ใกล้เข้ามาแล้วนะคะ สำหรับการเข้าสู่ AEC หรือการรวม 10 ประเทศในอาเซียน เพื่อให้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน มีรูปแบบคล้ายๆ กลุ่ม Euro Zone ซึ่งทำให้เรามีอำนาจในการต่อรองกับคู่ค้าได้มากขึ้น รวมทั้งการนำเข้า-ส่งออกของประเทศในอาเซียนก็จะเป็นไปอย่างเสรี วันนี้เราจะพาไปดูภาพรวมของเศรษฐกิจทั้ง 10 ประเทศผ่านเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งก่อนอื่นเราขอขยายความ “เงินเฟ้อ” และความสัมพันธ์ระหว่างระบบเศรษฐกิจให้ฟังคร่าวๆ
เงินเฟ้อคือ?
ความหมายง่ายๆ ของเงินเฟ้อคือ ภาวะที่ข้าวของเครื่องใช้โดยทั่วไปมีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มูลค่าของเงินลดลง เช่นปีที่ผ่านมาเราซื้อไข่โหลละ 100 บาท ปีนี้เราต้องซื้อไข่จำนวนเท่าเดิมด้วยเงิน 105 บาท แสดงว่ามูลค่าของเงินลดลง 5% ปีต่อไปราคาไข่ก็เพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อยๆ
แต่การเพิ่มราคาของสินค้าจะหมายถึงสินค้าทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจ ถ้าขึ้นเพียงอย่างเดียวหรือ 2-3 อย่าง จะไม่ถือว่าเป็นเงินเฟ้อ ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็จะกลายเป็นแรงกระตุ้นผู้ประกอบการ แต่ถ้าเพิ่มขึ้นมากและผันผวน ก็จะก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพ และขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ในประเทศไทยเงินเฟ้อวัดจากอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งเป็นดัชนีที่จัดทำโดย กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยคำนวณจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของราคาสินค้าและบริการต่างๆ ที่ผู้บริโภคซื้อหาเป็นประจำ โดยน้ำหนักของสินค้าและบริการแต่ละรายการ กำหนดจากรูปแบบการใช้จ่ายของครัวเรือนซึ่งได้จากการสำรวจ
สาเหตุของเงินเฟ้อ
1. ต้นทุนสินค้าเพิ่ม (Cost – Push Inflation) ทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาสินค้าขึ้น สาเหตุที่ทำให้ต้นทุนการผลิต*สูงขึ้น อาทิ การเพิ่มของค่าจ้างแรงงาน การเกิดวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ การเพิ่มกำไรของผู้ประกอบการ การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้านำเข้า ซึ่งอาจเพิ่มไปตามภาวะ ตลาดโลก หรือผลของอัตราแลกเปลี่ยน
*ต้นทุนการผลิตคือสิ่งทีใช้พิจารณานโยบายกำหนดราคาสินค้าและบริการ ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นไม่ว่าจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้น หรือราคา วัตถุดิบเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงขึ้นผู้บริโภคต้องใช้เงินมากกว่าเดิม ทำให้ปริมาณเงินที่ไหล เข้าสู่ตลาดมากขึ้น
2. ความต้องการซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น (Demand – Pull Inflation) ประกอบกับสินค้าและบริการนั้นๆ ในตลาดมีไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ขายปรับราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าและบริการอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงิน การดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐบาล และการเพิ่มขึ้นของ demandในต่างประเทศ
ผลกระทบจากเงินเฟ้อ
- รายจ่ายสูงขึ้น ทำให้คนมีอำนาจซื้อน้อยลง มีความสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการได้น้อยลง และอาจทำให้รายได้ที่มีหรือเงินที่หามาได้ไม่เพียงพอกับการยังชีพ
- อัตราเงินเฟ้อยิ่งสูง จะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่หักเงินเฟ้อออก หรือที่เรียกว่า อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง จะมีค่าลดลงไป เนื่องจากดอกเบี้ยที่เราได้รับเอาไปใช้ซื้อของได้น้อยลง ยกตัวอย่าง กรณีที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่หากอัตราเงินเฟ้อหรือราคาเพิ่มขึ้นมา 1% อาจกล่าวได้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงหรือผลตอบแทนสุทธิที่ได้รับจริงๆ อยู่ที่ 0.5% ต่อปี เท่านั้น แต่หากปีต่อไป อัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังเท่าเดิม แต่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปอยู่ที่ 2% อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลายเป็น – 0.5% ต่อปี ซึ่งถือว่ากำลังซื้อของผู้ฝากเงินลดลง ได้ผลตอบแทนติดลบ ทำให้คนไม่อยากออมเงิน และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์และหุ้น ทำให้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นด้วย หากไม่มีความรู้เพียงพอในการบริหารจัดการ ก็อาจทำให้เกิดเป็นหนี้ได้
- เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดขายก็จะลดลง ในขณะเดียวกัน ต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นด้วย ส่งผลให้เจ้าของธุรกิจบางรายอาจตัดสินใจชะลอการผลิต ลดการลงทุนและการจ้างงาน ทำให้ คนตกงานมากขึ้น
- ในภาวะที่คนซื้อของน้อยลง ธุรกิจไม่สามารถขายของได้ การลงทุนเพื่อผลิต สินค้าก็จะชะลอออกไป ทำให้การพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวอาจชะลอลงตาม ไปด้วย
ทั้งนี้จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลเรื่องเงินเฟ้อ คือ
- กระทรวงพาณิชย์ ช่วยในการดูแลราคาสินค้าและบริการ ไม่ให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสหรือเอาเปรียบผู้บริโภค นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ติดตาม รวบรวมข้อมูลราคาสินค้าและบริการที่ผู้บริโภคซื้อเป็นประจำทุกวันจากตลาดและแหล่งจำหน่าย ต่างๆ ทั่วประเทศ นำมาคำนวณจัดทำเป็นดัชนีที่เรียกว่า “ดัชนีราคาผู้บริโภค” เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ ภาวะเงินเฟ้อสามารถวัดได้จากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีดังกล่าว ซึ่งเรียกตัวชี้วัดนี้ว่า “อัตราเงินเฟ้อ”
- ธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินนโยบายการเงินผ่านเครื่องมือที่เรียกว่า “อัตราดอกเบี้ยนโยบาย” เพื่อดูแลเงินเฟ้อ ให้อยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน ซึ่งเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และ ความกินดีอยู่ดีของประชาชน
ความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อกับดอกเบี้ย
ในยามที่เศรษฐกิจร้อนแรง คนมีกำลังในการซื้อเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้น แต่ถ้ารายได้ยังคงเดิม จะทำให้คนซื้อของได้น้อยลง ธปท. มีหน้าที่หลักในการดูแลเสถียรภาพด้านราคา โดยใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์รู้ว่าธปท. ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินปรับสูงขึ้น โดยธปท. จะดูดซับสภาพคล่องหรือดูดเงินออกจากระบบการเงินเพื่อให้ภาวะการเงินตึงตัว ดังนั้นธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะต้องเพิ่มสภาพคล่องของตนเอง โดยการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้สูงขึ้นเพื่อระดมเงินฝากมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามต้นทุนเงินฝากที่สูงขึ้น การที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากสูงขึ้นจะ จูงใจให้คนมาฝากเงินมากขึ้นและใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นก็ทำให้คนกู้เงินน้อยลง เมื่อความต้องการสินค้าและบริการลดลง จะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าลดลง และชะลอเงินเฟ้อ
ในทางกลับกัน หากเศรษฐกิจซบเซา คนไม่อยากใช้จ่าย ราคาสินค้าและบริการปรับลดลง ทำให้ต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงจะทำให้อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารพาณิชย์ลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้คนบริโภค และลงทุนมากขึ้น เมื่อความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น จะส่งผลให้ระดับราคาปรับสูงขึ้นตามไปด้วย
ลองมาดูสถานการณ์เงินเฟ้อระหว่างปี 2010-2015 ของทั้ง 10 ประเทศใน AEC*
ความจริงแล้วเงินเฟ้อ เป็นภาวการณ์ที่ส่งผลในทางบวกต่อสภาวะเศรษฐกิจ เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และการนำเอาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ แต่ต้องเป็นสภาวะเงินเฟ้ออย่างอ่อนเท่านั้น คือเกิดขึ้นได้ไม่เกิน 5% แต่หากเพิ่มขึ้นมากและผันผวนก็จะสร้างความไม่แน่นอนและก่อให้เกิดปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่สามารถควบคุมระดับราคาสินค้าในท้องตลาดได้ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น โดยเฉพาะการครองชีพของประชาชน รวมทั้งการขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม
- ธนาคารกลางแห่งประเทศไทย
- www.tradingeconomics.com