ผ่านมาครึ่งปีกว่าๆ แต่สถานการณ์ต่างๆ ในเมืองไทยแทบจะไม่ดีขึ้นเลย ยอดผู้ติดเชื้อ #Covid19 นับวันจะพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ จากร้อย เป็นพันปลายๆ และมีความเป็นไปได้ที่จะถึงหมื่นในไม่ช้า เช่นเดียวกับสภาพเศรษฐกิจ ตัวเลขหนี้ครัวเรือนสูงสุดในรอบ 8 ปี คิดเป็น 90.5% ของรายได้ประชาชาติ (GDP)
วิกฤตรอบล่าสุด ส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะในมุมของผู้ประกอบการ ซึ่งนอกจากเผชิญความไม่แน่นอนของหนี้ครัวเรือนที่ทำให้กู้ไม่ผ่าน ยังเจอผลกระทบจากการ #ปิดแคมป์คนงาน หยุดงานก่อสร้าง 30 วัน ทำให้ไม่สามารถส่งมอบโครงการ และโอนบ้าน-คอนโดได้ตามกำหนด ประมาณความเสียหายเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 40,000 ลบ.
ข้อมูลของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปี 2564 ยอดจองซื้อบ้าน-คอนโด อยู่ที่ 21,000 หน่วย ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 24.2% ถือว่า*ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี* เช่นเดียวกับการเปิดตัวโครงการใหม่ ที่เข้ามาในตลาด ซึ่งมีเพียง 20,000 หน่วย ลดลง 35% จากปี 2563
เมื่อประเมินสถานการณ์ออกมาแบบนี้ แล้ว #ยอดขาย ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นอย่างไร? เราลองรวบรวม ตัวเลขจาก 8 บริษัทอสังหาฯในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company) มาให้ดูคร่าวๆ ส่วนใหญ่จะใกล้เคียง 50% ของเป้าที่ตั้งไว้* แต่อย่าลืมว่า…นั่นเป็นช่วงก่อน lock down สิ่งที่เราควรจับตาดูหลังจากนี้ คือ สถานการณ์ครึ่งปีหลัง ผลกระทบจากการ #ปิดแคมป์คนงาน ยอดคนทิ้งโอน และ อัตราการปฏิเสธสินเชื่อ ถ้าไม่มีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ อนาคตที่ใกล้เคียงกับ #วิกฤตต้มยำกุ้ง คงอยู่ไม่ไกล
ล่าสุด REIC หรือศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ฯ ได้เปิดเผยความเชื่อมั่นของหลายๆ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ พบว่ายังต่ำกว่าค่ากลาง ต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปี (หรือประมาณ 18 เดือน) และคาดการณ์ว่าจะลดลงอีกในครึ่งปีหลัง หากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ในกทม. – ปริมณฑล Q2/2564
REIC หรือ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ รายงานดัชนีความเชื่อมั่นฯของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ความเชื่อมั่นฯในภาพรวมของธุรกิจ ณ ไตรมาส 2 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 46.4 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงยังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 เป็นระยะเวลาติดต่อกันมาถึง 9 ไตรมาส ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯในครึ่งปีหลังปี 2564 ยังลดลง ซึ่งทั้งบริษัท Listed และ Non-listed มีความเชื่อมั่นฯลดลง โดยเฉพาะบริษัทกลุ่ม Non-listed มีความเชื่อลดลงอย่างมาก ในเรื่อง ยอดขาย ผลประกอบการ การลงทุน และการเปิดโครงการใหม่/เฟสใหม่
ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กล่าวว่า จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในไตรมาส 2 ปี 2564 ยังต่ำกว่าระดับ 50.0 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลงต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เริ่มต้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุม LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาส 2 ปี 2562 ต่อมาในปี 2563 ประเทศไทยต้องประสบกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวทั้งในด้าน Demand-Supply
ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้จนมาถึงไตรมาส 2 ปี 2564 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีความกังวลต่อผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าวทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัท พบว่า ความเชื่อมั่นในภาวะปัจจุบันของผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือ Listed Companies ประจำไตรมาส 2 ปี 2564 มีค่าดัชนีเท่ากับ 51.1 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 และสูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีเพียง 49.4 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่ม บริษัทมหาชน มีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบัน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของยอดขาย การลงทุนใหม่ๆ และการเปิดตัวโครงการใหม่หรือเฟสใหม่ โดยเฉพาะที่เป็นโครงการบ้านจัดสรรเพื่อทดแทนหน่วยที่ได้ขายไปและทดแทนโครงการอาคารชุดที่เปิดตัวลดลง
ขณะที่ผู้ประกอบการกลุ่มผู้ประกอบการนอกตลาดหลักทรัพย์ หรือ Non-listed Companies มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นเท่ากับ 39.3 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีค่าดัชนีอยู่ที่ 41.7 และค่าดัชนียังต่ำกว่าค่ากลางที่ระดับ 50 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการกลุ่มนี้ไม่มีความเชื่อมั่นต่อธุรกิจในภาวะปัจจุบันในทุก ๆ ปัจจัย
ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ H2/2564 หรือครึ่งปีหลัง 2564
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล ในภาพรวมอีก 6 เดือนข้างหน้า พบว่าโดยภาพรวมค่าดัชนีความเชื่อมั่น เท่ากับ 50.5 ลดลงอย่างชัดเจนจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งอยู่ที่ระดับ 58.8 แม้ว่าค่าดัชนียังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แต่มีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการก็ยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอีก 6 เดือนข้างหน้าในเชิงบวกเล็กน้อย อาจเป็นเหตุผลจากการที่รัฐบาลได้ประกาศแผนการเปิดประเทศภายใน 120 วัน หรือประมาณเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งหากสามารถทำได้ตามแผนดังกล่าวก็จะทำให้สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ก็ยังมีความกังวลเรื่องของควบคุมการระบาดของ COVID-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ในปัจจุบัน
เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ประกอบการฯ ตามประเภทบริษัท พบว่า กลุ่มบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Listed Company) มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 6 เดือนข้างหน้าเท่ากับ 55.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 63.6 แม้ว่าก็ยังสูงกว่าค่ากลางที่ระดับ 50.0 แต่จะเห็นได้ว่ามีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย
ขณะที่ผู้ประกอบการฯ กลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ (Non Listed Company) มีค่าดัชนีเท่ากับ 42.7 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 51.5 โดยมีการลดลงอย่างมากในทุกปัจจัย และจะเห็นได้อย่างชัดว่าผู้ประกอบการกลุ่มในกลุ่มนี้ขาดความเชื่อมั่นในธุรกิจในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้าในระดับที่มากกว่าผู้ประกอบการกลุ่มบริษัทมหาชน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความเสียเปรียบในด้านเงินลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ หรือ ขยายเฟสใหม่ และความเชื่อมั่นของผู้ซื้อที่มีต่อชื่อเสียงของบริษัทมหาชนซึ่งมีผลต่อโอกาสและการแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19