สรุปตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 2563 และแนวโน้ม 2564

พรุ่งนี้ก็จะเข้าสู่ปีใหม่ 2564 กันแล้วนะคะ ช่วงปี 2563 ที่ผ่านมาภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ต้นปีก็เจอกับความท้าทายแบบเต็มๆ ทั้งจากสถานการณ์ Covid-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การซื้อขายมีปริมาณที่ลดลง ทำให้ผู้ประกอบการต้องหาวิธีการต่างๆเพื่อสร้างยอดขายยอดโอนให้ได้มากที่สุด เราจึงนำตัวเลขภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงในปี 2563 มาให้ชมกัน เพื่อเป็นข้อมูลให้มองเห็นสภาพตลาดที่อยู่อาศัยว่าจะมีผลต่อการพัฒนาโครงการในอนาคตว่าจะเดินหน้าไปในทิศทางใด เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการผู้บริโภค เราไปดูสรุปสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยกรุงเทพและปริมณฑลที่ผ่านมากันค่ะ

โดยศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้สำรวจข้อมูลอุปสงค์และอุปทานตลาดที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขาย (แต่ละโครงการมีหน่วยเหลือขายมากกว่า 6 หน่วย) รวมโครงการของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) แต่ไม่รวมบ้านเอื้ออาทร ในพื้นที่กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ซึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ได้ทำการสำรวจเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี ปีละ 2 รอบ ได้แก่ รอบครึ่งปีแรก และรอบครึ่งปีหลัง โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2563 มีรายละเอียด ดังนี้

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ REIC

จากการเก็บข้อมูลการเปิดตัวโครงการใหม่ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนโครงการเปิดใหม่ที่ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2561 โดยในพื้นกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2563 มียอดสะสม 9 เดือน พบว่าจำนวนทั้งสิ้น 50,781 หน่วย มูลค่า 228,949 ล้าน บาท มีการปรับตัวลดลง -20.9% ซึ่งจำนวนการลดลงสูงที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเป็นการลดลงของโครงการประเภทอาคารชุดมากถึง 41.8% ในขณะที่โครงการประเภทบ้านจัดสรร มีจำนวนที่เพิ่มขึ้น 3.5%

โดยถ้าแยกเป็นประเภทอาคารชุด 20,089 หน่วย คิดเป็น 39.6% ทาวน์โฮม 19,802 หน่วย 39% บ้านเดี่ยว 5,784 หน่วย คิดเป็น 11.4% บ้านแฝดจำนวน 4,709 หน่วย คิดเป็น 9.3 % และอาคารพาณิชย์ 397 หน่วย คิดเป็น 0.8% จะเห็นว่าในช่วยระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมาโครงการจัดสรรแนวราบยังคงมีการเปิดตัวใหม่มากที่สุดโดยเฉพาะประเภทบ้านทาวน์โฮมที่ยังคงสามารถขายได้และเป็นที่ต้องการของตลาดที่อยู่อาศัย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะด้วยรูปแบบและขนาดของตัวบ้าน ที่เริ่มต้นที่แพ็คเกจราคาไม่แพง ผู้ซื้อสามารถเป็นเจ้าของได้ง่าย เรียกว่าในบางทำเลมีงบประมาณเริ่มต้นเพียง 2 – 3 ล้านบาท ก็สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้แล้ว ซึ่งถ้าเป็นบ้านเดี่ยว หรือบ้านแฝดจะไม่สามารถตั้งราคาเริ่มต้นแบบนี้ได้

โดยกลุ่มราคาโดยภาพรวมทั้งแนวราบและแนวสูง ที่มีการเปิดตัวใหม่สูงสุดจะอยู่ที่ระดับราคา 2.01-3.00 ล้านบาท มีจำนวนถึง 17,557 หน่วย คิดเป็น 34.6% ของหน่วยที่เปิดขายใหม่ทั้งหมด คาดการณ์ว่า ปี 2563 มีแนวโน้มที่จะมีโครงการเปิดตัวใหม่จะลดลงมาอยู่ที่ 71,467 หน่วย ในปี 2563 มีการเปิดตัวใหม่ลดลงจากปีก่อนหน้า 27.3% ซึ่งเป็นการลดลงของโครงการอาคารชุดมากถึง 50% ในขณะที่บ้านจัดสรรเพิ่มขึ้น 1.4%

