รีวิวโครงการ

คิด.เรื่อง.อยู่ Ep.93 IDEO Mobi สุขุมวิท by Ananda

31 สิงหาคม 2014

อ่านรีวิวล่าสุด

ต้องยอมรับว่าผมนึกไม่ถึงนะครับ ที่ผมต้องมาเขียนบทความวิเคราะห์ห้องประเภทหนึ่งของโครงการหนึ่งๆ … ที่มีจำนวนเพียง 2-3% ของปริมาณยูนิตทั้งโครงการ แต่พอดี Sky Home เป็นห้องที่ผมยอมรับว่าแปลกใหม่จริงๆ และน่าสนใจมากๆ จึงต้องหยิบออกมาแบ่งปันให้กับผู้อ่านทุกท่านครับ

Sky Home เป็นสินค้าใหม่ที่พึ่งเคยมีในตลาดครั้งแรกของเมืองไทย (ทาง IDEO เกริ่นว่าเป็นครั้งแรกของโลก) ซึ่งโดยความเห็นส่วนตัวของผมและคุณโอ๋ สองนักวิเคราะห์จาก Think of Living ยอมรับว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ที่โดดเด่นมาก การที่ IDEO Mobi ออกสินค้าประเภท Sky Home มาได้ ต้องทำการบ้านมาอย่างหนัก ในเรื่องสถาปนิกและการออกแบบ ทั้งๆที่ความจริงแล้ว Sky Home คือต่อยอดห้อง Duplex ปกติให้ไปอีกระดับอย่างง่ายๆครับ

Sky Home เป็นสินค้าที่เกิดจากการผสมผสานบ้านแนวราบเข้ากับการใช้ชีวิตในแนวดิ่ง ลองคิดดูว่าถ้าให้เด็กเล็กๆจับดินสอสีวาดรูปบ้าน หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร?

น่าจะออกมาประมาณนี้แทบจะ 100%

บ้านสองชั้นทั่วไปจึงแตกต่างจากคอนโดมิเนียมห้องปกติด้วย 3 ประเด็นใหญ่ๆ

  1. มีบริเวณนอกบ้าน เดินออกนอกบ้านได้
  2. มีสองชั้น
  3. มีสวนหรือสระน้ำกลางแจ้ง

“คอนโดมิเนียม” ก็พยายามจะพัฒนาตัวเองให้ใกล้บ้านเข้าไปเรื่อยๆ โดยเราจะเห็นในห้องประเภท Duplex ที่มีสองชั้น ทำให้มีความเป็น “บ้านในอุดมคติ” มากขึ้น และการที่คอนโดบางตึก ยกตัวอย่างเช่น Teal สาทร-ตากสินของแสนสิริ ที่ทำ Balcony ส่วนกลางของตึกยื่นออกไปปลูกเป็นต้นไม้สำหรับห้องบางยูนิต หรือบางตึกก็สร้าง Private Pool ตามระเบียง ก็เพื่อการเช่นนี้เหมือนกัน … โดย Sky Home ก็ใช้แนวคิดนี้ มาต่อยอดปรับแบบตึกให้เข้ากับ Life Style ของคนที่อยู่บ้านเดี่ยวมากขึ้น จนได้มาเป็นยูนิตแบบนี้ครับ

ถ้าอ่านแล้วชอบ หรือรู้สึกว่ามีประโยชน์ ก็ช่วยกด Like ส่ง Tweet ให้ผมหน่อยนะครับ 🙂

ภาพข้างบนเป็นชั้น 6 หรือชั้น Facility ของ IDEO Mobi สาทร มียูนิตพักอาศัยประเภท Sky Home อยู่ทั้งหมด 12 ยูนิตและแบบคอนโดมิเนียมทั่วไป 3 ยูนิต

สังเกตให้ดีว่า Floor 6 จะไม่มีทางเดินระหว่างห้อง หรือซอกแคบๆที่ผู้อยู่อาศัยคอนโดทุกท่านต้องเดินผ่านเช้าเย็นเพื่อไปขึ้นลงลิฟท์ในชีวิตประจำวัน … แตกต่างจากแปลนของ IDEO Mobi ที่เห็น

