13736167275503

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หารือร่วมกับ พล.ต.อ.อำนาจ อันอาตม์งาม กรรมการบริษัท รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อหาแนวทางการใช้ประโยชน์บริเวณพื้นที่หมอชิต 2 จากแผนเดิม บขส.จะต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อนปี 2562 เพื่อคืนพื้นที่ให้แก่ รฟท.ใช้ประโยชน์ก่อสร้างศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ โดย บขส. จะไปก่อสร้างสถานีบนพื้นที่ขนาด 16.7 ไร่ ซึ่งปจจุบันเป็นพื้นที่จอดรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นสถานีขนส่งขนาดเล็กแทน

พล.ต.อ.อำนาจ กล่าวว่า ผลการหารือวันนี้ได้ข้อสรุปจะมีการปรับแผน เนื่องจากการใช้สถานีขนส่งหมอชิต 2 ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณผู้โดยสารมากขึ้นถึงร้อยละ 50 จากในอดีตสถานีหมอชิต 2 มีผู้ใช้บริการวันละ 100,000 คน แต่ขณะนี้เพิ่มเป็น 150,000 คน ปัจจัยหนึ่งมาจากการจัดระเบียบรถตู้เข้ามาในพื้นที่ รวมทั้งการเดินทางของประชาชนที่หนาแน่นในช่วงนี้ ดังนั้น การหารือกับ รฟท.เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ที่ยั่งยืน สามารถเชื่อมต่อระบบคมนาคมทั้งระบบราง และรถโดยสารเข้าด้วยกัน ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการได้ประโยชน์สูงสุด

สำหรับการปรับแผนนี้ บขส.จะยังคงใช้พื้นที่อาคารสำนักงานปัจจุบันและพื้นที่ชานชาลาสำหรับขาออกของผู้โดยสาร ที่หมอชิต 2 บนเนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ ในการให้บริการในอนาคต โดยจะมีการปรับปรุงพื้นที่ เช่น การทำชานชาลา 2 ชั้น แยกระหว่างขาเข้าและขาออก รวมทั้งปรับปรุงให้พื้นที่สถานีมีความทันสมัยมากขึ้น ซึ่งการพัฒนาตามแผนดังกล่าวได้มีการมอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาของ รฟท.และ บขส.หารือถึงรายละเอียดให้ได้ข้อสรุปใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

ขณะที่นายวุฒิชาติ กล่าวว่า หลังการหารือได้ข้อสรุปฝ่ายบริหาร รฟท.จะมีการนำเสนอข้อมูลให้คณะกรรมการ รฟท.พิจารณา และวันนี้ได้มีการลงพื้นที่จริง เพื่อให้ทราบพื้นที่การใช้งานของสถานีหมอชิต 2 ของ บขส.และพื้นที่ที่จะส่งคืนให้ รฟท.บางส่วน โดยยืนยันว่าการปรับแผน บขส.จะไม่กระทบแผนการใช้ประโยชน์ พื้นที่ก่อสร้างศูนย์ซ่อมสายสีแดง และการส่งมอบพื้นที่ที่อยู่นอกเหนือจาก 50 ไร่ จะคืนให้แก่ รฟท.ตามกำหนดเวลาเดิมภายในปี 2562

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการปรับแผนดังกล่าวของ บขส.และ รฟท.จากข้อมูลบริษัทที่ปรึกษา บขส.ระบุว่า เมื่อยกเลิกการพัฒนาพื้นที่ 16.7 ไร่ ที่เดิมจะก่อสร้างสถานีในพื้นที่ซึ่งจำกัด จึงต้องพัฒนาสถานีเป็นอาคารสูงจะใช้งบประมาณ 1,800 ล้านบาท เมื่อปรับแผนใช้พื้นที่เดิมบนเนื้อที่ 50 ไร่ และปรับปรุงเฉพาะชานชาลาเป็น 2 ชั้น คาดว่าจะใช้งบประมาณ 800-900 ล้านบาทในการดำเนินการ

ที่มา: รายการทั่วฟ้าคมนาคมไทย