CLASSROOM MAKEOVER โครงการสร้างองค์ความรู้และพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กผู้พิการทางสายตา โดยที่มาของโครงการ อยู่บนพื้นฐานแนวคิด Developing the best ซึ่งเป็น tagline ที่สะท้อนปรัชญาการทำงานของโกลเด้นแลนด์ ที่ตั้งใจจะพัฒนาและมอบสิ่งที่ดีที่สุดในทุกๆ เรื่อง โดยการเข้าไปพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สำหรับกลุ่ม ผู้พิการทางสายตาครั้งนี้ เป็นการคิดพัฒนาแบบองค์รวม เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กอย่างเต็มที่ และถือเป็นห้องเรียนตัวอย่าง เพื่อให้โรงเรียนผู้พิการทางสายตาทั่วประเทศสามารถนำหลักสูตรนี้ไปปรับใช้ได้ สำหรับโรงเรียนต้นแบบที่โกลเด้นแลนด์เลือกพัฒนาคือ โรงเรียนสอนคนตาบอดพระมหาไถ่พัทยา จ.ชลบุรี
สำหรับโครงการนี้ทางผู้บริหารของบริษัทฯ เล็งเห็นว่า The Best ของแต่ละคนนั้นย่อมแตกต่างกัน ครั้งนี้จึง มอบโอกาสให้แก่ “ผู้พิการทางสายตา” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังขาดโอกาส เพื่อให้พวกเขาสามารถพัฒนาสู่ The Best ของเขาได้ และเป็นการกระตุ้นให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของคนเหล่านี้อีกทางหนึ่ง
คุณธนพล ศิริธนชัย ประธานอำนวยการ บริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงโครงการในครั้งนี้ว่า “โกลเด้นแลนด์เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่มุ่งมั่นพัฒนาสิ่งที่ดีที่สุด ไม่ว่าจะเรื่องโครงการที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงานให้เช่า และล่าสุดกับโครงการมิกซ์ยูส โครงการสามย่านมิตรทาวน์ เราพัฒนาทุกพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ครั้งนี้เราจึงคิดพัฒนาโครงการเพื่อส่งต่อคืนสู่สังคมในรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่เช่นกัน พื้นที่ของเราเป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กผู้พิการทางสายตา โดยเฉพาะเด็กเล็ก บริษัทเล็งเห็นว่าทุกคนเกิดมามีโอกาสไม่เท่ากัน เนื่องจากบางคนเกิดมาแล้วมีความบกพร่อง หรือไม่พร้อมเหมือนคนปกติทั่วๆ ไป แต่เราเชื่อว่าทุกคนสามารถที่จะถูกพัฒนาให้มีศักยภาพ The best ในระดับของเขาได้
โกลเด้นแลนด์จึงได้คิดริเริ่มทำโครงการนี้ขึ้น โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญและชำนาญการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการออกแบบเพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของน้องๆ ให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพให้ดีที่สุดซึ่งการพัฒนาห้องเรียนครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การไปทาสี หรือเอาของเล่น เอาหนังสือไปใส่ แต่เป็นการคิดแบบครอบคลุมครบ 360 องศา ทุกตารางนิ้วของห้องเรียนถูกออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านของเด็กให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป”
สำหรับปัญหาของผู้พิการทางสายตาในประเทศไทย คือมีไม่ถึง 15% ของผู้พิการทางสายตา ที่ได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในการพัฒนาเด็กผู้พิการทางสายตา และสังคมส่วนใหญ่ก็ยังขาดความใส่ใจกับการที่จะพัฒนาศักยภาพของคนกลุ่มนี้ นอกจากนั้นในประเทศไทยเองก็ยังขาดแหล่งความรู้ที่จะมาเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กอย่างถูกวิธี