ชั้น Podium หรือ Facility นี้เมื่อประตูลิฟท์เปิด ลูกบ้านจะถูกบังคับให้เดินออกในส่วนที่เป็น Outdoor Facility ทันที วิวจะเปิดกว้างเห็นสวนและสระว่ายน้ำ โดยลูกบ้านที่ครอบครองห้องประเภท Sky Home จะสามารถเดินเข้าห้องจาก “หน้าบ้าน” หรือประตูบ้านชั้นล่างที่ติดกับสวนหรือสระว่ายน้ำนั่นเอง

เดินเข้า “บ้าน” จาก “หน้าบ้าน” 

ในจุดนี้มีข้อดีอย่างไร? สภาพแวดล้อมที่ผู้อยู่อาศัยต้องผ่านเช้าเย็นนั้น จะเปลี่ยนจากผนังปูนพื้นกระเบื้องความกว้าง 1.5 เมตร กลายเป็น Landscape ของสวนและสระว่ายน้ำที่จัดไว้สวยงาม รวมไปถึงบรรยากาศรอบๆตัวตึก ที่ทำให้ลูกบ้านรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่คอนโดมิเนียม ได้ใช้ Facility ทุกวัน แม้ว่าจะเป็นเพียงการเดินผ่าน ก็เจริญหูเจริญตาขึ้นมาก ต่อให้โถงลิฟท์จะทำสวยขนาดไหน ก็คงไม่น่าดูเท่าชั้น Facility อยู่แล้ว

ข้อเสียละ? มีเหมือนกันนะครับ การที่เราต้องเดินผ่าน Outdoor มาเข้าบ้านนั้น บางครั้งเราก็ไม่อยากเดิน ด้วยเหตุผลสองเรื่องหลักๆ คือแดดและฝน … แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา (เพราะอะไรเดี๋ยวจะเฉลย) ปัญหาที่แท้จริงก็คือการที่มีหน้าบ้านอยู่ติด Facility ทำให้เราเสียความเป็นส่วนตัว หรือเสียงดังจากสระว่ายน้ำ เด็กวิ่งเล่น อาจจะรบกวนการอยู่อาศัย ซึ่งบางคนก็ชอบความมีชีวิตชีวาของส่วนกลางครับ

เรามาดูวิธีแก้ไขเรื่อง “แดด” และ “ฝน” ของ IDEO Mobi … อนันดาฯออกแบบให้ชั้น 7 ซึ่งเป็นชั้นถัดมา หรือ “ชั้นสอง” ของ Sky Home มีประตูสามารถเปิดเข้าออกจากทางเดินระหว่างห้องตามปกติได้ นั่นก็คือถ้าวันไหนเห็นท่าแล้วไม่อยากเดินผ่านส่วนกลาง แทนที่จะกดลิฟท์มาที่ชั้น 6 ก็สามารถเข้าจากชั้น 7 ได้ ทำให้ปัญหาเรื่องแดดและฝนหายไป

Sky Home จึงจัดเป็นนวัตกรรมใหม่ในวงการคอนโดมิเนียม ที่พัฒนาสินค้าให้เป็น Hybrid ระหว่าง “แนวราบ” และ “แนวดิ่ง” เหมือนเอา Town Home มาวางอยู่บนตึก ผู้อยู่อาศัยสามารถเดินออกทาง “หน้าบ้าน” ไปใช้สวน สระว่ายน้ำ และ Facility ส่วนกลางทั้งหมด เดินออกมาจากบ้าน ผ่อนคลายความอึดอัด หรือแม้แต่เอาคอมพิวเตอร์ออกมานอนเล่นเน็ตอยู่ริมสระน้ำ เพราะว่า Wifi ในบ้านตัวเองสามารถส่งสัญญาณมาถึง

ชั้น 2 มองลงไปเห็นสระว่ายน้ำ

… แต่น่าเสียดายเหมือนกัน … ตึกหนึ่งๆเช่น IDEO Mobi สาทรนั้น มียูนิตที่จัดเป็น Sky Home เพียง 12 ยูนิตเท่านั้น และยูนิตที่เป็น Sky Home หน้าสระว่ายน้ำมีเพียง 4 ห้อง จาก 500 กว่าห้อง หรือไม่ถึง 1% จากจำนวนยูนิตทั้งหมด

ส่วนพวกห้องที่เอาคอนโดธรรมดามาวางอยู่บน Podium อีก 3 ห้องนั้น ผมต้องบอกเลยว่า ไม่ work … เพราะถ้าฝนตกแล้วละก็ … คุณต้องวิ่งฝ่าฝนเข้าห้องนะครับ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของชั้น Podium นั้น … มันไม่มีหลังคา!

