ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัยแนะเพิ่มเงินดาวน์ซื้อบ้าน สกัดฟองสบู่อสังหาฯ
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ความกังวลในปัญหาฟองสบู่ในขณะนี้แตกต่างจากปี 2540 ที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เช่นผู้ประกอบการใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพียง 4% ต่อจีดีพีเท่านั้น แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือหนี้ภาคครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงถึง 50% ต่อจีดีพี โดยในนั้นเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย 20% แม้ว่าสังคมไทยจะเปลี่ยนไปและเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นก็ตาม แต่หนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปถึงจุดที่ปัจจัยแวดล้อมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการยุติคิวอี 3 ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นกลางปี 2557 อัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้น ทำให้ 2-3 ปี ข้างหน้าอาจมีความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ดังนั้นควรเข้มงวดตั้งแต่ตอนนี้จะดีกว่า
ส่วนการไหลเข้าของเงินทุนจนเกิดความกังวลเรื่องฟองสบู่นั้น แนวทางการจัดการของภาครัฐจะต้องระบุปัญหาให้ชัดว่ามองความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างไร เพื่อกำหนดมาตรการที่จะออกมาได้อย่างตรงจุด
“หากซื้ออสังหาริมทรัพย์ด้วยเงินออมจะไม่น่าเป็นห่วงเลย ที่ห่วงคือการก่อหนี้ระยะยาว ที่จะเป็นความเสี่ยงกับผู้กู้รายย่อยมากกว่าผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการออกมาตรการมาเพื่อคุมไม่ให้สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจนเกิดความไม่ยั่งยืนอาจต้องพิจารณามากขึ้น ส่วนการลงทุน 2 ล้านล้านบาท อาจจะทำให้เกิดการแข่งขันดึงสภาพคล่อง แต่เชื่อว่าธปท.ดูแลได้ ขณะเดียวกันทางการต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนว่าจะมองความเสี่ยงยังไงและจะต้องเดินยังไง”
นายกิตติ พัฒนพงศ์พิบูลย์ ประธานสมาคมสินเชื่อที่อยู่อาศัย กล่าวว่า แนวโน้มการขยายสินเชื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้คคาดว่าจะขยายตัวได้มากกว่า 15-20% ตามแนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการขยายโครงการไปตามแนวรถไฟฟ้า ประกอบกับการบริโภคยังเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องจับตาเรื่องเงินทุนที่ไหลเข้าจากต่างประเทศ และการลงุทนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ 2.2 ล้านบ้านบาทจะมีผลต่อภาคอสังหามากขึ้นในปีนี้ อย่างไรก็ตามยังไม่กังวลว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะเกิดภาวะฟองสบู่ เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปลายปี 2554 ที่กำลังซื้อเริ่มกลับมา
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐต้องการชะลอความร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อป้องกันฟองสบู่ในอนาคตนั้นสามารถใช้มาตรการเพิ่มเงินดาวน์สำหรับผู้ที่กู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 เป็น 30% จากเดิมที่ธปท.กำหนดอัตราเงินดาวน์ขั้นต่ำไว้ที่ 5-10% เนื่องจากการซื้อบ้านหลังที่ 2 ได้แสดงว่าเป็นผู้ที่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ซื้อบ้านหลังแรกและคอนโดสามารถปรับเพิ่มเป็น 20% ได้ เพื่อชะลอความร้อนแรงและลดการแข่งขันของสถาบันการเงินไม่ให้มีมากเกินไป ทั้งนี้ควรเป็นมาตรการที่มีเวลาในการปรับตัวประมาณ 6 -12 เดือน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