558000008795301

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ผู้บริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จัดหารถใหม่ จำนวน 7 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวม 28 ตู้ เพื่อรองรับรถเก่าที่ถึงคิวทยอยซ่อมใหญ่เมื่อวิ่งครบ 1.2 ล้านกิโลเมตร และปริมาณผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 6 หมื่นเที่ยวคน/วัน และมีรถวิ่งให้บริการ 7 ขบวน จากทั้งหมด 9 ขบวน อยู่ระหว่างซ่อม 2 ขบวน จะแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2559

แยกแอร์พอร์ตลิงก์จาก ร.ฟ.ท.

นอกจากนี้ยังเร่งหาข้อสรุปเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินและภาระหนี้มูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาทกับ ร.ฟ.ท.ให้ชัดเจน เพื่อแยกการบริหารงานออกจาก ร.ฟ.ท. แต่ยังคงสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทลูกของ ร.ฟ.ท. คาดว่าจะเสร็จกลางปีหน้า เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน เช่น จัดซื้อจัดจ้าง รายได้ที่ปัจจุบันจะรับเป็นค่าจ้างจาก ร.ฟ.ท. รวมถึงเป็นการเตรียมตัวรองรับการบริหารโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ของ ร.ฟ.ท.ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ (สุวรรณภูมิ-พญาไท-ดอนเมือง)

“ข้อดีการแยกออกมาจากรถไฟ คือ สามารถวัดประสิทธิภาพการดำเนินการตามนโยบายของบริษัทและผลประกอบการได้ ทราบต้นทุนของการเดินรถระบบขนส่งมวลชนที่แท้จริง เพื่อเป็น Benchmark (มาตรฐาน) ให้เอกชนร่วมทุนในอนาคต ในการให้สัมปทานเอกชนมาเดินรถ”
14086897751408689794l

เดินหน้าซื้อรถจีน 7 ขบวน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. เปิดเผยว่า การจัดซื้อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์อีก 7 ขบวน ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2556 อนุมัติให้จัดซื้อด้วยงบประมาณ 4,854 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าตัวรถ 4,413 ล้านบาท และอะไหล่สำรองอีก 10% หรือกว่า 400 ล้านบาท โดยกำหนดคุณสมบัติและเทคนิคตามระบบเดิมของบริษัท ซีเมนส์ จำกัด

ส่วนรถขบวนใหม่มีผู้ผลิตจากประเทศจีนเสนอราคามารายเดียว คือ กลุ่มบริษัท ฉางชุน เรลเวย์ เวฮิเคิลส์ จำกัด (CNR) โดยเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 4,413 ล้านบาทประมาณ 10 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ยตู้ละ 135 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเฉลี่ยอยู่ที่ตู้ละ 157 ล้านบาท โดยจีนจะเป็นคนดีไซน์รูปแบบขบวนรถเอง และผลิตจากโรงงานที่ประเทศจีน แต่ระบบอุปกรณ์หลักเป็นมาตรฐานยุโรป เช่น ระบบเบรก ระบบขับเคลื่อน ระบบรับไฟ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบตัวรถที่จีนเสนอมาจะไม่ต่างจากขบวนรถซีเมนส์เดิม ขณะที่ความจุของผู้โดยสารเท่าเดิมประมาณ 700 คน/ขบวน และรับประกันอายุการใช้งาน 2 ปี

“จะเดินหน้าซื้อรถใหม่ต่อ แม้ว่าจะมีข้อท้วงติงถึงความไม่โปร่งใส หลังมีแค่บริษัทเดียวเสนอราคา จะทำให้มีการล็อกสเป็กหรือไม่ ก็ยืนยันทุกอย่างโปร่งใสและเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะปัจจุบันคนใช้บริการแน่นมาก และเรื่องนี้ก็ล่าช้ามานาน ขณะนี้รอต่อรองราคาอะไหล่ หากได้ข้อสรุป จะส่งเรื่องไปยังสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือ สบน. คาดว่าปลายธันวาคมนี้จะสามารถลงนามการจัดซื้อรถได้ โดยจีนระบุจะส่งมอบให้ภายใน 24 เดือนหรือภายในต้นปี 2561 จะมีรถใหม่มาวิ่งบริการ คาดว่าจะมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 แสนเที่ยวคน/วัน”