วิเคราะห์ทำเลห้อง Sky Home ของ IDEO Mobi ในแต่ละทำเล

เรามาดูกันเป็นตึกๆเลย ว่า Sky Home ที่ไหน น่าสนใจ ขนาดไหน เนื่องจากชั้น Podium หรือ Facility ของทุกตึกเป็นชั้นถัดมาจากที่จอดรถ ไม่ได้อยู่สูงแบบชั้น 10 ขั้นไป ทำให้ “วิว” ของห้องเหล่านี้อาจจะถูกบังได้ ด้วยตึกเตี้ยข้างเคียง หรือตึกที่จะขึ้นใหม่ในอนาคต เป็นเหตุผลให้ห้องที่หันหน้าออกนอกตึกนั้นไม่เซฟในเรื่องของวิว เพราะโอกาสถูกบังมีสูงมาก ต่างจากยูนิตที่มองวิวสระวิวสวน ที่เซฟกว่ามากครับ

เริ่มกันด้วย IDEO Mobi พญาไท … ซึ่งเป็นโครงการที่ไม่มี Sky Home แต่มี Duplex ที่ชั้นสระว่ายน้ำแทน ซึ่งต้องเดินเข้าจากโถงลิฟท์และทางเดินระหว่างห้องปกติ ดังนั้นเราก็ไม่ถือว่าเป็น Sky Home นะครับ … จบกันไปอย่างรวดเร็ว

IDEO Mobi พระราม 9

โครงการนี้ Sky Home ตั้งอยู่บนชั้น 6 และ 7 ซึ่งอย่างที่เห็นจากภาพ พบว่า Layout ของตึกเป็นรูปตัว H ซึ่งทิศเหนืออยู่ทางซ้ายสุดของภาพติดสะพานข้ามแยก ไม่มีส่วนที่เป็นห้องพักอาศัย ตรงแกนของตัว H แบ่งออกเป็นสองฟาก ฝั่งตะวันตกแดดร้อนมีสระว่ายน้ำ วิวติดป้ายโฆษณา เลยออกไปเป็นถนนอโศกดินแดง ส่วนทิศตะวันออกมีบ้านคน ปั๊มแก๊ส และตึก Aspire พระราม 9 ซึ่งในอนาคตผมว่าปั๊มหรือบ้านคงจะกลายเป็นตึกสูง ส่วนทิศใต้ติดคลองแสนแสบ ซึ่งชั้น 6 เอากลิ่นน้ำคลองไม่อยู่หรอกครับ

ทำให้ยูนิตที่เยี่ยมยอดของตึกนี้เหลือเพียง 2 ยูนิต ที่ผมแปะสีเขียวๆเอาไว้ ซึ่งหันไปทิศเหนือ หน้าบ้านรับวิวสระน้ำเต็มๆทั้งสระ ในขณะที่ห้องแบบเดียวกันฝั่งส่วนดันติด Service Lift จึงไม่ Perfect ครับ

IDEO Mobi สาทร

โครงการ IDEO Mobi สาทรมี Sky Home อยู่ที่ชั้น 6-7 ตัวตึกมี Layout เป็นรูปตัว U ทิศเหนือที่ติดสถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี ได้ข้อดีตรงแดดไม่ร้อน ยูนิตที่ดีสุดทั้ง 3 ยูนิตจึงหันไปทางนี้ และได้วิวสระน้ำด้วย ส่วนยูนิตสุดท้ายติด Service Lift … ซึ่งทางตะวันตกและตะวันออกนั้นโดนตึกอื่นบังทั้งสองด้าน ไม่แนะนำ … สุดท้ายคือทิศใต้ที่มองออกไปยังซอยกรุงธนบุรี 6 เห็นพวกตึกแถว 4 ชั้นและอาคารบ้านเรือน จึงจัดเป็นยูนิตที่น่าสนใจ 5 ยูนิต แต่ไม่ถึงที่สุดอย่างยูนิตสีเขียว 3 ยูนิตนั้นครับ

