สภาวิศวกรนำคณะผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบเหตุเครนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดงถล่มระหว่างการก่อสร้าง เตรียมเรียกวิศวกรที่เกี่ยวข้องให้ถ้อยคำ เพื่อดำเนินการทางจรรยาบรรณต่อไป ตั้ง 4 ประเด็นสาเหตุเบื้องต้น พร้อมย้ำ หากพบว่าวิศวกรไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการออกแบบหรือก่อสร้าง จะมีบทลงโทษขั้นสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และหากไม่มีวิศวกรคุมการก่อสร้างก็จะถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ. วิศวกร 2542 ที่มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี
ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการสภาวิศวกร เปิดเผยว่า จากกรณีเกิดอุบัติเหตุเครนก่อสร้างโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ถล่มระหว่างการก่อสร้าง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 รายนั้น ขณะนี้ความคืบหน้าในส่วนของสภาวิศวกร ซึ่งทำหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่วิศวกร ได้นำคณะผู้ชำนาญการพิเศษจากสภาวิศวกร ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบกรณีดังกล่าวร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา
พบว่าการก่อสร้างดังกล่าวเป็นการก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเข้าข่ายเป็นงานวิศวกรรมควบคุม ตาม พระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ.2542 จำเป็นต้องมีวิศวกรโยธาที่ได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร ทำการออกแบบโครงเหล็ก และทำการควบคุมการก่อสร้างประจำที่สถานที่ก่อสร้าง ทั้งนี้สภาวิศวกรจะเรียกวิศวกรที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำและจะดำเนินการทางจรรยาบรรณต่อไป หากพบว่าวิศวกรไม่ปฏิบัติตามหลักวิชาการไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการออกแบบหรือก่อสร้าง จะมีบทลงโทษขั้นสูงสุดคือ เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม และหากไม่มีวิศวกรคุมการก่อสร้างก็จะถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ. วิศวกร 2542 ที่มีบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีอีกด้วย
สำหรับการดำเนินการทางจรรยาบรรณของสภาวิศวกร จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเข้ามาสอบสวนสาเหตุที่เกิดขึ้นว่าโครงเหล็กดังกล่าวร่วงลงมาได้อย่างไร และมีการปฏิบัติที่ผิดไปจากหลักปฏิบัติทางวิศวกรรมหรือไม่ และวิศวกรผู้ใดจะต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ดังกล่าว โดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ ได้ตั้งประเด็นสาเหตุเบื้องต้นไว้ 4 ประเด็นคือ
- การออกแบบการยึดโครงเหล็กเข้ากับหัวเสาถูกต้องหรือไม่ เนื่องจากพบการขาดของเหล็ก PT bar จำนวน 3 เส้น ในระหว่างการเคลื่อนที่ของเครน ตลอดจนเครนดังกล่าวถูกออกแบบมาให้เคลื่อนที่ทั้งไปและกลับ หรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียว อีกทั้งช่วงที่เกิดการถล่มนั้นเป็นช่วงที่มีการลดระดับลง ได้มีการคำนึงถึงการเลื่อนตัวและแรงที่อาจต้องใช้มากกว่าปกติในการขยับขึ้นหรือลงหรือไม่
- การก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ มีการขันยึด PT bar ให้เข้ากับหัวเสาอย่างแน่นหนาหรือไม่ ขั้นตอนการก่อสร้างถูกต้องตามMethod statement ที่กำหนดไว้ และเป็นไปตามที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่
- มีการกำหนดระบบป้องกันอื่นกรณีที่ PT bar ขาดหรือไม่ เช่น มีการเสริม shear pin หรือระบบสำรองใดที่จะยึดโครงเหล็กดังกล่าวมิให้ร่วงลงมา
- วัสดุเช่น PT bar เป็นวัสดุที่ได้มาตรฐานและมีกำลังรับน้ำหนักเป็นไปตามที่ออกแบบหรือไม่
ศ.ดร. อมร พิมานมาศ ระบุต่อไปว่าสภาวิศวกร จะดำเนินการสอบสวนทั้ง 4 ประเด็น โดยยังไม่ตัดประเด็นใดประเด็นหนึ่งออกไป ทั้งนี้ความปลอดภัยของการก่อสร้างระบบรางเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นการก่อสร้างเหนือผิวจราจรที่มีการสัญจรของประชาชน สภาวิศวกรไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นซ้ำอีก จึงจะจัดให้มีการประชุมเสวนาระดมสมองเพื่อกำหนดมาตรการความปลอดภัยในการออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างระบบราง ในวันที่ 5 พค. เวลา 9:00-12:00 และจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่วนมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัทผู้รับเหมา บริษัทผู้ออกแบบ ทั้งหมดเพื่อเข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว เพื่อกำหนดออกมาเป็นหลักเกณฑ์หรือแนวทางหรือมาตรฐานความปลอดภัยในการก่อสร้างระบบรางต่อไป และมีการควบคุมกระบวนการก่อสร้างที่มีมาตรฐานเข้มข้นมากขึ้น