ด้านทำเลที่มีโครงการเปิดตัวใหม่สะสมมากที่สุดในช่วง 9 เดือนแรก จำนวน 5 ทำเล โดยจากภาพรวมจะเห็นว่าจะกระจายไปในพื้นที่ชานเมืองและปริมณฑลเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะ ในพื้นที่ของจังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ประกอบด้วย

  1. ลำลูกกา-คลองหลวง-ธัญบุรี-หนองเสือ จำนวน 6,153 หน่วย เป็นทำเลที่มีคนอยู่อาศัยเดิมค่อนข้างหนาแน่นอยู่แล้ว โครงการที่เปิดตัวใหม่ในย่านนี้จะเน้นไปที่การขยายตัวของคนในพื้นที่เดิม ทำงานอยู่ใกล้เคียงโดยรอบ มีกลุ่มบ้านราคาจับต้องง่ายให้เลือกเยอะ
  2. เมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 4,677 หน่วย เป็นทำเลชุมชนที่อยู่อาศัย เริ่มมีการขยายตัวสูงมากขึ้น ติดอันดับจากปีก่อนๆ เน้นผู้ซื้อที่เป็นคนทำงานในพื้นที่และใกล้เคียงเป็นหลัก
  3. บางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 4,210 หน่วย เรียกว่าเป็นทำเลที่แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงเปิดให้บริการใช้แล้ว แต่ก็ยังคงมีโครงการใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆอยู่เสมอ รองรับการอยู่อาศัยของคนทางฝั่งนนทบุรีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  4. เมืองนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 3,799 หน่วย เป็นทำเลที่มีรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ผ่านเช่นกัน ปัจจุบันเริ่มการก่อสร้างแล้ว คาดว่าจะเปิดในปี 2564 และถนนแจ้งวัฒนะเองก็เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการและหน่วยงานใหญ่ๆหลายแห่ง จึงทำให้มีปริมาณคนทำงานและมีความต้องการอยู่อาศัยในทำเลนี้อยู่เสมอ
  5. บางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง จำนวน 3,495 หน่วย เป็นทำเลที่เริ่มมีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยมากขึ้น อีกทั้งราคายังถือว่าหยิบจับได้ง่าย โดยเน้นจับกลุ่มคนที่ต้องการขยายครอบครัวและคนทำงานในทำเลนี้โดยเฉพาะ

ที่มา : ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ REIC

อย่างไรก็ตามหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศ บรรเทาภาระ ค่าใช้จ่ายให้ประชาชน และช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ร้านค้ารายย่อยและกลุ่มธุรกิจ SME สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศภาพรวมได้ในระดับหนึ่ง ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการมีการปรับตัวรับกับ สถานการณ์ตลาดที่กำลังซื้อชะลอตัวโดยการลดราคาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของไตรมาส 3 มีจำนวนทั้งสิ้น 93,230 หน่วย มูลค่า 246,066 ล้านบาท มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จากไตรมาสก่อนหน้า  17.1% การโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยสะสม 9 เดือน มีจำนวนทั้งสิ้น 261,855 หน่วย มูลค่า 668,936 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อน -7.9% ซึ่งอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย 5 ปี

ทั้งนี้พบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั่วประเทศ มีจำนวนทั้งสิ้น 180,322 หน่วย มูลค่า 458,280 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า -6.1% ขณะที่อาคารชุด มีจำนวนทั้งสิ้น 81,533 หน่วย มูลค่า 210,656 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้า -11.6% ซึ่งเป็นการติดลบน้อยลงนับเป็นสัญญาณบวกในด้านอุปสงค์ ที่มีการปรับตัวเข้าสู่สถานการณ์ที่ดีขึ้น และยังพบว่าเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ประเภทบ้านใหม่ จำนวนทั้งสิ้น 131,303 หน่วย มูลค่า 425,134 ล้านบาท มีการปรับตัวจากปีก่อนหน้าลดลง-5.5% บ้านในแนวราบประเภทบ้านเดี่ยวมียอดการโอนมากกว่าบ้านประเภททาวน์โฮม ทั้งที่การเปิดตัวโครงการใหม่ทาวน์โฮมนั้นมีการเปิดตัวมากกว่าบ้านเดี่ยว ส่วนบ้านมือสอง จำนวนทั้งสิ้น 130,552 หน่วย มูลค่า 243,802 ล้านบาท การปรับตัวลดลงจากปีก่อนหน้าเช่นกัน

