทาง แล้วนำไปวิเคราะห์ต่อโดยใช้วิจารณญาณส่วนตัวให้มากๆ ครับ

4. ไม่ควรยึดมั่นในความคิดเดิมๆ ของตัวเองมากเกินไป จนอาจเสียโอกาสที่จะได้เลือกในสิ่งที่ดีกว่า เช่น

  • ยึดมั่นในแบรนด์ของ Developer มาก จนคิดว่าทุกโครงการที่แบรนด์นี้สร้างต้องมีคุณภาพที่ดีเหมือนกันหมด ตามซื้อแต่เจ้านี้อย่างเดียว ไม่ได้สนใจ Developer อื่นในทำเลเดียวกันเลย

เครดิตรูปตัวการ์ตูนจาก http://vcharkarn.com

  • เชื่อว่าต้องซื้อมือ1เท่านั้น ไม่ซื้อมือ 2 หรือ Resale เด็ดขาด  บางครั้งการซื้อที่อยู่เก่ามา renovateใหม่อาจอยู่สบายกว่าหรือให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าก็เป็นได้
  • ถ้าไม่ได้ซื้อช่วง presale ก็ไม่เอาเลย ซื้อทีหลังก็กลัวโดนบวกราคาเพิ่มเยอะ เลยพาลไม่สนใจที่จะพิจารณาโครงการเลย ทั้งๆ ที่บางทีโครงการนั้นอาจเป็นที่อยู่ที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด

5. บาลานซ์การใช้อารมณ์และเหตุผลในการติดสินใจ

ถ้าซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง มีแนวโน้มที่เราสามารถใช้อารมณ์ ความชอบเป็นตัวตัดสินใจมากกว่าเหตุผล ก็ไม่ใช่เรื่องผิดถ้าอยู่ภายใต้งบประมาณที่เหมาะสม   แต่ถ้าจะซื้อลงทุน เราควรใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์นะครับ

6. ไม่ควรเห็นแก่การเก็งกำไรมากเกินไป

ด้วยความโลภมองอะไรด้านเดียว คิดถึงแต่กำไรที่จะได้ แต่ไม่คิดถึงเรื่องขาดทุนและศักยภาพของตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้หรือไม่ เช่น เก็งกำไรใบจอง แต่ไม่สามารถขายต่อได้ จนต้องขายขาดทุนหรือรับโอนห้องเป็นภาระทั้งที่ตัวเองไม่พร้อม

7. ควรมีจุดประสงค์ในการซื้อให้ชัดเจน เพื่อการวิเคราะห์ที่ตรงประเด็น

ซื้อเพื่อเก็งกำไรใบจอง—————>ต้องเป็นโครงการที่Hotสุดๆ ได้ห้องตำแหน่งดี

ซื้อเพื่อลงทุนปล่อยเช่า, ขายต่อ——->มองอนาคต, demandตลาดทำเลนั้นเป็นจุดสำคัญ

ซื้อเพื่ออยู่เอง————————–>เน้นเรื่องอยู่สบาย คุณภาพชีวิต

ซื้อแบบเหตุผลก้ำกึ่ง——————>ต้องชั่งใจเอาเองว่าจะให้น้ำหนักทางใดมากกว่ากัน

ซื้อเอาใจเซลล์สาวสวย—————->เอาราคะตัณหานำเหตุผล จนตรรกะผิดพลาด

ซื้อเพราะภรรยาสั่ง———————-> “เรื่องนี้ นิวจะไม่ยุ่ง” กรรมเป็นของผู้ใดฉันใด เงินของสามีก็ย่อมเป็นของภรรยาฉันนั้น (นิว จ้องสัมผัส)

 8. การเลือกโดยใช้ความคุ้มค่าของราคาเทียบกับทำเลมาเป็นเหตุผลหลักในการซื้อไม่ถูกต้องเสมอไป (เห็นแก่ของถูก)

หลายคนโดนความคุ้มค่าของราคาที่ถูกมาบังตา จนลืมพิจารณาในด้านอื่นๆ ที่สำคัญในการอยู่อาศัย  ขอยกตัวอย่าง ดังนี้

ตัวอย่าง1  คอนโดแห่งหนึ่งทำเลติดรถไฟฟ้า ราคาหยิบจับง่ายแค่2 ล้านต้น  แต่ห้องมีขนาดเล็กยูนิตเยอะ   คนที่จะอยู่เองตอนซื้อไม่ทันได้คิดว่า ถ้าถึงเวลาอยู่จริงในห้องเล็กๆ 2 คน จะอึดอัดแค่ไหนคุณภาพชีวิตไม่ดี  ส่วนคนซื้อลงทุนตอนซื้อไม่ได้คิดว่าหากอยู่ไม่สบาย ก็จะหาคนเช่ายาก มีแต่คนขายกันหมด จะปล่อยห้องก็ยาก supply ล้น

ตัวอย่าง2 คอนโดใกล้รถไฟฟ้า ห้องใหญ่กว่า ราคาถูกกว่า แต่ผู้ประกอบการขาดประสบการณ์และจรรยาบรรณ มีdefect เยอะ  อยู่จริงหรือขายต่อก็มีปัญหาตามมา