IDEO Mobi สุขุมวิท ตึก A

โครงการ IDEO Mobi สุขุมวิทมี Sky Home อยู่ที่ชั้น 4-5 เป็นโครงการที่มี 2 ตึกหันหน้าเข้าหากันเป็นรูปตัว L ประกบกันกลายเป็นตัว U จึงทำให้มีทำเล “ดีๆ” หน้าสระว่ายน้ำเยอะมาก ตึก A ได้ทิศใต้ ซึ่งมี Sky Home ทำเลแจ่มๆดีๆอยู่ถึง 7 ห้องด้วยกัน ในขณะที่ทิศเหนือถูกตึก President บังเต็มๆเลย และทิศที่หันเข้าหา BTS Line ก็โดนพระอาทิตย์เต็มๆเช่นกัน ดีไม่ดี ความสูงชั้น 4 อาจยังไม่เลยรางรถไฟฟ้าด้วยครับ

IDEO Mobi สุขุมวิท ตึก B

ห้องของตึก B หันไปทางทิศเหนือ ซึ่งจะร้อนน้อยกว่าห้องของตึก A และมี Sky Home ที่เรียกว่าทำเลดีมากอยู่ 8 ยูนิต … ปัจจุบันทิศใต้ก็ OK นะครับ เพราะว่าหน้ายูนิตหันไปยังซอยสุขุมวิท 83 แต่เราก็การันตีไม่ได้ว่าสักวันหนึ่งจะมีตึกสูงมาขึ้นบังวิวเราไหม เพราะถ้ามี ฝั่งนี้ก็จะสาหัสเหมือนกันครับ ส่วนยูนิตสีดำๆสองอันขวาสุดนั้น มองออกไปได้สวน และเป็นตำแหน่งที่ค่อนข้าง Private ไม่มีเสียงเด็กเล่นจากสระว่ายน้ำด้วย

เชื่อหรือไม่ว่า ผมนับรวมหมุดเขียวจากทุกโครงการของ IDEO Mobi แล้ว นับได้เพียง 20 Units เท่านั้น จากทั้ง 4 โครงการ ร่วมๆ 2,400 ยูนิต … คิดเป็น … 0.83% จากจำนวนยูนิตทั้งหมดครับ

Sky Home ดีๆ หายาก มันมีน้อยมาก!

วิเคราะห์ผังห้อง Sky Home ทั้ง 3 แบบ

ครั้งก่อนที่ผมเขียนวิเคราะห์ผังห้อง IDEO Mobi ไป ด้วยความที่ยังไม่ได้ไปดูโครงการ อ่านจากกระดาษแล้วร่ายสด ทำให้บทวิเคราะห์มั่วมาก ปล่อยไก่ออกมา 3 เล้าครึ่งในช่วงผังห้องที่เป็น Sky Home จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และขอหยิบยกแบบบ้าน F1, F2, F3 ที่เป็น Sky Home ทั้ง 3 แบบ มาแก้ตัวกันในบทวิเคราะห์นี้ครับ

Type F1 – 42 Sq.m. (1 Bed หน้ากว้าง 5 เมตร)

ห้องนี้เกิดจากการเอาห้อง 21 ตารางเมตรมาทับซ้อนกันบนล่าง ด้านล่างกลายเป็นห้องครัว โต๊ะอาหารและห้องรับแขก ชั้นล่างมีระเบียงมองออกไปที่สระน้ำบนชั้น Podium เห็นไหมครับว่ามีประตูเข้าจากหน้าบ้านของชั้น LOWER ได้ โดย UPPER ก็มีประตูหลังบ้านเปิดเข้าได้จากชั้นบน … ห้องนี้เป็นขนาดพอดีๆ 42 ตารางเมตร ที่ใช้งานได้โอเคครับ

Type F2 – 42 Sq.m. (1 Bed หน้าแคบ)

ห้องนี้เกิดจากการเอาห้อง 21 ตารางเมตร Version หน้าแคบมาทับซ้อนกันบนล่าง โดยการใช้งานยังเหมือนเดิม วางห้องรับแขก โต๊ะอาหาร และห้องครัวไว้ด้านล่าง แต่การที่เป็นห้องลึก และเสียพื้นที่ความกว้างที่ต้องวางบันได ทำให้ห้องรับแขกนั่งได้ไม่สะดวก ห้องแบบ F2 ไม่มีระเบียงชั้นล่าง มีแต่กระจกข้างประตู ก็จะเปิดระเบียงออกไปนั่งเล่นรับลมที่ชั้นล่างไม่ได้ ส่วนระเบียงชั้นบนก็แคบเกินไปที่จะทำอะไรได้ กลายเป็นพื้นที่ ที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ สรุปก็คือ ถ้ามีโอกาสเลือก แนะนำให้เลือกห้องหน้ากว้างแบบ F1 ดีกว่าครับ