ซึ่งประเภทของผู้พิการทางสายตา (Type of Blindness) แบ่งเป็น 2 ประเภทด้วยกัน ประเภทแรกตาบอดสนิท (Blindness) ผู้ที่มองเห็นได้น้อยมาก หรือไม่สามารถใช้สายตาให้เป็นประโยชน์ได้ ต้องใช้ประสาทสัมผัสอื่นแทนในการเรียนรู้ หรือทำกิจกรรม ส่วนประเภทที่สอง ตาบอดเลือนราง (Low Vision) ผู้ที่บกพร่องทางการมองเห็นไม่รุนแรง ยังสามารถมองเห็นอักษรพิมพ์ขนาดใหญ่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ประสาทตาจะเสื่อมลงเรื่อยๆ และบอดสนิทในที่สุด หากไม่ได้รับการกระตุ้นการใช้สายตาอย่างถูกวิธี
จากปัญหาเหล่านี้ของเด็กผู้พิการทางสายตา โกลเด้นแลนด์จึงได้มีการจัดทำพื้นที่การเรียนรู้ที่สามารถใช้สอนวิชาในการพัฒนาด้านต่างๆ ประกอบไปด้วย วิชาสัมผัส, วิชาแสง, วิชาลมหายใจ และวิชาเดซิเบรลล์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการเบื้องต้นของเด็กกลุ่มนี้อย่างบูรณาการ เพราะหากเด็กเหล่านี้ได้รับการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นการเสริมสร้างให้เด็กมีพัฒนาไวยิ่งขึ้น
วิชา สัมผัส คุณแบงค์ – เอกฉันท์ เอี่ยมอนันต์วัฒนะ ผู้อำนวยการ บริษัท ครีเอทีฟครูส์ จำกัด สถาปนิกผู้ออกแบบ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า “สำหรับไอเดียการออกแบบที่ทำให้เกิดการออกแบบนี้ขึ้นมามีอยู่ 2 ประเด็น ไอเดียแรก เป็นของผู้อำนวยการโรงเรียน ท่านบอกว่าเด็กตาบอดเรียนรู้ไม่เหมือนเด็กปกติ เด็กปกติจะเริ่มเรียนรู้ จากภาพรวมก่อนเป็นภาพย่อย แต่ถ้าเป็นเด็กตาบอด คือจะกลับกัน คือเขาจะต้องเข้าไปจับก่อน ก็เหมือนเป็นการสแกนส่วนย่อยก่อนถึงจะเห็นเป็นภาพรวม
ส่วนไอเดียที่สอง คือเรื่องหลักสูตรพรีเบรลล์และแนวทางในการใช้ห้องให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้นได้รับการแนะแนวจากพี่สา ที่ปรึกษาเฉพาะทางสำหรับผู้พิการทางสายตา กระทรวงศึกษาธิการ ที่แนะว่าจะทำยังไงให้เด็กกลุ่มนี้ซึ่งเป็นเด็กเล็กผู้บกพร่องทางการมองเห็นวัยก่อนเรียนอักษรเบรลล์ (พรีเบรลล์) สามารถเรียนรู้ไปสู่ The Best ซึ่งคือการเรียนรู้ให้ดีขึ้น แม้ว่าเด็กแต่ละคนจะมีระดับและทักษะการเรียนรู้ที่ต่างกัน หลักสูตรต่างๆ จึงไม่เหมือนกัน แต่ก็สามารถนำหลักสูตรเหล่านี้มาปรับเป็นพื้นฐานในการออกแบบห้องเรียนได้
ตัวห้องเรียนที่ออกแบบนั้น ทางผู้อำนวยการได้เลือกห้องสมุดที่มีผนัง 6 ด้าน ทางเราใช้ความรู้ด้าน การออกแบบผสานกับหลักสูตรพรีเบรลล์ (Pre-Braille) ทำให้ทั้งห้องสามารถใช้เรียนรู้ได้รอบด้าน อันนี้เราก็เริ่มโดยไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ แล้วก็มีผนังให้เด็กไปเกาะกับผนัง เล่นกับผนัง หมุด ตัวหมุดก็จะมีหลักสูตรต่างกัน มีอยู่ 6 แบบตามผนัง 6 ด้าน ตัวหมุดด้านแรก จะเริ่มที่ระเบียงก่อน ตัวหมุดจะมีขนาดเท่าๆกัน แล้วก็เป็นรูปทรงมาตรฐาน ทรงกลม ทรงเหลี่ยม สามเหลี่ยม ผนังที่สอง ก็เป็นเรื่องขนาดเริ่มต่างกัน แล้วก็มีตัวเลขให้นับ ผนังต่อไป ก็จะเป็นตัวหมุดมีเสียงอยู่ข้างใน เพราะว่าพอเราเริ่มจากสัมผัสแล้ว เราก็เริ่มพัฒนาสัมผัสอื่นๆ ที่เด็กมีนอกจากการมองเห็น ก็จะมีสัมผัส ได้ยิน ได้กลิ่น แล้วก็เสียงที่เราใช้ในหมุด ก็จะเป็นของในชีวิตประจำวัน เช่น เกลือ พริกไทย อันนี้ประหลาดใจมาก ที่เด็กสามารถเขย่าพริกไทย เขย่าเกลือ แล้วแยกแยะได้ว่ามันไม่เหมือนกัน”