ชี้ต้นทุนผลิตถูกกว่า 30-50%

แหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การที่ร.ฟ.ท.ตัดสินใจเลือกบริษัทจีนเนื่องจากต้นทุนถูกและสามารถผลิตได้ตามสเป็กที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นตัวขบวนรถรูปแบบเดียวกับของซีเมนส์ และจีนยอมซื้อกล่องระบบอาณัติสัญญาณของซีเมนส์มาติดไว้บนรถเพื่อวิ่งบนรางเดิมได้ เนื่องจากซีเมนส์ไม่ยอมเปิดให้รถระบบอื่นมาวิ่ง ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ประหยัดต้นทุนไปได้

อย่างไรก็ตาม การที่ซีเมนส์ถอนตัวไม่ยื่นประมูล อาจจะเป็นเพราะว่าจำนวนตู้มีน้อย หากเปิดไลน์การผลิตใหม่จะทำให้ต้นทุนสูงไม่คุ้ม โดยทั่วไปจะต้องมีออร์เดอร์ 100 ตู้ขึ้นไป ทางซัพพลายเออร์ยุโรปถึงจะเปิดไลน์การผลิตมารองรับ ดังนั้นซีเมนส์จึงขายเฉพาะระบบอาณัติสัญญาณให้กับบริษัทจีนเพียงอย่างเดียวสำหรับโครงการนี้

“ต้นทุนการผลิตของจีนถูกกว่าประเทศในยุโรปอย่างน้อย 30-50% เพราะค่าแรงถูก และปัจจุบันจีนมีการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น หลังได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศในยุโรปพร้อมกับได้รับไลเซนส์การผลิต ไม่ว่าจะกำหนดสเป็กแบบไหน โรงงานจีนซึ่งเป็นผู้ซื้อรายใหญ่จากการผลิตจำนวนมาก ก็สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์สำคัญมาประกอบได้ตามข้อกำหนดในทีโออาร์” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

เปิดโฉมใหม่ผลิตที่จีนสเป็กยุโรป

ส่วนรูปแบบขบวนรถใหม่ที่จีนนำเสนอมาในเบื้องต้นจะเป็นทรงเหลี่ยมแบบเดียวกับรถบีทีเอสที่สั่งซื้อจากจีนและคล้ายกับรถซีเมนส์เดิมแต่ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้อีกหากยังไม่พอใจ เนื่องจากบริษัทมองว่ารูปแบบนั้นเป็นรถไฟฟ้าวิ่งในเมืองมากกว่าจะวิ่งนอกเมือง โดยบริษัทอยากจะได้รถไฟหัวจรวดกึ่ง ๆ รถไฟความเร็วสูงซึ่งเป็นแบบเดียวที่จีนผลิตให้ประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ร.ฟ.ท.

สำหรับรถ 7 ขบวนใหม่ จะเป็นรถ City Line (รถไฟฟ้าธรรมดา) ตัวรถเป็นขบวนสีขาวคาดน้ำเงินเหมือนเดิม แต่ภายในตัวรถจะมีระบบอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้น เช่น หลอดไฟLED, ระบบ CCTV, จอ LCD แสดงข้อมูลข่าวสาร, ระบบ WiFi และเพิ่มราวจับ ส่วนเบาะนั่งจะเป็นสีน้ำเงิน จำนวน 50 ที่นั่ง/ตู้ ด้านระบบประตูจะเป็นระบบไฟฟ้า จะไม่มีเสียงดังเวลาปิดและเปิด

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