real-estate-bubble-with-pin

“กิตติรัตน์” ยันไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่อสังหาฯ ห่วงทุนไหลเข้าปั่นราคา ด้านวงการอสังหาฯประสานเสียง ยังไม่ถึงขั้นฟองสบู่ ต้นเหตุจากราคาที่ดินพุ่งไม่หยุด ส่งผลคอนโดฯ-บ้านขยับตาม เตือนวิกฤติหากทะยานไม่หยุด แนะรัฐบาลหามาตรการเบรกราคาที่ดิน

วานนี้(18 ก.พ.) งานสัมมนาใหญ่ประจำปี “อสังหาริมทรัพย์ ดัชนีหลักชี้เศรษฐกิจปี 2013” จัดโดยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และสมาคมอาคารชุดไทย ได้มีการหยิบยกประเด็นฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ทุกฝ่ายเห็นว่ายังไม่ถึงขั้นเกิดฟองสบู่ เพียงแต่ราคาปรับขึ้นต่อเนื่องมาหลายปี โดยเฉพาะราคาที่ดิน ซึ่งปรับขึ้นทั่วประเทศ เตือนอาจวิกฤติ หากราคาขึ้นจนเกินรายได้

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่ายังไม่เห็นสัญญาณการเกิดฟองสบู่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยปริมาณการก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ถือว่าสอดคล้องกับความต้องการของผู้ซื้อ ขณะที่การระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน ถือเป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันความเสี่ยง

“ภาวะฟองสบู่จะเกิดจากปริมาณทรัพย์สินที่มีจำนวนจำกัด ขณะที่ความต้องการมีมากเกินไปและมาจากสภาพคล่องที่สูง แต่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เห็นปริมาณการก่อสร้างหรือปริมาณการซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งต่อเนื่องมาในทศวรรษที่ผ่านมา ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงจากครอบครัวใหญ่มาเป็นครอบครัวเดี่ยว ทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยมีมากขึ้น”นายกิตติรัตน์กล่าว

ส่วนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการสินเชื่อและนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ของธุรกิจหรือไม่ นายกิตติรัตน์กล่าวว่าในอดีตอาจมีการโยงว่าดอกเบี้ยต่ำและปริมาณเงินมากเป็นเหตุให้เกิดภาวะฟองสบู่ แต่ความจริงแล้ว อัตราดอกเบี้ยสูงก็สามารถเป็นสาเหตุของสบู่ได้เช่นกัน เพราะจะเกิดการดึงเงินทุนจากนอกระบบเศรษฐกิจเข้ามา ทำให้ปริมาณเงินในประเทศสูงขึ้น ฉะนั้น หลักคิดในเรื่องนี้ คือไม่ได้อยู่ที่ดอกเบี้ย แต่อยู่ที่ปริมาณเงินในระดับที่เหมาะสม

“ที่สำคัญ คือ การติดตามปริมาณเงินที่จะเข้ามา ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ก็มีมาตรการในการดูแลและช่วยผลักดันให้เงินทุนไหลออกอย่างคล่องตัว ก็ถือเป็นมาตรการที่ถูกต้อง ทำให้ปริมาณเงินในระบบไม่เพิ่มขึ้น ถ้าปริมาณเงินพอดี เงินก็อาจไหลออกก็ได้”นายกิตติรัตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในแง่มาตรการในการดูแลเงินทุนไหลเข้าควรจะมีมาตรการด้านดอกเบี้ยเพิ่มเติมหรือไม่นั้น นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ได้พูดไปหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งเห็นว่าการดำเนินนโยบายเพื่อดูแลเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีมาตรการหลายด้านประกอบกัน รัฐบาลเองก็ได้เตรียมมาตรการในการดูแล เช่น การชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ส่วนนโยบายการเงินนั้น ก็ต้องช่วยกัน และย้ำว่า ทุกมาตรการมีทั้งข้อดีและเสีย

“คิดว่าเป็นนโยบายที่แบงก์ชาติทำถูก เพราะทำให้ปริมาณเงินไม่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ถ้าปริมาณเงินมากเกินพอดี ก็จะสามารถไหลออกได้ด้วย หลายท่านอาจไม่คุ้นเคย เพราะเคยสบายใจกับเงินไหลเข้าและไม่สบายใจกับเงินไหลออก แต่ย้ำว่า การไหลเข้าออกไม่สำคัญ สำคัญที่ปริมาณเงินพอดีหรือเปล่า ขณะนี้ มีข้อเป็นห่วงปริมาณเงินมากไป การเปิดทางให้เงินออกได้บ้างและชะลอการไหลเข้าด้วย ผมคิดว่า เป็นเรื่องที่เหมาะสมและความกังวลเรื่องฟองสบู่หายไป” นายกิตติรัตน์กล่าว

สมาคมสินเชื่อฯห่วงราคาขึ้นเร็ว

นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูล ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่าค่อนข้างเป็นห่วงการปรับเพิ่ม ขึ้นของราคาอสังหาริมทรัพย์ไทย เพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(2545-2555) ราคาได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง จึงเป็นห่วงว่า อนาคตหากยังเป็นแบบนี้อาจสร้างจุดอ่อนให้กับภาวะเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ไทยได้

