ใกล้จะเป็นจริงเข้ามาทุกขณะ สำหรับอภิมหาโปรเจ็กต์สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณพระสมุทรเจดีย์เชื่อม “สมุทรปราการ-สมุทรสาคร” วงเงินลงทุน 5 หมื่นล้านบาท ที่“ทช.-กรมทางหลวงชนบท” จะใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างรูปแบบสะพานแขวนแบบ “สะพานโกลเด้นเกต” มาเป็นโมเดลต้นแบบ เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของประเทศไทยสถานะโครงการล่าสุด “ดรุณ แสงฉาย” อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ขณะนี้ที่ปรึกษากำลังออกแบบรายละเอียดและทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะแล้วเสร็จวันที่ 8 ธ.ค.ปี′59 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการและจัดหางบประมาณหรือแหล่งเงินมาก่อสร้างโครงการ เช่น เงินกู้ เป็นต้น หากได้รับการอนุมัติจะเริ่มก่อสร้างปี′60 แล้วเสร็จปี′64
สำหรับโครงการนี้อยู่ในแผนแม่บทสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 11 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล และผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว คาดว่างบประมาณก่อสร้างจะเกินจาก 5 หมื่นล้านบาท ที่ประเมินไว้แต่แรก อาจจะถึง 7-8 หมื่นล้านบาท เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่ ระยะทาง 60 กม. เชื่อมการเดินทาง 3 จังหวัด จากสมุทรปราการ กรุงเทพฯ และสมุทรสาคร
“งบฯก่อสร้างรอแบบเสร็จปีหน้า ส่วนรูปแบบโครงการอยากจะใช้โมเดลสะพานแขวนโกลเด้นเกต ประเทศอเมริกา มาดำเนินการก่อสร้างให้เป็นแลนด์มาร์กของประเทศไทย”
ทั้งนี้ตามผลการศึกษาเบื้องต้นนั้นประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 49,600 ล้านบาท แยกเป็น ค่าเวนคืนที่ดิน 7,900 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 40,048 ล้านบาท จะมีเวนคืน 256 หลัง และที่ดิน 15,662.3 ไร่ โดยแนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณ ถ.สุขุมวิทสายเก่า ใกล้เมืองโบราณ ผ่านฟาร์มจระเข้ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่าน ถ.สุขสวัสดิ์ ไปเชื่อมกับ ถ.เลียบคลองสรรพสามิต ตัดผ่านป่าชายเลนไปบรรจบกับทางหลวงหมายเลข 35 หรือ ถ.พระรามที่ 2
เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่เป็นทั้งโครงข่ายการคมนาคมเชื่อมการเดินทางและแหล่งท่องเที่ยวยังรวมถึงเชื่อมการขนส่งสินค้าจากนิคมภาคตะวันออก ท่าเรือแหลมฉบังไปยังทวายได้ในอนาคต
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