สำหรับปี 2563 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นอีก 1 ปีที่ค่อนข้างเหน็ดเหนื่อยสำหรับบริษัทอสังหาฯ ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยต่างๆ มากมายที่เข้ามากระทบ ส่งผลให้เกิดภาพของสงครามราคาของคอนโดพร้อมอยู่ ที่หลาย Developer พร้อมใจกันลดมากกว่า 30% นอกจากนี้ เรายังเห็นภาพของ Supply เปิดขายใหม่ ที่ปรับตัวลดลงกว่า 50% ซึ่งนับว่าต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แล้วปีนี้ล่ะ ตลาดคอนโดปี 2564 จะเป็นอย่างไร ?
Nexus Property ชี้ตลาดอสังหาฯ กรุงเทพฯ ปรับตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี
แม้ทุกปัจจัยล้วนส่งผลกระทบต่อการเปิดตัวโครงการ ราคา และยอดขาย ในปี 2563 แต่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวกันได้ดี โดยทั้งปีสามารถสร้างยอดขายที่ 32,800 หน่วย เมื่อเทียบกับโครงการที่เปิดตัวใหม่จำนวน 20,100 หน่วย ทำให้ตลาดดูมีศักยภาพที่ดีขึ้นในแง่ของยอดขายรวม ส่งผลให้ยอดสะสมคอนโดในตลาดอยู่ที่ 674,100 หน่วย โดยปี 2564 นี้ คาดว่าราคาคอนโดมิเนียมน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา สำหรับตลาดอาคารสำนักงาน อัตราการเช่ายังคงอยู่ที่ 91% ปรับราคาขึ้นเพียง 1% เตือนอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีอาคารสำนักงานสร้างแล้วเสร็จอีก 1.8 ล้านตารางเมตร ผู้ประกอบการควรตั้งรับให้ดี เพราะไลฟ์สไตล์คนทำงานเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว แนะเพิ่มฟังก์ชั่นให้อาคาร คาดธุรกิจให้เช่าพื้นที่ทำ Data Center จะเป็นธุรกิจใหม่ที่มาแรงในอนาคต ในขณะที่ห้างสรรพสินค้าราคาค่าเช่าพื้นที่ยัง ทรงตัว
ตลาดคอนโดมิเนียม
นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (Mrs. Nalinrat Chareonsuphong, Managing Director of Nexus Property Marketing Company Limited) เผยว่า ปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมมีการปรับตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งสาเหตุหลักมีอยู่ 2 ประการ คือ การชะลอตัวของตลาดจากกำลังซื้อที่ลดลงต่อเนื่องจากปี 2562 ผนวกกับสถานการณ์โควิด–19 ทั้งนี้ พบว่าปี 2563 มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นใหม่เพียง 20,100 หน่วย จาก 64 โครงการ คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้น 39% จากอัตราการเพิ่มเฉลี่ยคอนโดมิเนียมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ที่ 51,000 หน่วยต่อปี การเพิ่มขึ้นของคอนโดฯ อีก 20,100 หน่วยนี้ ส่งผลให้คอนโดมิเนียมมีหน่วยสะสมในตลาดทั้งสิ้น 674,100 หน่วย ส่วนสาเหตุการชะลอตัวของอุปทานใหม่ในตลาด ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่เลื่อนการเปิดตัว หรือหยุดโครงการไปถึง 5,800 หน่วย 18 โครงการ คิดเป็น 29% ของคอนโดในตลาดที่เปิดใหม่ปี 2563
จุดเปลี่ยนสำคัญในตลาดในแง่ของอุปทาน คือ ผู้ประกอบการหันมาพัฒนาคอนโดมิเนียมในระดับราคาที่จับต้องได้สำหรับคนไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ต่อเนื่องจากปี 2562 โดยสัดส่วนคอนโดมิเนียมระดับกลาง (mid market) และซิตี้คอนโดมีถึง 60% และตลาดใหม่คอนโดราคาย่อมเยาบนทำเลนอกเมือง (affordable market) ที่มีระดับราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท หรือต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร มีจำนวนถึง 3,600 หน่วย คิดเป็น 18% ของอุปทานใหม่ในปี 2563 เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันลดสัดส่วนคอนโดในระดับไฮเอนด์และลักชัวรี่ลงเป็นอย่างมาก เหลือเพียง 22% ของคอนโดฯ ใหม่ในตลาดทั้งหมด