“จะเห็นว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มี 2 ช่วงเท่านั้นที่ราคา อสังหาฯ กระตุกไปบ้าง คือ ปี 2551 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ในสหรัฐ และปี 2554 ที่เกิดปัญหาน้ำท่วม ช่วงที่เหลือ ราคาวิ่งขึ้นต่อเนื่องทุกปี ที่ห่วง คือ ถ้าราคายังวิ่งแซงรายได้ของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ในที่สุดคนก็ไม่มีกำลังซื้อ อาจนำไปสู่วิกฤติในระยะต่อไปได้ แม้ขณะนี้จะยังไม่เกิดเป็นฟองสบู่ขึ้นก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่ควรระวังและต้องติดตามดู”นายกิตติกล่าว

แนะรัฐออกมาตรการเบรกราคา

ด้านนายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) กล่าวว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในเวลานี้ หากจะให้ แต่งเป็นบทกลอนคงต้องบอกว่ากำลังเผชิญปัญหา “ที่ดินแพง แรงงานขาด ขนาดเล็ก เค้กก้อนใหม่ รถไฟฟ้า ประชาคมอาเซียน” โดยราคาที่ดินซึ่งแพงขึ้น ถือเป็นปัญหาที่น่าห่วง เพราะราคาได้ปรับขึ้นหลายเท่าตัวในเวลาไม่กี่ปี และไม่ได้ปรับขึ้นเฉพาะในกรุงเทพฯ แต่เป็นการปรับขึ้นทั่วประเทศ

“ที่ดินมีโอกาสที่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ ก็ห่วงว่าราคามันจะขึ้นเร็วเกินไป จึงควรหาทางแตะเบรกกันบ้าง ภาครัฐเองนอกจากมีมาตรการกระตุ้นแล้ว ก็ควรจะมีมาตรการกระตุก บ้างเพื่อไม่ให้ราคาขึ้นเร็วไป”นายสัมมากล่าว

ธปท.ชี้ตลาดไม่สมดุลบางพื้นที่

นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายการเงิน สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยถือว่าแข็งแกร่งพอสมควร โดยการเติบโตในช่วงที่ผ่านมามีคำอธิบายที่รองรับได้ เพียงแต่ในบางพื้นที่อาจพบความไม่สมดุลอยู่บ้าง แต่โดยภาพรวมอยู่ในวิสัยที่ยอมรับได้ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ

สำหรับ การเติบโตของตลาดอสังหาฯนั้น มักผูกโยงกับภาพรวมเศรษฐกิจ ดังนั้น หากเศรษฐกิจยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ตลาดอสังหาฯจะเติบโตได้ต่อเนื่องเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม สินเชื่ออสังหาฯคิดเป็น 17% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งระบบ จึงปฎิเสธไม่ได้ว่าหากเกิดปัญหา ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

“ถ้าเปรียบภาคอสังหาฯ เป็นเหมือนสาวสวย ก็เป็นธรรมดาที่ผู้ปกครองจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าตลาดนี้เป็นอะไรไป จะส่งผล กระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจทั้งประเทศ และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติภาคอสังหาฯ จะเป็นอะไรที่ฟื้นตัวช้าที่สุด”นายทรงธรรมกล่าว

3 สมาคมยันไม่เสี่ยงฟองสบู่

ทางด้านสมาคมอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมอาคารชุดไทย ประเมินทางเดียวกันว่ายังไม่เกิดฟองสบู่

นายอิสระ บุญยัง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยใน ปี 2556 ยังเติบโตต่อเนื่อง โดยสัดส่วนจะเป็นโครงการแนวราบ 40% และแนวสูง 60% คิดเป็นจำนวนกว่า 1 แสนหน่วย

ขณะที่แนวโน้มราคาที่ดินที่ขยับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นผลจากความต้องการสูงขึ้น และข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ทำให้พัฒนาได้น้อย ราคาที่อยู่อาศัยในเมืองจึงสูงขึ้น

“เป็นเหตุผลสำคัญที่มีผลต่อราคาที่อยู่อาศัย ทำให้ราคาขึ้น ไม่ใช่การปั่นราคาจากนักเก็งกำไรเหมือน ยุคปี 2540 หากย้อนกลับไปยุคฟองสบู่ จะเห็นว่าราคา ที่ดิน บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียมปรับขึ้นไปจนผู้ซื้อไม่สามารถซื้อได้ ซึ่งเป็นการขึ้นเพราะมีการเก็งกำไร”

ชี้ภูมิภาคเติบโตสูง

นายอิสระ ยังกล่าวอีกว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคจะเติบโตสูงมากในทุกทำเล โดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ติดกับชายแดน ทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ มุกดาหาร อุบลราชธานี และร้อยเอ็ด จะได้รับผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการลงทุนจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยที่ผ่านมาราคาที่ดินได้ปรับขึ้นราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว

“ที่ผ่านมาตลาดภูมิภาคมีการเติบโตอย่างโดยมี การเติบโตในอัตราเร่ง โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคราม และปราจีนบรี ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่น่าจับตาและน่าลงทุน” นายอิสระ กล่าว

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า คอนโดมิเนียมยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง แต่มั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะฟองสบู่แตก ซึ่งขณะนี้ คอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าช่วงต่อขยายมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น โดยช่วงเฉพาะรอบนอกกรุงเทพฯ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