เมื่อพิจารณาในระดับราคาพบว่าบ้านแนวราบทั่วประเทศในกลุ่มราคา 2.01-3.00 ล้านบาท จะมีการโอนกรรมสิทธิ์ สูงที่สุด คิดเป็น 43,335 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 24% ของการโอนกรรมสิทธิ์แนวราบทั้งหมด และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดถึง 31.3% แสดงให้เห็นถึงกลุ่มราคาที่อยู่อาศัยที่ยังได้รับความนิยมและราคาสามารถเข้าถึงได้ในง่ายของผู้ซื้อ รองลงมาจะเป็นกลุ่มช่วงราคา 1.51-2.00 ล้านบาท และ 3.01-5.00 ล้านบาท ในขณะที่ช่วงราคาตำ่ล้าน แม้ในปีนี้ถ้าเทียบกับช่วงราคาอื่นๆจะสามารถโอนได้ดีแต่ถ้าเปรียบเทียบยอดโอนจากปีก่อนๆถือว่ามีอัตราการขยายตัวที่ลดลงเยอะพอสมควรเมื่อเทียบกับช่วงราคาอื่นๆ

เมื่อแยกตามประเภทที่อยู่อาศัยในแนวราบ หน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ สะสม 9 เดือน ปี 2563 ทั่วประเทศ จะพบว่า

  • บ้านเดี่ยว ช่วงราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท จะมียอดโอนมากที่สุด ที่ 27,674 หน่วย รองลงมาคือ ช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ที่ 16,824 หน่วย ลำดับที่ 3 คือช่วงราคา 3.01-5.00 ล้านบาท ที่ 11,029 หน่วย แต่ถ้ามองที่อัตราการขยายตัว ช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท จะมีการขยายตัวมากที่สุดถ้าเทียบกับปีก่อนที่ 12.2% เป็น 54.2%
  • บ้านแฝด ช่วงราคา 3.01-5.00 ล้านบาท จะมียอดโอนมากที่สุด ที่ 4,403 หน่วย รองลงมาคือ ช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท ที่ 3,801 หน่วย ลำดับที่ 3 คือช่วงราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่ 1,968 หน่วย ส่วนอันตราการขยายตัว ช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท และ 3.01-5.00 ล้านบาท จะมีการขยายตัวเทียบกับปีก่อนได้ดีกว่าที่ 25%
  • ทาวน์โฮม ช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท จะมียอดโอนมากที่สุด ที่ 19,105 หน่วย รองลงมาคือ ช่วงราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ที่ 14,218 หน่วย ลำดับที่ 3 คือช่วงราคา 1.51-2.00 ล้านบาท ที่ 13,863 หน่วย ส่วนอันตราการขยายตัว ช่วงราคา 2.01-3.00 ล้านบาท จะมีเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงราคาอื่นๆที่ 24.8% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 14%

ในขณะที่กลุ่มอาคารชุดทั่วประเทศระดับราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มีหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์สูงสุดจำนวน 25,840 หน่วย คิดเป็นสัดส่วน 31.7% ของการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดทั้งหมด แต่เป็นการโอนที่มีอัตราลดลงเมื่อเทียบปีก่อนหน้า -17.6% โดยกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัว สูงสุดของหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดคือระดับราคา 7.51-10.00 ล้านบาท มี อัตราการขยายตัว 6.1%

ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดการณ์ว่า ปี 2563 มีแนวโน้มที่จำนวนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยประมาณ 351,640 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 862,500 ล้านบาท มีการปรับตัวลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า -10.3% และ -7.3% ตามลำดับ

ปี 2564 ตลาดที่อยู่อาศัยจะเป็นอย่างไร ?

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบสัญญาณบวกในไตรมาส 3 ของปี 2563 หลังจากได้รับผลกระทบจากการชัตดาวน์ทั่วประเทศในไตรมาสก่อนหน้า ยอดการโอนกรรมสิทธิ์ ดีกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้า คาดสิ้นปี 2563 อาจมียอดโอนถึง 351,640 หน่วย มูลค่า 862,500 ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี เล็กน้อย ผู้ประกอบการเริ่มความเชื่อมั่นมากขึ้น เริ่มเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 จำนวน 20,965 หน่วย โดยเฉพาะแนวราบหลังเร่งระบายสต๊อกในช่วงที่ผ่านมา

โดยประเมินสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย 2564 ว่า จะค่อยๆ มีการขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของ ปี 2564 ซึ่งเป็นการฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ โดยคาดว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์อยู่ระหว่าง 353,236 – 383,272 หน่วย มีมูลค่า 876,121 – 950,591 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าจะมีโครงการเปิดตัวใหม่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในปี 2564 เพิ่มเป็น 88,828 – 102,151 หน่วย มีมูลค่า 400,306 – 448,559 ล้านบาท

การกระตุ้นอสังหาฯแบบไหนบ้างที่จะมาช่วยได้ ?

ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในด้านอสังหาฯ ต่างก็พยายามหาแนวทางเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของตลาดที่อยู่อาศัย โดยล่าสุดมี 5 ข้อเรียกร้องจาก 3 สมาคม ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ข้อให้ภาครัฐออกมาตรการดูแลภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่

  • ลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ลงถึงอัตราต่ำสุดเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยในทุกประเภท ทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยใหม่ และบ้านมือสอง
  • ยกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีกำลังซื้อสามารถซื้อที่อยู่อาศัยเพื่อการลงทุนได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าทุกสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance) มีระบบการพิจารณาที่เข้มงวดอยู่แล้ว
  • ขยายการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ออกไปอีก 2 ปี เพื่อช่วยบรรเทาภาระให้กับประชาชน และผู้ประกอบการทั่วประเทศ
  • ผู้ซื้อห้องชุดชาวต่างชาติได้รับวีซ่า โดยมีระยะเวลาตามมูลค่าของห้องชุด
    – มูลค่า 3-5 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 5 ปี
    – มูลค่า 5-10 ล้าน ต่อห้อง ได้รับวีซ่าเป็นเวลา 10 ปี
    – มูลค่าเกิน 10 ล้านต่อห้อง ได้รับสิทธิมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย
  • โครงการบ้านดีมีดาวน์ มาตรการลดภาระการซื้อที่อยู่อาศัย ที่ภาครัฐสนับสนุนเงินลดภาระการผ่อนดาวน์ในรูปแบบของ Cash Back ให้กับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยกลับมาใช้อีกครั้ง และขอเพิ่มวงเงินจากเดิม 50,000 บาท ต่อราย เป็น 100,000 บาท ต่อราย เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้มากขึ้น เป็นระยะเวลา 1 ปี

กระแสตอบรับของรัฐบาลจาก 5 ข้อเสนอกระตุ้นอสังหา 

ซึ่งหากนำมาพิจารณาว่าข้อเสนอหลายๆข้อที่กล่าวมา จะพบว่ามีแนวโน้มที่จะ เป็นไปไม่ได้ และไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ เพราะมีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น

  • การลดค่าโอน-จดจำนองสำหรับบ้านทุกระดับราคา เดิมทีมาตรการนี้ จำกัดอยู่ที่บ้านระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท และกำลังจะหมดเขตในวันที่ 24 ธ.ค. 2563 แต่ก็ยังไม่มีเสียงความชัดเจนจากรัฐบาลว่าจะสามารถต่อได้หรือไม่ ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า ความเป็นไปได้ที่มาตรการนี้จะได้ไปต่อค่อนข้างต่ำ
  • การยกเลิก LTV ก่อนหน้านี้ทางสมาคมพยายามเรียกร้องให้ปลดล็อคมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่ก็ไม่สำเร็จ ซึ่งแม้ว่าจะเจอกับ Covid-19 ก็ไม่ได้ทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยอมเปลี่ยนใจ โดยล่าสุดได้ออกมาปฏิเสธและให้เหตุผลว่ามาตรการนี้ไม่ได้ส่งผลต่อการซื้อบ้านหลังแรกสำหรับกลุ่ม Real Demand หากพิจารณายอดปล่อยสินเชื่อที่โตขึ้นเรื่อยๆ
  • การลดภาษีที่ดิน 90% ปี 2563 เป็นปีแรกที่เริ่มมีการเก็บภาษีที่ดิน ซึ่งผลกระทบของ Covid-19 ทำให้กระทรวงการคลังตัดสินใจลดค่าภาษีที่ดินเป็นระยะเวลา 1 ปี และยังไม่มีเสียงตอบรับว่าจะต่อไปอีกปีหรือไม่ แต่ดูจากความเป็นไปได้ ค่อนข้างยาก