ทั้งนี้ การพัฒนาสินค้าคอนโดฯ ที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น มีผลโดยตรงกับทำเล โดยในช่วงปีที่ผ่านมา มีคอนโดมิเนียมตลาดใหม่เกิดขึ้นในบริเวณรอบนอกเมือง หรือปริมณฑลที่มีรถไฟฟ้าเข้าถึง ขยายไกลออกจากใจกลางเมือง ทั้งฝั่งเมืองตะวันออก และทางเหนือของกรุงเทพ โดยมีจำนวนหน่วยมากถึง 4,400 ยูนิต โดยสัดส่วนคอนโดมิเนียมในทำเลใหม่นี้ คิดเป็น 21% ของ คอนโดใหม่ทั้งหมดในตลาด สำหรับตลาดรอบใจกลางเมืองนั้น อุปทานที่เพิ่มขึ้นมากที่สุด ยังเป็นบริเวณสุขุมวิทตอนปลาย คิดเป็นประมาณ 20% ของจำนวนคอนโดมิเนียมใหม่ในตลาด ในทางตรงกันข้ามตลาดใจกลางเมืองบริเวณสาทร หลังสวน และสุขุมวิทตอนต้น มีคอนโดใหม่เกิดขึ้นเพียง 11% หรือประมาณ 2,250 หน่วยเท่านั้น
เมื่อพิจารณาในด้านยอดขายพบว่า ในปี 2563 ยอดขายคอนโดมิเนียมในตลาดกรุงเทพ มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 32,800 หน่วย โดยแบ่งเป็นยอดขายจากห้องชุดที่เปิดใหม่ในปี 2563 จำนวน 9,100 หน่วย (คิดเป็นยอดขายเฉลี่ยของห้องชุดที่เปิดใหม่อยู่ที่ 45%) และห้องชุดที่เปิดขายก่อนปี 2563 มียอดขายเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 23,700 หน่วย ทั้งนี้ ยอดขายที่สูงกว่าอุปทานใหม่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราขายรวมในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 93% สำหรับผู้ซื้อส่วนใหญ่ จะเป็นผู้บริโภคที่ซื้อคอนโดเพื่ออยู่อาศัยเอง ผู้ซื้อเพื่อการลงทุนมีในสัดส่วนที่ไม่มาก และการเก็งกำไรแทบจะหายไปจากตลาดอย่างสิ้นเชิง ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่กระตุ้นยอดขาย คือ การลดราคาของผู้ประกอบการนั่นเอง
สำหรับราคาขายคอนโดมิเนียมนั้น มีการปรับตัวลดลงตั้งแต่ครึ่งปีแรกในอัตรา 16% และปรับลดลงอีก 4% ในช่วงไตรมาสที่ 3 ในขณะที่ไตรมาสที่ 4 มีการปรับตัวขึ้นเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบราคาที่ลดลงตลอดทั้งปี พบว่าราคาคอนโดมิเนียมในตลาดลดลงถึง 11% จาก 141,800 บาทต่อตารางเมตรในปี 2562 เป็น 126,900 บาทต่อตารางเมตรในปี 2563 โดยปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับลดลงนั้น มาจากการที่ผู้ประกอบการลดราคาเพื่อระบายสต๊อก และโครงการใหม่ ๆ ที่เปิดตัวเป็นโครงการระดับกลาง และ Affordable Condo ที่ตอบรับกับความสามารถในการซื้อส่วนใหญ่ของคนกรุงเทพมากขึ้นนั่นเอง
แนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2564 นั้น นางนลินรัตน์ เจริญสุพงษ์ คาดการณ์ว่า อุปทานใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2564 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 33,000 – 38,000 หน่วย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากโครงการที่ชะลอการพัฒนาไปในปี 2563 และโครงการที่ผู้ประกอบการซื้อที่ดิน และประกาศแผนพัฒนาไว้แล้ว ซึ่งรวมกันมากกว่า 16,000 หน่วย โดยโครงการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น น่าจะเป็นโครงการขนาดเล็ก และมีราคาขายที่ต่ำลง ทั้งนี้ คาดว่าในครึ่งปีแรกของปี 2564 ความต้องการซื้อคอนโดยังคงอยู่ในระดับต่ำ หากไตรมาสที่ 3 เริ่มมีการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว น่าจะเห็นความต้องการในตลาดเพิ่มขึ้น ความต้องการซื้อจะยังคงอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2563 คือ ในระดับ 30,000 – 35,000 หน่วย ซึ่งจากตัวเลขประมาณการดังกล่าว ทำให้อัตราการขายรวมน่าจะคงอยู่ที่ 93% เท่ากับปี 2563 แต่ระดับราคาเฉลี่ย น่าจะยังปรับลดลงอีก สืบเนื่องจากการลดราคาของโครงการที่สร้างเสร็จ และโครงการใหม่ที่พัฒนาสำหรับตลาดระดับกลางเพิ่มขึ้น
