แม่น้ำเรสซิเดนท์ และ JLL รุกทำตลาดเพนท์เฮาส์ เจาะกลุ่มเป้าหมายเฉพาะระดับลักชัวรี่ เพราะเห็นโอกาสตลาดที่ซัพพลายมีน้อย ยูนิตเพนท์เฮาส์โตขึ้น 6-7% ต่อปี ทำให้โอกาสของราคาปรับเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาราคาปรับขึ้น 30% จับตา Branded Residence พลิกโฉมอสังหาริมทรัพย์ริมน้ำเจ้าพระยาเป็นซุปเปอร์ลักชัวรี่ ดึงเศรษฐีไทยและต่างประเทศเข้ามาจับจองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
นายเดชา ตั้งสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม่น้ำเรสซิเดนท์ จำกัด ผู้พัฒนาโครงการแม่น้ำเรสซิเดนท์คอนโดมิเนียมหรูบนทำเลโดดเด่นที่สุดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเผยว่า การพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยากลับมามีความคึกคักอีกครั้งอย่างมีนัยยะสำคัญ และจะเปลี่ยนโฉมการอยู่อาศัย วิถีชีวิต การท่องเที่ยว อย่างเห็นได้ชัด ภายหลังการเปิดตัวของโครงการระดับซุปเปอร์ลักชัวรี่ริมน้ำเจ้าพระยาซึ่งจะมีกำหนดแล้วเสร็จปลายปีนี้ ส่งผลให้ตลาดคอนโดฯ ริมน้ำกลับมามีสีสันอย่างมาก และมูลค่าทรัพย์สินปรับตัวสูงขึ้นเทียบเท่าตลาดคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ในเขตศูนย์กลางธุรกิจ ดึงดูดกำลังซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศไหลเข้าพื้นที่ริมแม่น้ำ
“โดยเฉพาะโครงการแม่น้ำเรสซิเดนท์ ซึ่งใช้ห้องเพนท์เฮาส์ของโครงการ เป็นธงนำในการทำการตลาด ด้วยมองว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นตลาดลักชัวรี่จนถึงซุปเปอร์ลักชัวรี่ การเจาะกลุ่มเป้าหมายจึงมีความพิเศษ ด้วยกิจกรรมที่สร้างความชอบให้กับคนเฉพาะกลุ่ม เช่น การจัดงานศิลปะบนเพนท์เฮาส์ แม่น้ำเรสซิเดนท์ จึงได้จัดงาน PENTHOUSE IS ART BY MENAM RESIDENCES ซึ่งเป็นการจัดแสดงผลงานศิลปะจากศิลปินระดับประเทศบนห้องเพนท์เฮาส์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อทำการตลาดที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายที่ชื่นชอบหรือเป็นนักสะสมงานศิลปะ และสะสมห้องเพนท์เฮาส์ ไปในคราวเดียวกัน ซึ่งได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี เนื่องจากทำเลที่ตั้งของโครงการอยู่บนวิวโค้งน้ำที่สวยงามที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยา บวกกับการนำศิลปะมาตกแต่งห้อง นอกจากจะช่วยเพิ่มความสวยงามและเอกลักษณ์ให้กับห้องแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับห้องในระยะยาว การลงทุนแบบนี้เรียกว่า Passion Investment ซึ่งสร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าที่เพิ่มขึ้นในอนาคต” นายเดชากล่าว
ด้านศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ไทยของบริษัทที่ปรึกษาและบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ เจแอลแอล เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2556-2560 ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ โดยรวม มีห้องสูทเพนท์เฮาส์ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 77 ยูนิต หรือประมาณ 6% ต่อปี ส่วนในปีนี้ จะสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วราว 7% หรือ 104 ยูนิต ซึ่งในจำนวนนี้เป็นของโครงการระดับหรู (ลักชัวรี่และซูเปอร์ลักชัวรี่) 43 ยูนิต โดย ณ สิ้นปี ตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ จะมีห้องสูทเพนท์เฮาส์รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,590 ยูนิต แบ่งเป็นยูนิตในโครงการระดับหรูรวม 440 ยูนิต โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เพนท์เฮาส์ในโครงการคอนโดมิเนียมระดับหรูในกรุงเทพฯ มีราคาปรับขึ้นไปแล้วกว่า 30% และยังคงมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อไป โดยเฉพาะในโครงการใหม่
นางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ เจแอลแอล กล่าวว่า ห้องสูทเพนท์เฮาส์ เป็นห้องชุดยูนิตพิเศษที่มักพบเห็นได้เพียงไม่กี่ยูนิตอยู่บนชั้นบนสุดของอาคารคอนโดมิเนียม โดยมักมีขนาดใหญ่พิเศษ และได้รับการออกแบบตกแต่งด้วยวัสดุที่มีความหรูหรากว่ายูนิตอื่นๆ ในอาคารเดียวกัน ซึ่งด้วยข้อจำกัดนี้ ทำให้ห้องสูทเพนท์เฮาส์มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนัก ความพิเศษที่กล่าวมานี้ ทำให้ห้องสูทเพนท์เฮาส์มีราคาต่อยูนิตสูง โดยปัจจุบัน เพนท์เฮาส์มีราคาขายอยู่ระหว่าง 60-300 ล้านบาทต่อยูนิตขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ขนาดยูนิต และชื่อเสียงของโครงการ โดยราคาต่อยูนิตที่สูง จึงทำให้เพนท์เฮาส์มีฐานผู้ซื้อที่แคบกว่าเมื่อเทียบกับผู้ซื้อยูนิตกลุ่มอื่นๆ ส่งผลให้ผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมหลายโครงการไม่มีการทำเพนท์เฮาส์ จึงเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จำกัดการเพิ่มจำนวน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เพนท์เฮาส์สร้างเสร็จใหม่ในช่วงเมื่อไม่นานมานี้และที่มีกำหนดจะสร้างเสร็จในอนาคต ส่วนใหญ่จะอยู่ในโครงการระดับหรู รวมถึงคอนโดที่บริหารโดยแบรนด์โรงแรมที่มีชื่อเสียง (Branded Residence) โครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีกำหนดจะสร้างเสร็จในปลายปีนี้ ได้แก่ โครงการ Four Seasons Private Residences Bangkok, โครงการ Banyan Tree Residences Riverside Bangkok และโครงการ The Residences at Mandarin Oriental (ICONSIAM) ซึ่งด้วยต้นทุนและคุณภาพที่สูงขึ้นของโครงการเหล่านี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ราคาเพนท์เฮาส์เฉลี่ยโดยรวมขยับตัวสูงขึ้นต่อไปอีก
“เชื่อว่าโครงการใหม่ๆ เหล่านี้ จะมีผลทำให้ตลาดคอนโดมีเนียมระดับหรูของกรุงเทพฯ ได้รับความสนใจของผู้ซื้อต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการซื้อเพนท์เฮาส์ระดับหรูไว้เป็นของสะสมด้วยคุณสมบัติพิเศษและจำนวนที่จำกัด ในขณะเดียวกัน คาดว่า เพนท์เฮาส์ในโครงการคอนโดฯ ที่สร้างเสร็จแล้วจะมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นกัน จากความได้เปรียบของต้นทุนการพัฒนาที่ต่ำกว่าโครงการที่จะเปิดใหม่ในอนาคต” นางสุพินท์กล่าว
นางสาวนนท์รภัส พรสินคุณานนท์ หัวหน้าฝ่ายบริการธุรกิจที่พักอาศัย เจแอลแอล กล่าวว่า กลุ่มผู้ซื้อเป็นคนไทยที่มีฐานะดีที่ต้องการที่พักอาศัยในเขตศูนย์กลางธุรกิจสำหรับใช้ในช่วงระหว่างวันทำงาน หรือให้บุตรหลานพักอาศัย ส่วนผู้ซื้อชาวต่างชาติ เป็นผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางเข้ามาพักผ่อนช่วงวันหยุดยาวที่กรุงเทพฯ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ซื้อจากเอเชีย อาทิ ฮ่องกง และจีน โดยเฉพาะชาวจีนที่มีการซื้อไว้ไม่เฉพาะสำหรับใช้เองเท่านั้น แต่ยังมีไว้สำหรับให้ญาติมิตรเข้ามาพักเมื่อเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในกรุงเทพฯอีกด้วย
“ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ พบว่า การลงทุนซื้อเพนท์เฮาส์ไว้สำหรับปล่อยเช่าไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากราคาซื้อขายที่สูง ทำให้ผู้ซื้อไม่อาจคาดหวังผลตอบแทนการลงทุนในระดับที่คุ้มค่าได้ เพนท์เฮาส์ที่มีเสนอให้เช่าอยู่ในขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นยูนิตในโครงการเก่าที่เจ้าของซื้อมาในราคาไม่สูงดังเช่นที่เสนอขายในปัจจุบัน จึงสามารถเสนอค่าเช่าในระดับที่ผู้เช่ามีกำลังในการจ่าย ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่อธิบายว่า เหตุใดผู้ซื้อเพนท์เฮาส์ใหม่ๆ ส่วนใหญ่ ซื้อไว้เพื่อใช้เอง” นางสาวนนท์รภัสกล่าว