Type F3 – 60 Sq.m. (2 Beds หน้ากว้าง 5 เมตร)

F3 เป็นห้องที่สมบูรณ์ที่สุด แบบ 60 ตารางเมตรมีห้องน้ำชั้นล่างและชั้นบน มีระเบียงกว้างตั้งโต๊ะ โซฟาหรือเก้าอี้นอนได้ ข้างบนแจกเป็นสองห้องนอน ถ้าไม่ชอบก็ทุบผนังทิ้งทำเป็นห้องนอนใหญ่ Master ห้องเบ้อเริ่มห้องเดียวได้ ด้วยพื้นที่ 60 ตารางเมตร ทำให้ Sky Home ยูนิตนี้ดูดีที่สุดในเรื่องการใช้สอย การใช้ชีวิตอยู่อาศัยจริง เมื่อเทียบกับบรรดา Sky Home ทั้งหมดครับ

สรุป F3 > F1 > F2 ถ้างบไม่จำกัด ถ้างบจำกัดให้เลือก F1 ครับ

ความคุ้มค่าของ Sky Home

Sky Home คุ้มค่าหรือไม่? เราวิเคราะห์คุณสมบัติกันไปแล้วแต่เรายังหา โมเดลของ “ความคุ้มค่า” ของ Sky Home ไม่ได้ … วันนี้ผมเลยจะใช้ความรู้เท่าที่มี ลองเทียบๆดูนะครับ ว่าจริงๆแล้ว Unit Sky Home ที่ว่าเนี่ย มันดีหรือไม่? อย่างไร?

ข้อดี

  1. ได้เดินผ่านสิ่งเจริญหูเจริญตาทุกวันเช้าเย็น … ถ้าฝนตกแดดออก ก็เลือกที่จะเข้าบ้านจากชั้น 2 ได้
  2. เดิน “ออกจากบ้าน” ไปเปลี่ยนอารมณ์ได้ เมื่อเบื่อไม่อยากอยู่ในห้อง โดยไม่ต้องเดินผ่านลิฟท์และทางเดินระหว่างห้อง
  3. ผู้อยู่อาศัยมีโอกาสที่จะได้ใช้ Facility บ่อยกว่าชั้นอื่นๆมาก เดินออกจากบ้านลงสระว่ายน้ำได้เลย
  4. นั่งเล่นเน็ตนอกบ้านหรือริมสระได้ เพราะ Wifi จากบ้านตัวเองส่งมาถึง
  5. เหมือนมี Podium เป็นพื้นดินรอบบ้าน

ข้อเสีย

  1. ยูนิตที่อยู่หน้าสระน้ำอาจขาดความเป็นส่วนตัว เสียงจากสระว่ายน้ำและเด็กเล่นกันตอนเย็นๆอาจรบกวนในห้องได้ … พอมีทางเลี่ยงโดยการหนีไปอยู่ชั้น 2 หรือติดม่านประเภทมู่ลี่แนวตั้ง ให้บังสายตาทิศทางที่ไม่อยากให้มองเข้าบ้าน
  2. Sky Home ตั้งอยู่บน Podium ชั้นเตี้ยๆ 4-6 จึงทำให้วิวถูกบังได้ง่าย … ดังนั้นควรจะเลือกยูนิตที่วิวดีๆไว้แต่แรกครับ
  3. ความปลอดภัยต้องดูแลมากกว่าชั้นอื่น

Sky Home vs Duplex

  • – Sky Home สูญเสียความโปร่งโล่งหรูหราแบบ Duplex ที่มีฝ้าเพดาน Void สูง 5 – 6 เมตร
  • – Duplex ได้วิวพาโนราม่าจากกระจกบานใหญ่ในแนวดิ่ง เวลามองจากชั้นบนตรงพื้นที่ Void
  • + Sky Home มีพื้นที่ใช้สอยบนชั้น 2 มากขึ้น
  • + Sky Home ได้บรรยากาศในการเดินเข้าบ้าน

สิ่งที่ผมอึ้งมากที่สุดก็คืออนันดาตั้งราคา Sky Home เทียบเท่ากับยูนิตชั้น 10 เองครับ! ถูกกว่า Duplex Penthouse ชั้นบนสุดตารางเมตรละเป็น 10,000!

ถ้าอ่านแล้วชอบ หรือรู้สึกว่ามีประโยชน์ ก็ช่วยกด Like ส่ง Tweet ให้ผมหน่อยนะครับ 🙂