ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนในจังหวัดเชียงใหม่คือ “การเดินทางและการขนส่ง” ภายในเขตเมืองและระหว่างเมือง ที่ยังต้องพึ่งรถยนต์ส่วนบุคคล ความหนาแน่นของรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มมากขึ้นทุกวัน จำนวนยานพาหนะเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 9 ต่อปี และมีจำนวนรถจดทะเบียนสะสมภายในจังหวัดมากกว่า 1 ล้านคัน ยังไม่นับรวมรถที่ผ่านเข้าออกตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทางเสียง อากาศ และการสูญเสียพลังงานภาคขนส่ง
ภาพถ่ายโดย Larry Elkins
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจของเมืองเชียงใหม่ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว โดยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเชียงใหม่ปีละ 3-5 ล้านคน พบปัญหาเดียวกันกับการขยายตัวของเมืองอื่น ๆ เช่น การพัฒนาที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้า การทำลายหรือบั่นทอนคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของเมือง มลพิษทางอากาศ การจราจรติดขัด และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ขณะที่การขยายตัวของเมืองในแนวราบ ทำให้เกิดการใช้ที่ดินในวงกว้างขึ้น ขาดแผนแม่บทด้านการขนส่งและจราจร ปัญหาเหล่านี้ส่งผลให้ประชากรในเมืองหันไปใช้ยานพาหนะส่วนตัว ทั้งรถยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้น “โครงการขนส่งอย่างยั่งยืนเมืองเชียงใหม่” จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่เทศบาลนครเชียงใหม่ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และธนาคารโลก ในการวางแผนการจัดการขนส่งและจราจรร่วมกับการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการออกแบบและกำหนดให้มีเส้นทางสำหรับพาหนะที่ ไม่ใช้เครื่องยนต์ (Nonmotorized Transport Route) ด้วย
โครงการนี้ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจำนวน 21 ล้านบาท จากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก โดยจัดสรรงบประมาณทำมาสเตอร์แพลน 9 ล้านบาท และอีก 12 ล้านบาทนำมาพัฒนาพื้นที่นำร่องเพื่อการขนส่งแบบไร้เครื่องยนต์
ขณะนี้โครงการได้ดำเนินมาด้วยระยะเวลากว่า 18 เดือน ก้าวถึงช่วงสุดท้ายกับกิจกรรมในโครงการ 2 ส่วนหลัก คือ การวางแผนการขนส่งและจราจรร่วมกับแผนการจัดการที่ดิน โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งแผนนี้เป็นการวางแผนระยะยาวให้สอดคล้องกับแนวทางในการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ตามรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่วนที่ 2 คือ การออกแบบเส้นทางนำร่องสำหรับยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ในเขตเมืองเก่า ซึ่งมีเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น 8.1 กิโลเมตร และมีการพัฒนาพื้นที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ให้เป็นศูนย์กลางการเดินทางโดยไม่ใช้เครื่องยนต์ รวมถึงจุดให้บริการรถสามล้อเพื่อการท่องเที่ยว และจักรยานสาธารณะแก่นักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป
“ทัศนัย บูรณุปกรณ์” นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชากรในเขตตัวเมืองเชียงใหม่เพิ่มมากขึ้น ทั้งคนที่อยู่อาศัย และคนที่เดินทางเข้ามาทำงานและติดต่อธุระด้านต่าง ๆ ทำให้มีการกระจุกตัวและคับคั่งของปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ ส่งผลให้การจราจรติดขัดมากขึ้นทุกวัน
ทั้งนี้ ปัญหาการจราจรได้เริ่มติดขัดมาตั้งแต่ปี 2549 พื้นที่วิกฤตมากที่สุดคือ เขตคูเมืองเชียงใหม่ และมีการคาดการณ์ว่าปัญหาการจราจรที่ติดขัดนี้จะถึงจุดที่แย่ใน ปี 2572 ในกรณีที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ขณะที่แนวโน้มด้านการจราจรได้เพิ่มขึ้น จากการเดินทาง 2 ล้านเที่ยว/วัน ใน ปี 2549 เป็นการเดินทาง 3.8 ล้านเที่ยว/วัน ในอีก 10 ปีข้างหน้า ส่วนการใช้ที่ดินก็พบว่า ในปี 2543-2554 มีการขยายตัวมากขึ้น มีการสร้างอาคารสูงเพื่อที่อยู่อาศัย เพื่อตอบสนองความต้องการของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแผนการขนส่ง จราจร และผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่จะต้องเชื่อมโยงกัน
ทัศนัยกล่าวว่า โครงการขนส่งอย่างยั่งยืนเมืองเชียงใหม่ จะเป็นโมเดลที่ช่วยแก้ปัญหาความแออัดของเมืองได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะในย่านเขตเมืองเก่าที่ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่นำร่องเพื่อเอื้อต่อการเดินและปั่นจักรยาน ขณะเดียวกันก็เตรียมแผนพัฒนาย่านอื่น ๆ ต่อไป พร้อมทั้งการวางระบบขนส่งมวลชนที่จะเชื่อมโยง การเดินทางได้อย่างเป็นระบบอีกด้วย ซึ่งในอนาคตเชียงใหม่อาจถูกพัฒนาเป็น “เมืองต้นแบบ” สำหรับการเดินทางแบบไร้เครื่องยนต์
นับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งเทศบาลนครเชียงใหม่บอกชัดเจนว่าจะไม่หยุดพัฒนาเมือง แต่จะพัฒนาไปสู่เมืองที่มีการเดินทางสะดวกสบาย และมีระบบเชื่อมต่อของการเดินทางอย่างดีที่สุดในอนาคตอีกเมืองหนึ่งของโลก
ที่มา: Ride a Bike News