ทั้งนี้ ไม่จำเป็นว่าคอนโดที่ราคาต่อตารางเมตรแพงกว่าต้องอยู่สบายกว่าคอนโดราคาถูกเสมอไปนะครับ  ของที่ราคาพอเหมาะและดีในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ครับ

9. ตัดสินใจในห้วงเวลาที่เหมาะสม

บางคนเป็นพวก perfectionist รอโครงการที่สมบูรณ์แบบตามเงื่อนไขที่ตั้งไว้ทุกอย่าง จนไม่ได้ซื้อสักที

บ้างรอให้เกิดฟองสบู่อสังหาราคาตก  แต่ไม่เกิด  จนราคาวิ่งไปไกลซื้อไม่ไหว หรือเสียโอกาส

บางทีซื้อวันหลังๆ อาจได้ราคาที่ถูกกว่าวันแรกๆ เพราะอาจมีโปรโมชั่นดีๆ มานำเสนอ  หรือ ไปรอหาคนที่ขายด่วนทิ้งดาวน์ เป็นต้น

ในสถานการณ์จริงคงไม่มีใครบอกได้ว่าตัดสินใจช้าหรือเร็ว ถูกหรือผิด จะรู้ก็ต่อเมื่อมันผ่านไปแล้ว  ไม่มีใครรู้อนาคต  แต่อยากให้ลองพิจารณาตนเองขณะนั้นว่ามีความโลภ ความอยากและความกลัวอยู่ด้วยหรือไม่  เพราะมันมักจะเป็นตัวที่ทำให้คนเราตัดสินใจผิดพลาด  น้อยคนนักที่จะรู้ตัวครับ

10. ไม่ควรนำเงินออมทั้งหมดมาซื้อที่อยู่อาศัย โดยไม่กระจายความเสี่ยงไปลงทุนด้านอื่นๆ

หลายคนทำแบบนี้เพราะเชื่อว่าเป็นการบังคับเก็บเงินไปในตัวและที่อยู่อาศัยเป็นความสุข รางวัลของชีวิต อย่างไรก็ดี ชีวิตคนเรามีส่วนอื่นที่สำคัญไม่แพ้เรื่องที่อยู่  จึงอยากให้สำรองเงินออมด้านอื่นไว้บ้าง  เมื่อไหร่ที่เกิดปัญหาไม่คาดคิด เราจะเห็นความสำคัญของเงินออมส่วนนี้ครับ

11. ควรซื้อที่อยู่อาศัยให้พอดีกับกำลังของตน

บ้าน คอนโดที่เราอยู่เองโดยไม่คิดจะขายหรือปล่อยเช่า ในทางทฤษฎี เราเรียกว่า “ทรัพย์สิน”  แต่ในทางปฏิบัติ มันคือ ” หนี้สินก้อนใหญ่” ของชีวิต

ซึ่งมันจะกระตุ้นแกมบีบบังคับให้เราทำงานหาเงิน แถมยังมีค่าใช้จ่ายในการดูแลอีกมากมาย ไม่ก่อให้เกิดรายได้  ดังนั้นนกน้อยควรทำรังแต่พอตัวจะดีที่สุดครับ  พอตัวคือแค่ไหนก็ตอบยาก  ขอให้หลักของอาจารย์วีระ ธีรภัทรแล้วกันนะครับ “ที่อยู่อาศัยที่มากสุดที่เราซื้อได้ราคาไม่ควรเกิน60เท่าของเงินเดือน” เช่น เงินเดือน 1 แสน ซื้อได้มากสุดคือ 6 ล้านครับ

เครดิตรูปตัวการ์ตูนจาก http://vcharkarn.com

12. ควรอ่านเว็บดีๆ เช่น Thinkofliving และกระทู้นี้ ก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย

ครบแล้วค่ะ 12 ข้อ

และเนื่องในโอกาสที่คุณนายเขียนใน Thinkofliving มาครบหนึ่งปีพอดิบพอดี คุณนายอยากจะแจกหนังสือ ซื้อคอนโดอย่าใจเร็ว พร้อมลายเซ็นต์ คุณบีม คุณโอ๋ และคุณนายสวนหลวง ให้แก่สามท่านแรกที่ Comment ในเชิงสร้างสรรค์เพิ่มเติมว่าข้อคิดก่อนการซื้อที่อยู่อาศัยมีอะไรบ้าง อาจเป็นข้อคิดในประเด็นใหม่หรือเป็นการขยายความข้อที่คุณ new เขียนมาก็ได้ค่ะ แล้วทางทีมการตลาดของสวนหลวงบ้านและที่ดินจะติดต่อไปทางอีเมลที่ท่านได้ให้ไว้กับทาง TOL เพื่อขอที่อยู่จัดส่งหนังสือทางไปรษณีย์ค่ะ

เชิญ comment ที่ด้านล่างได้เลยค่ะ ^_^  สำหรับท่านไหนที่อยากให้คุณนายเขียนเกี่ยวกับเรื่องอะไรเสนอแนะมาได้นะคะ ไว้พบกันใหม่ตอนหน้าค่ะ

XOXO

คุณนายสวนหลวง