หากจะวิเคราะห์กลยุทธ์ทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย จากการที่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยรวม มีการปรับตัวทั้งเรื่องราคา อุปทาน และอุปสงค์มาตลอดปี เป็นผลทำให้ตลาดมือสอง ค่อนข้างชะลอตัวลง และจากทัศนคติและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในทุกระดับราคา โดยเป็นการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง และหากจะมองถึงกำลังซื้อจากต่างชาตินั้น ในขณะนี้ยังคงนิ่งอยู่ โดยคาดว่าน่าจะมีโอกาสได้เห็นการกลับมาของต่างชาติในช่วงหลังไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
เทรนด์การปรับตัว ในการทำธุรกิจในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา มีปัจจัยกระตุ้นหลายประการ ได้แก่
- ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยโควิด-19 เป็นตัวกระตุ้นสำคัญ
- เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตมากขึ้น
- การที่ประเทศไทยกำลังเตรียมตัวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
กลยุทธ์การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จึงต้องปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่อยู่กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในทุกระยะ แต่การปรับตัวที่รวดเร็ว ก็ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ในเชิงกลยุทธ์ ที่ส่งผลไปถึงราคาขาย อาทิ การปรับตัวโดยการใส่เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าไปในคอนโดฯ แต่ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค (Real Demand) เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ส่งผลกระทบต่อราคาคอนโดมิเนียมด้วย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังคงผันผวน มีความไม่แน่นอน และกำลังซื้อต่ำ เป็นต้น หรือ การปรับตัวโดยการเลือกทำเลในการพัฒนาโครงการ ทั้งนี้ สินค้าที่เน้นการลงทุน ต้องเลือกทำเลที่ดีจริง หรือรอให้ตลาดท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้ง และวัคซีนที่เริ่มใช้งานได้ น่าจะทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและการบินเริ่มกลับมา
สำหรับคอนโดมิเนียม จะทยอยเสร็จปีนี้และภายในปีหน้า จะมีจำนวน 30,300 หน่วย น่าจะยังมีการปรับลดราคาต่อเนื่อง เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ผู้ประกอบการที่หันมาพัฒนาโครงการเพื่อรายได้ระยะยาวจากค่าเช่า (Recurring Income) จะต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อีกครั้ง เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ความต้องการในสินค้าส่วนนี้ลดลงด้วย ผู้ประกอบการควรหันมาพัฒนาสินค้าเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้น
ในส่วนของผู้บริโภคเอง การเลือกซื้อสินค้าต้องดูกำลังซื้อที่แท้จริงของตนเอง การหวังพึ่งรายได้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาจไม่ใช่ทางเลือกในขณะนี้ การพัฒนาศักยภาพปัจจัยบวกในตลาด ยังคงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ และตลาดเงินโลก อยู่ในภาวะที่มีเงินล้นตลาด สามารถทำกำไรจากการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง เป็นผลทำให้มีเงินไหลเข้ามาในตลาดอสังหาริมทรัพย์
Colliers ชวนจับตาคอนโดปี 2564 คาดคอนโดปรับตัวสูจุดสมดุล
