ช่วงนี้พวกเราที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านน้ำท่วมก็จำเป็นที่จะต้องเดินลุยน้ำไปๆมาๆ ดังนั้นคงจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อโรคน้ำกัดเท้าไม่ได้ นี่เป็นบทความดีๆที่จะช่วยให้เราระวังตัวจากน้ำท่วมในเรื่องของโรคน้ำกัดเท้าโดย หาหมอ.com เขียนโดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.ครับ

หมู่บ้านฮาบิเทีย บางใหญ่

โรคน้ำกัดเท้า หรือ โรคฮ่องกงฟุต (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot) คือ โรคผิวหนังที่เกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ทุกเพศ และทุกวัย แต่พบบ่อยกว่าในผู้ชาย และในช่วงวัยรุ่น พบได้น้อยในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี และเนื่องจากเป็นโรคพบบ่อยจากเท้าเปียกน้ำ หรือ จากการลุยน้ำ บ้านเราจึงเรียกว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ส่วนในประเทศที่เจริญแล้ว มักพบบ่อยในนัก กีฬาจากรองเท้าที่เปียกชื้นจากเหงื่อ จึงได้ชื่อว่า “โรคเท้านักกีฬา” (Athlete’s foot)

โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากอะไร?

โรคน้ำกัดเท้าเกิดจากผิวหนังบริเวณเท้าติดเชื้อรา โดยเป็นเชื้อราในกลุ่มเดียวกันกับโรคขี้กลาก (Tinea) ซึ่งได้แก่เชื้อราในสายพันธ์ Dermatophytes ซึ่งมีหลายสายพันธ์ย่อย เชื้อราชนิดนี้ จะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น เปียกน้ำ เปียกเหงื่อ เช่น บนพื้นที่เปียกชื้น จากลุยน้ำท่วมขัง รองเท้า พื้นห้องอาบน้ำโดยเฉพาะห้องอาบน้ำที่ใช้ร่วมกันหลายๆคน และพื้นบริเวณสระว่ายน้ำ เมื่อเดิน หรือ ย่ำบนพื้นดังกล่าว หรือ ใส่รองเท้าที่มีเชื้อราอยู่ เชื้อราจึงรุกรานเข้าสู่ผิวหนัง และก่อโรคน้ำกัดเท้าได้

เชื้อราชนิดนี้ ยังเป็นเชื้อราที่ติดต่อได้จากการใช้ของร่วมกัน เช่น รองเท้า ถุงเท้าที่ไม่สะอาด แต่ติดต่อได้น้อยกว่าจากการใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน เชื้อราชนิดนี้ สามารถทำให้เกิดโรคได้กับผิวหนังส่วนอื่นๆของร่ากายได้ เช่น ที่เล็บ และที่ขาหนีบ

โรคน้ำกัดเท้ามีอาการอย่างไร?

โรคน้ำกัดเท้ามักเกิดตามง่ามเท้า ซึ่งเกิดได้กับทุกง่ามเท้า แต่พบบ่อยกว่า ระหว่างง่ามเท้านิ้วที่ 3 และที่ 4 และที่ 4 และที่ 5 โดยอาการที่พบบ่อย คือ ผิวหนังส่วนเกิดโรคจะ แห้ง ตกสะเก็ด แตกเป็นร่องแผลสด บวม เจ็บ และคัน บางครั้งอาจขึ้นเป็นตุ่มน้ำ และเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนได้ ซึ่งเพิ่มการอักเสบ บวม แดง ร้อน และอาจเกิดเป็นหนองได้ ซึ่งจะส่งผลให้โรครุนแรงขึ้น

แพทย์วินิจฉัยโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?

โดยทั่วไป แพทย์วินิจฉัยโรคน้ำกัดเท้าได้จาก ประวัติการย่ำน้ำ การเล่นกีฬา การใช้รองเท้าร่วมกัน และการตรวจแผลที่เท้า ซึ่งก็สามารถให้การวินิจฉัยโรคได้แล้ว แต่บางครั้ง เมื่อประวัติสัมผัสโรค และ/หรือ ลักษณะแผลไม่ชัดเจน หรือให้การรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจป้าย หรือ ขูดเนื้อเยื่อผิวหนังตำแหน่งเกิดโรคเพื่อการตรวจทางกล้องจุลทรรศน์ หรือ เพื่อการเพาะเชื้อ

รักษาโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคน้ำกัดเท้า คือ การใช้ยารักษาเชื้อราเฉพาะที่บริเวณแผล อาจเป็นยาครีม เจล ขี้ผึ้ง หรือ สเปรย์ ส่วนการทายาบรรเทาอาการคัน ควรต้องระวัง เพราะเมื่อมีส่วนผสมของยาสเตียรอยด์ซ้ำซ้อนที่แผล ซึ่งอาจส่งผลให้แผลมีการอักเสบมากขึ้น และเกิดหนองได้ ซึ่งจำเป็นต้องพบแพทย์ เพื่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

นอกจากนั้น ประมาณ 5% ของผู้ป่วย อาจพบอาการที่เกิดจากการแพ้เชื้อรา ซึ่งเรียกว่า Id reaction ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่า เกิดจากภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายตอบสนองต่อเชื้อ หรือสารบางอย่างที่สร้างจากเชื้อ โดยอาการมักเกิดหลังเกิดโรคน้ำกัดเท้าประมาณ 1 สัปดาห์ โดยเกิดผื่นคันร่วมกับตุ่มน้ำในผิวหนังส่วนต่างๆ แต่มักพบที่ มือ และเท้า (ไม่ใช่ง่ามเท้า) ซึ่งอาการจะดีขึ้น และหายไปเมื่อโรคน้ำกัดเท้าดีขึ้น หรือเมื่อหายจากโรคน้ำกัดเท้า แต่อาการจะไม่ดีขึ้นด้วยการใช้ยาต่างๆ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อเป็นโรคน้ำกัดเท้า ได้แก่

  • ในระยะแรก ปรึกษาเภสัชกร ซื้อยาใช้เองได้
  • รักษาเท้าให้สะอาด และแห้ง
  • ช่วงยังมีแผลไม่ควรสวมรองเท้าปิด หรือ ใส่ถุงเท้า ยกเว้นเมื่อจำเป็น ควรใส่รองเท้าแตะ เมื่อต้องใส่รองเท้า ถุงเท้า หาโอกาสถอดรองเท้าบ่อยๆ เปลี่ยนถุงเท้าบ่อยๆ อย่าให้เปียกชื้น ควรเปลี่ยนรองเท้าเป็นคู่ใหม่ที่แห้งสะอาด
  • ใส่ยาแผลอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ก่อนใสยาล้างเท้า ซอกนิ้วเท้า และแผลให้สะอาดด้วยสบู่อ่อนโยน แล้วเช็ด/ซับให้
  • ระมัดระวังอย่าเกา เชื้ออาจติดมือ อาจก่อการติดเชื้อกับผิวหนังส่วนอื่นได้ ถึงแม้โอกาสเกิดจะน้อยก็ตาม
  • ควรพบแพทย์เมื่อ

  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 -2 สัปดาห์
  • แผลเลวลงหลังดูแลตนเอง
  • ปวดแผลมาก คันมาก แผลบวมมาก และ/หรือ แผลเป็นหนอง
  • มีไข้ร่วมด้วย โดยเฉพาะเมื่อไข้สูง
  • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคน้ำกัดเท้าอย่างไร?

ป้องกันโรคน้ำกัดเท้าได้โดย

  • หลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หรือ รีบล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งหลังย่ำน้ำ
  • รักษาความสะอาดเท้า ล้างให้สะอาดถูสบู่ โดยเฉพาะตามง่ามเท้า อย่างน้อยก่อนนอน
  • สวมรองเท้าแตะในการอาบน้ำเสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องใช้ห้องน้ำ หรือ สระว่ายน้ำร่วมกันหลายคน
  • รักษาความสะอาดรองเท้าเสมอ และต้องดูแลให้แห้ง ดังนั้นควรมีรองเท้าอย่างน้อย 2 คู่ เพื่อสวมสลับกัน ซักด้านในรองเท้าให้สะอาด หรือ ใส่ยา หรือใช้สเปรย์สำหรับรองเท้า ไม่ใช้รองเท้าร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการสวมรองเท้าสาธารณะโดยไม่จำเป็น
  • รักษาความสะอาดถุงเท้า เมื่อเปียกต้องเปลี่ยนเสมอ
  • ไม่ใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น นอกจากนั้น ผ้าเช็ดเท้า และผ้าเช็ดตัว ควรเป็นคนละผืนกัน

บรรณานุกรม

  1. Athlete’s foot http://en.wikipedia.org/wiki/Athlete’s_foot
  2. Hainer, B. (2003). Dermatophyte infections. Am Fam Physician. 67, 101-109.
  3. Id reaction http://emedicine.medscape.com/article/1049760-clinical
  4. Weinstein, A., and Berman, B. (2002). Topical treatment of common superficial tinea infections. Am Fam Physician. 65, 2095-2103.

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์