KhaosamingCredit Photo: Khaosaming

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิออกแบบโดย Helmut Jahn สถาปนิกชาวเยอรมัน โดยมีหอควบคุมที่สูงเป็นอันดับสองของโลก และอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของโลก  ปัจจุบันเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก (สามารถรองรับเที่ยวบิน 76 เที่ยว/ ชั่วโมง และผู้โดยสาร 45 ล้านคนต่อปี) และศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (สามารถรองรับสินค้าได้ 3 ล้านตัน/ปี)

Suvarnabhumi_Airport_Master_Plan_Development (1)ภาพถ่ายทางอากาศจำลองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเมื่อขยายเต็มศักยภาพ ราวปี พ.ศ. 2573-2583

กว่าจะมาเป็นสุวรรณภูมิฯ

แนวคิดในการก่อสร้าง ท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่สองในกรุงเทพมหานคร เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2503 สมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์  เป็นผลสืบเนื่องมาจากการจัดตั้ง “สภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงคราม และจากการศึกษาของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการสร้าง ท่าอากาศยานพาณิชย์แห่งที่สองในกรุงเทพมหานคร

รัฐบาลจึงเริ่มเวนคืนและจัดซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลานานกว่า 14 ปี ในพื้นที่ต.หนองปรือ, ต.บางโฉลง, และต.ราชาเทวะ อ. บางพลี จ.สมุทรปราการ พื้นที่ที่เวนคืนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองปรือ ทำให้หมู่บ้านหายไปกว่า 7 หมู่ครึ่ง โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ครอบครัวละ 800,000 บาท นอกจากนี้ ยังมีการเคลื่อนย้ายศาสนสถาน 1 แห่ง และโรงเรียนอีก 3 แห่งไปสร้างบริเวณใหม่

รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ให้สัมปทานแก่บริษัทนอร์ททรอปแห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันก่อสร้าง ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จนสัมปทานถูกยกเลิก  ต่อมา รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาแทมส์ เพื่อศึกษาพื้นที่ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ จนเมื่อ พ.ศ. 2521 ก็ได้ข้อสรุปตามเดิมว่า หนองงูเห่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด เมื่อถึง พ.ศ. 2534 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน โดยมติคณะรัฐมนตรี อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้าง ท่าอากาศยานกรุงเทพแห่งที่สอง ณ บริเวณหนองงูเห่า โดยมอบหมายให้ “การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย” เป็นผู้ดำเนินการ

ในปี พ.ศ. 2539 ได้มีการจัดตั้ง บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด แต่หลังจากการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เริ่มขึ้นได้ไม่นาน เกิด “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ทำให้ต้องระงับการก่อสร้างไว้ชั่วคราว  ต่อมาในปี พ.ศ. 2548 มีการโอนหน้าที่อำนวยการก่อสร้างและการจัดการ ให้แก่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งปิดกิจการบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด

Roger RiceCredit Photo: Roger Rice

หลังจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2549 ทางท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ก็ได้คลอดแผนพัฒนาฯ ออกมา โดยจุดประสงค์หลักๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจาก 45 ล้านคน/ปี เป็น 60 ล้านคน/ปี และบรรเทาความแออัดของผู้โดยสาร และเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งโครงการอาศัยวงเงินลงทุนประมาณ 62,503 ล้านบาท และมีระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี

Midfield Satellite Building at Suvarabhumi Airportภาพจำลอง Midfield Satellite Building ของสุวรรณภูมิเฟส 2

ล่าสุดนายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท ได้เปิดเผยถึงแนวทางการดำเนินการพัฒนาท่าอากาศยานประจำปี 2558 โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

Basic RGBคลิกที่ภาพเพื่อขยาย

กลุ่มงานที่ 1 การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 งบประมาณ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยบอร์ด ทอท.ได้ตั้งเป้าหมายที่จะปรับลดงบประมาณลง 1 หมื่นล้านบาท โดยปัจจุบันปรับลดลงได้แล้วประมาณ 5 พันล้านบาท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพสินค้า อุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆ ภายหลังจากราคาน้ำมันปรับตัวลดลง คาดว่าจะปรับลดลงได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้แน่นอน โดยตั้งเป้าเปิดให้บริการเดือนกุมภาพันธ์ 2562

ลุ่มงานที่ 2 การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยให้ปรับเพิ่มความยาวจาก 3,700 เมตร เป็น 4,000 เมตร เพื่อรองรับเครื่องบินให้หลากหลายขึ้น ซึ่งจะต้องนำเสนอกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ต่อไป ปัจจุบันได้ปรับพื้นดินรองรับไว้แล้ว จึงสามารถร่นระยะเวลาการก่อสร้างให้แล้วเสร็จได้เร็วขึ้นประมาณ 8 เดือน ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) คาดว่าจะผ่านได้ในเดือนตุลาคม 2559 ตั้งเป้าก่อสร้างเสร็จเดือนกันยายน 2562 

 กลุ่มที่ 3 เป็นอาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 งบประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท เดิม ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เสนอแนะให้ปรับปรุงแผนการดำเนินงานใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2559 จากนั้นจึงจะมีการก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2562-2563 โดยจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นอีก 20 ล้านคนต่อปี 

ขอบคุณข่าว: ประชาชาติ