สำหรับภาพรวมของตลาดคอนโดมิเนียมเปิดขายใหม่ในกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ.2564แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะยังคงเลือกที่จะเลื่อนการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไป เน้นการพัฒนาโครงการแนวราบทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดยุทธศาสตร์ที่ยังคงมีกำลังซื้อ แต่อย่างไรก็ตามเรามองว่า สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ บางราย อาจจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่บ้างในบางทำเล แต่ ผู้ประกอบการจะต้องควรระมัดระวังในการกำหนดราคาขายซึ่งหากเปิดตัวโครงการขายใหม่ราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาดอาจส่งผลให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อเท่าที่ควร
สำหรับตลาดแนวราบ แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ว่าจะยังคงเป็นตลาดดาวเด่นของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ที่ผู้พัฒนาจะยังคงเดินหน้าเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดยุทศาสตร์ที่สำคัญๆ เนื่องจากอย่างไรก็ตามแม้ใน ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว บ้านก็ยังคงเป็นปัจจัย 4 ที่ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง คาดการณ์ว่า ยอดขายในปี 2564 สำหรับตลาดแนวราบยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนารายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์
แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย คาดการณ์ว่า สำหรับในปี 2564 ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกมากขึ้น หรือในพื้นที่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยเฉพาะช่วงรามคำแหง – ลำสาลี รถไฟฟ้าสายสีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณถนนลาดพร้าวและศรีนครินทร์ และรถไฟฟ้าสายสีชมพู โดยเฉพาะถนนรามอินทรา หรือแม้กระทั้งแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีทองจะเป็นพื้นที่ที่คาดการณ์จะมีการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมคึกคักขึ้นในปี 2564 สำหรับคอนโดมิเนียมในพื้นที่ใจกลางเมืองจะมีการพัฒนาน้อยลงเนื่องจากปัจจุบันยังคงมีอุปทานรอการขายในตลาดอีกเป็นจำนวนมากจากการเปิดตัวอย่างคึกคักในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บวกกับราคาที่ดินที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ผู้ประกอบการเลือกพัฒนาในพื้นที่รอบๆ ใจกลางเมืองมากขึ้นในปีหน้า
สำหรับตลาดแนวราบ กรุงเทพฯตะวันออก โดยเฉพาะทำเลย่านบางนา วงแหวนกาญจนาภิเษก ร่มกล้า กรุงเทพกรีฑาตัดใหม่ จะเป็นทำเลเด่นในการพัฒนาโครงการแนวราบในปีหน้า รวมทั้งจังหวัดยุทธศาสตร์ที่สำคัญโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี
สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมที่ในช่วงระดับราคา 50,001 – 100,000 บาทต่อตารางเมตร จะยังคงเป็นเซกต์เมนต์ ที่น่าจับตามองในปี 2564 เนื่องจาก ในช่วงระดับราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ในภาวะที่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ตามมาด้วยในช่วงราคา 100,001 – 150,000 บาทต่อตารางเมตร ที่และช่วงระดับราคา ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งแผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยคาดการณ์ว่า จากแผนของผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์บางรายยังคงมีแผนที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงราคาขายเฉลี่ยต่ำกว่า 50,000 