วสท.เปิดข้อมูลตึกร้างทั่วกรุง 155 ตึก จากทั้งหมด 245 ตึก ขาดต่อใบอนุญาต เตรียมเสนอมหาดไทยออกกฎกระทรวงฉบับใหม่ แทนฉบับเดิมที่เพิ่งหมดอายุ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ให้สิทธิ์ต่อใบอนุญาตก่อสร้าง-ดัดแปลงอาคารได้ใหม่ ควบจัดหาแหล่งเงินกู้สนับสนุนก่อสร้างตึกให้แล้วเสร็จ หนุนรัฐออกกฎหมายบังคับเจ้าของอาคารต้องรับผิดชอบความปลอดภัยในตึกร้าง
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า จากกรณีพบศพชาว ต่างชาติเสียชีวิตในอาคารร้างย่านเจริญกรุง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเนื่องจากเป็น สถานที่ที่ไม่ควรปล่อยให้บุคคลภายนอกเข้าไป เพราะมีความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยการใช้อาคาร วสท.จึงมีข้อเสนอถึงภาครัฐควรหาวิธีจัดการตึกร้าง
ทั้งนี้ จากการสำรวจปัจจุบันกรุงเทพฯและปริมณฑลมีตึกร้างสร้างก่อนปี 2540 รวม 245 อาคาร มูลค่าก่อสร้างรวม 320,000 ล้านบาท จากข้อมูลเบื้องต้น ในจำนวนนี้ 90 อาคารที่โครงสร้าง ยังแข็งแรง มีการต่อใบอนุญาตก่อสร้าง ตลอดส่วนที่เหลืออีก 155 อาคารขาด ต่ออายุใบอนุญาต หากปล่อยไว้ก็จะ สุ่มเสี่ยงต่อเรื่องความปลอดภัยและทัศนียภาพกรุงเทพฯ
รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วสท. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า วสท.มีข้อเสนอจัดการตึกร้างในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
- เจ้าของตึกต้องรับผิดชอบความปลอดภัยในตัวตึก
- สำรวจและประเมินศักยภาพความมั่นคงของอาคาร
- คัดแยกคุณภาพอาคาร และ
- รัฐบาลควรมีแหล่งเงินทุนให้กู้สนับสนุนก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่า เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2557 กฎหมายที่ให้สิทธิ์อาคารร้างก่อนปี 2540 มาต่อใบอนุญาตก่อสร้าง ได้สิ้นสุดการบังคับใช้ลง โดยมีชื่อเรียกเป็นทางการว่า กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร สำหรับอาคารที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งยังก่อสร้างไม่เสร็จ พ.ศ. 2552 ออกตามความใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2543 ดังนั้น วสท.มีข้อเสนอรัฐบาลให้ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ใช้ทดแทนฉบับเดิม เปิดโอกาสให้เจ้าของตึกร้างมาต่อใบอนุญาตก่อสร้างอาคารได้โดยอาจกำหนดสาระสำคัญใกล้เคียงกฎกระทรวงเดิม ได้แก่
- ต้องเป็นอาคารที่ก่อสร้างก่อนปี 2540 และตอกเสาเข็มก่อสร้างฐานรากแล้วไม่ต่ำกว่า 25%
- ได้สิทธิ์ก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จ ตามกรอบกฎหมายเดิม ณ วันที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างครั้งแรก
- มีวิศวกรตรวจสอบและรับรองความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร
- ยึดระบบความปลอดภัยและแจ้งเตือนอัคคีภัยตามกฎหมายใหม่
ที่มา: ประชาชาติ