จากทั้งหมด 5 ข้อ ที่กล่าวมานั้น ข้อที่ดูแล้วมีแนวโน้มเป็นไปได้ เป็นความหวังสำหรับปีนี้ คือ การให้วีซ่าชาวต่างชาติ โดยตอนนี้มาตรการกระตุ้นอสังหาอันเดียวที่รัฐบาลให้ได้คือ การเรียกกำลังซื้อต่างชาติ ผ่าน Elite card ซึ่งที่วางไว้มี 2 โปรแกรม ได้แก่

  • Elite Flexible One (active) ซื้อคอนโด freehold ในบริษัทที่รวม mou ครบ 10 ล้านบาท แล้วจ่ายอีก 500,000 บาท รับไปเลย elite card พร้อมวีซ่า 5 ปี (จากเดิมคนต่างชาติอยู่ได้ 3 เดือน) ซึ่งมีหลายบริษัทให้ความสนใจ เช่น Raimon, Noble, Supalai, Sansiri และกำลังมีแผนขยายไปโครงการ Leased hold อย่าง Four Season โดยมีแผนจะคุยกับภาครัฐบาล ให้ปรับสิทธิ์ในการถือ Freehold เป็น 60-90 ปี
  • Elite Flexible Plus (หารือกับภาครัฐอยู่) ลงทุนในไทย เปิดบริษัท หุ้น อสังหา พันธบัตร etc มากกว่า 1 ล้านเหรียญ หรือ 33 ล้านบาท มีสิทธิ์ได้  Work Permit และวีซ่า 10 ปี

นอกจากนี้ในช่วงสิ้นปี 2563 ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังคงต้องการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือให้ประชาชน เน้นไปที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยเฉพาะ เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง พร้อมกับกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการออกโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม พร้อมลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน ได้แก่

  • โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของ ธอส. มีวงเงินอนุมัติเต็มกรอบวงเงินโครงการ 50,000 ล้านบาท
  • โครงการบ้านล้านหลัง มียอดอนุมัติแล้วจำนวน 29,747 ล้านบาท โครงการบ้าน ธอส. เราไม่ทิ้งกัน มียอดอนุมัติแล้วจำนวน 29,285 ล้านบาท
  • โครงการบ้าน ธอส. เพื่อสานรัก มียอดอนุมัติ 19,220 ล้านบาท

ตลอดทั้งปีที่ผ่านมาแม้จะเจอกับ Covid-19 แต่ก็ยังมีโครงการเปิดตัวใหม่ออกมาให้เห็นโดยเฉพาะโครงการแนวราบที่เปิดตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนนึงมาจากผู้ซื้อส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่ม Real Demand ที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัยจริงอยู่ ตลอดปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงที่มีการปรับราคาทั้งบ้านและคอนโดมิเนียม ที่เรียกว่าลดราคาแทบจะเท่าราคาเปิดตัว Pre-Sale เลยก็มี  ประกอบกับทาง Developer เองได้ออกแคมเปญหรือโปรโมชันเพื่อดึงดูดลูกค้าด้วย เช่น อยู่ฟรี 2 ปี, ปรับลดราคาขายหลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาท, แถมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ, ฟรีค่าใช้จ่ายวันโอน หากใครที่กำลังอยู่ในช่วงมองหาบ้านก็ถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่ได้ราคาดีสุดๆเช่นกัน

สำหรับกลุ่มนักลงทุนยังคงชะลอตัวโดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนชาวต่างชาติที่เรียกว่าหายไปเกินกว่าครึ่ง ทำให้ต้องกลับมาเน้นการขายกลุ่มลูกค้าชาวไทยมากขึ้น แม้คาดการณ์กันว่าในปี 2564 จะมีแนวโน้มที่น่าจะค่อยๆดีขึ้น กำลังซื้อน่าจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ผู้ประกอบการมีการปรับตัวมาตลอดปีที่ผ่านมา ทั้งการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เลือกประเภทสินค้าและราคาต้องตรงกับกลุ่มผู้ซื้อ และเน้นการขายโดยใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น แต่ก็ยังจะเป็นปีที่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ หากยังอยู่ในสถานการณ์ Covid-19 ต่อไปแบบยืดเยื้อ ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอย ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้เงินมากขึ้น ก็จะส่งผลถึงการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยได้เช่นกัน

Source of Information :


ThinkofLiving มี LINE Official Account แล้วนะคะ
ไม่อยากพลาดข้อมูลข่าวสารก็ Add เลย > https://lin.ee/svACOxc