บาทต่อตารางเมตรทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในพื้นที่ปริมณฑล เพื่อดึงดูดกำลังซื้อในกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์ และกลุ่มนักลงทุนที่เน้นการซื้อเพื่อการปล่อยเช่าในปี 2564 สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมในช่วงระดับราคา มากกว่า 200,000 บาทต่อตารางเมตรขึ้นไป จะเป็นช่วงระดับราคาที่มีการพัฒนาน้อยลงในปีหน้า เนื่องจากเป็นตลาดที่ค่อนข้างแคบ บวกกับกำลังซื้อต่างชาติยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ส่งผลให้คาดการณ์ว่าผู้พัฒนาจะเลือกที่จะพัฒนาสินค้าในเซกต์เมนต์น้อยลงในปี 2564 โดยจะเลือกพัฒนาเฉพาะในทำเลที่มั่นใจในกำลังซื้อเท่านั้น เช่น ย่านทองหล่อ เป็นต้น
สำหรับการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียมโครงการใหม่ในปี 2564 แผนกวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มองว่าจะเป็นอีกปีที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อกลับไปสู่จุดสมดุลของตลาด ในขณะที่การผู้ประกอบการยังคงระมัดระวังในการกำหนดราคาขายมากขึ้นเนื่องจากหากกำหนดราคาขายที่ค่อนข้างสูงกว่าราคาตลาดอาจส่งผลให้โครงการไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ซื้อตามที่คาดการณ์ไว้ แต่หากราคาขายที่เปิดตัวมาต่ำกว่าราคาขายในตลาด รูปแบบโครงการที่น่าสนใจ ทำเลที่ยังที่ดี ยังสามารถกระตุ้นให้กำลังซื้อกลับมามาให้ความสนใจโครงการเป็นจำนวนมาก สวนทางกับภาพรวมตลาดยังคงถือว่าอยู่ในภาวะชะลอตัว
REIC เผย ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการปรับลด หลังจากการระบาดระลอก 2 ของ Covid-19
ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปจากช่วงการสำรวจ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่า การเปิดตัวปี 2564 ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีจำนวนประมาณ 89,000 หน่วย แบ่งเป็นแนวสูง 36,000 -37,000 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 30-40% และแนวราบ 52,000 หน่วย แต่ถ้าโควิดยืดเยื้ออาจจะลดลงอีก 10,000 หน่วย เหลือ 79,000 หน่วย เท่ากับปีนี้จะอยู่ระหว่าง 79,000 -89,000 หน่วย สูงกว่าปี 2563 ที่เปิดรวม 71,500 หน่วย แม้ว่าปีนี้เศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ผู้ประกอบการยังคงต้องเปิดตัวโครงการใหม่ เพราะสต็อกพร่องลงจากปีก่อน
โดยมีการคาดการณ์ผ่านการจำลองหลายสถานการณ์ (Scenario) เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นถึงภาพรวมแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- ระดับดีที่สุด (best) คือ ตลาดจะโต 5-10%
- ระดับกลาง (base) ตลาดทรงตัวบวกลบไม่เกิน 0.5 %
- ระดับแย่ที่สุด (worst) ติดลบ 10 % เท่ากับปี 2563 เท่ากับภาพรวมตลาดทั่วประเทศลดลงถึง 20% ซึ่งรุนแรงพอควร เพราะต่ำสุดในรอบ 5 ปี ใกล้เคียงกับช่วงเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554
มีความเป็นไปได้ว่า ตลาดคอนโดปี 2564 จะติดลบถึง 10 % ซึ่งเป็นจุดที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะปีนี้กำลังซื้อที่อั้นอยู่อาจมีไม่มากเหมือนปีที่แล้ว เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้ต่อเนื่องมานาน ส่งผลให้ดีมานด์ใหม่ของที่อยู่อาศัยได้รับผลกระทบรุนแรง”
สำหรับภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ สามารถเข้าไปอ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่ แนวโน้มตลาดอสังหาปี 2564 ผ่านมุมมองของ ศูนย์ข้อมูล-Plus Property-LPN Wisdom-JLL | thinkofliving.com