DSCN4737

ข่าวสารเรื่องศก .ไทยครึ่งปี 56 ดูเหมือนจะกลายเป็นประเด็นฮิตติดชาร์ทตามหน้าเว็บเพจ หน้าหนังสือหนังสือพิมพ์กันไปแล้ว  ซึ่งเนื้อหาโดยรวมที่ได้ติดตามวิเคราะห์มานั้นดูเหมือนว่าหลายฝ่ายมุ่งประเด็นไปที่ ปากท้องของประชาชน ซึ่งมีตัวเลขของหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นราว 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไปแล้ว ปัญหานี้ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาฯ หนาวๆ ร้อนๆ และระมัดระวังเรื่องการจ่ายเงินดาวน์ และศักยภาพในการกู้ซื้อบ้านของลูกค้ามากขึ้น ส่วนแบงก์รายใหญ่ก็เอาใจช่วย โหมอัดแคมเปญสินเชื่อบ้านกระตุ้นการซื้อบ้านโค้งสุดท้าย

ธปท. ชี้หนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง 80%

อย่างที่ได้เกริ่นไปข้างต้น หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงกว่า 80% ตามผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ได้เตือนมาตลอด ซึ่งล่าสุดระบุชัดว่า สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวรวดเร็วมาก และขณะเดียวกันก็เป็นหนี้เสียในอัตราที่สูงเช่นกัน  ซึ่งหนี้ทั้งสองเป็นภาระระยะยาวผูกพันไปกับครัวเรือน จนกลายเป็นรายจ่ายประจำต่อเนื่องหลายปี อย่างการเช่าซื้อรถยนต์ตามนโยบายรถคันแรกนั้น คนซื้อจะต้องเป็นหนี้อย่างต่ำ 4 ปี หากถือครองไม่ครบตามเกณฑ์ก็จะโดนเรียกเก็บภาษีสรรพาสามิตเวนคืนกลายเป็นซื้อรถแพงไปโดยปริยาย ส่วนการซื้อบ้าน เป็นหนี้อย่างต่ำ 10ปี บางรายนานถึง 30 ปี ทั้งสองปัจจัยชี้ใหเห็นว่าส่งผลถึงกำลังซื้อที่หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งนี้ นายอนุภาพ คูวินิชกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ระบุ ครึ่งปีหลังธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ ครัวเรือน และรถยนต์ เนื่องจากสามส่วนนี้มีความเสี่ยงในการชำระคืนของผู้กู้ และอาจทำให้เกิดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ขึ้นได้ อย่างไรก็ตามแม้การเติบโตของสินเชื่อจะลดลง แต่ก็ยังเชื่อมั่นว่า จะเติบโตในระดับเลขสองหลัก อยู่ที่ระดับ 10-12 % จากครึ่งปีแรกสินเชื่อขยายตัวที่ระดับ 13-14%

บิ๊กแบงก์บุกสินเชื่อบ้าน

อย่างไรก็ตามแม้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการหืดขึ้นคอ แต่แบงก์ใหญ่หลายรายก็ช่วยคัดกรองลูกค้าและยังเดินหน้ากระหน่ำกระตุ้นสินเชื่อบ้านในช่วงนี้อย่างต่อเนื่อง เช่น ค่ายกรุงศรีฯ ก็กำหนดกลยุทธ์เน้นบริษัทชั้นนำซึ่งทำให้แบงก์มีอัตราการเติบโตตามเป้าหมาย และให้ความสำคัญกับการเพิ่มทีมงานเพื่อเข้าถึงผู้ประกอบการแบบไดเร็กเซลมากขึ้น

ส่วน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เสนอสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 1% นาน 1 ปีแรก พร้อมยกเว้นค่าธรรมเนียมอีกเพียบ  รวมถึง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เน้นฐานลูกค้า ไปยังกลุ่มที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดฯ) เป็นหลัก ซึ่งสัดส่วนสินเชื่อของกลุ่มที่อยู่อาศัยนี้ มีสัดส่วนเพียง 15%  ขณะที่แนวราบมีมากถึง 85%  นอกจากนี้ก็ขยายไปถึงตลาดที่อยู่อาศัยมือสองด้วย โดยเข้าไปพัฒนาสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) ที่ธนาคารมีอยู่เพิ่มเติมด้วย

สำหรับ ธนาคารกสิกรไทย เน้นสินเชื่อไปที่กลุ่มลูกค้าตามหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวที่สูง และมีความต้องการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  ซึ่งปัจจุบัน ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อที่อยู่อาศัยต่างจังหวัดที่ 35-37%  ที่เหลืออีก 63-65% เป็นมาร์เก็ตแชร์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ

ด้าน ธนาคารกรุงเทพ  ระบุครึ่งปีแรกสินเชื่อของธนาคารปรับตัวขึ้น 7% จากการขยายฐานลูกค้าใหม่ และลูกค้ารีไฟแนนซ์ ซึ่งธนาคารมีแผนเพิ่มฝ่ายดูแลลูกค้าสินเชื่อโดยเฉพาะเพื่อให้การอนุมัติสินเชื่อมีความรอบคอบมากขึ้น และพัฒนาระบบการอนุมัติสินืเชื่อให้เร็วขึ้น จากเดิมใช้เวลา 5-9 วัน เป็น 4-5 วัน อีกด้วย

ที่มาบางส่วนจาก :  นสพ. กรุงเทพธุรกิจ,ฐานเศรษฐกิจ,โพสต์ทูเดย์ และประชาชาติธุรกิจ