วิชาแสง อาจารย์อ้อ – ผศ.ดร. วรรณภา พิมพ์วิริยะกุล ไลท์ติ้ง ดีไซเนอร์ กล่าวถึง “สำหรับเด็กสายตาเลือนราง เราจึงสามารถใช้ทฤษฎีสีและแสงมาออกแบบเพื่อเด็กผู้พิการทางสายตาให้เด็กสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัยในสภาพแวดล้อมปกติ โดยเอาแสงมาเป็นเครื่องมือในการช่วยสอนเด็กที่มีการมองเห็นเลือนรางได้ เช่น สามารถเอาสีของแสงมาจับต้องกับวัตถุเพื่อให้เห็นรูปทรงที่แตกต่างออกไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง แสงนับว่ามีศักยภาพเยอะในเรื่องของการช่วยกระตุ้นการใช้ดวงตา ซึ่งเราได้เอาความรู้เรื่องทฤษฎีแสงและสี มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เพื่อสาธิตให้เด็กสายตาเลือนรางจะได้เรียนรู้เรื่องสี เรื่องแสงและรูปทรงไปพร้อมๆ กัน”
วิชาลมหายใจ คุณก้อย – ชลิดา คุณาลัย Scent Designer (นักออกแบบกลิ่น) กล่าวว่า “คนเราทุกคนจะมีประสาทสัมผัสทั้ง 5 ถ้าประสาทสัมผัสอย่างใดอย่างหนึ่งหายไป อีก 4 สัมผัสที่เหลือ จะต้องทำงานให้ดีขึ้น หากน้องๆ มองไม่เห็น เรื่องกลิ่นถือเป็นตัวช่วยสำคัญในการดำรงชีวิตของน้องๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบกลิ่นให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อเป็นการเตือนอันตรายให้กับน้อง และสามารถนำการสูดดมกลิ่นต่างๆ มาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างปลอดภัย”
วิชาเดซิเบรลล์ คุณอู่ – ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท กันตนา ซาวด์ สตูดิโอ จำกัด กล่าวว่า “การเรียนรู้ในการได้ยิน เสมือนเรามอง-เห็นสถานที่นั้นจริงๆ ธรรมชาติของการได้ยินเสียงของมนุษย์ หูซ้ายและขวาเรามีการประมวลผลที่ต่างกัน ไกลแค่ไหน ระยะทางแค่ไหน มาจากทางซ้ายหรือขวา ซึ่งระบบที่เราเลือกบันทึกเสียง เป็นระบบ Binaural recording จำลองความได้ยินของมนุษย์ผ่านความห่างของกระโหลก โดยจะมีหูซ้าย หูขวา มีใบหู แล้วก็ใส่ไมโครโฟนไว้สองข้าง โดยพยายามที่จะทำให้น้องๆ ได้เรียนรู้ ฝึกฝนการใช้ประสาทการได้ยิน เป็นส่วนช่วยในการใช้ชีวิต ผมว่าเสียงเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิต ทำให้น้องๆ ได้ทำอะไรมากขึ้น มีจินตนาการได้กว้างไกลมากขึ้น”
สำหรับโครงการ GOLD GIVING : CLASSROOM MAKEOVER นี้ถือว่าเป็นโครงการที่โกลเด้นแลนด์ตั้งใจทำขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากเหล่าพันธมิตรผู้มีจิตกุศลและชำนาญเรื่องต่างๆ มาร่วมกันพัฒนาห้องเรียนแบบ 360 องศา ให้ใช้งานได้จริงในทุกพื้นที่และทุกส่วนของห้อง เพื่อต่อยอดการเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับผู้พิการทางสายตาให้สามารถออกมาเป็น The Best ที่ดีในสังคมต่อได้ในอนาคต
Clip VDO วิชาสัมผัส
Clip VDO วิชาแสง
Clip VDO วิชาลมหายใจ
Clip VDO เดซิเบรลล์
สามารถติดต่อขอรับคู่มือสำหรับการออกแบบห้องเรียน เพื่อพัฒนาน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ 02-764-6244