หนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่พุ่งสูงกว่า 90% และปัจจัยด้านลบที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้จาก Covid-19 กระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจ และความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ทำให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้าน ส่งผลให้จำนวนคนกู้ซื้อบ้านลดลง
ประเด็นหลักที่สถาบันการเงิน ใช้ในการพิจารณาอนุมัติ สินเชื่อบ้านคือ เสถียรภาพทางการเงิน และความมั่นคงทางอาชีพของผู้กู้ ช่วงก่อนสถานการณ์ Covid-19 อัตราการปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 30-50% แต่ในปี 2563 อัตราการปฏิเสธสินเชื่อพุ่งสูงถึง 70% ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์แบบนี้ ทำให้มีเพียงคนจำนวนน้อยที่มีความสามารถในการขอสินเชื่อบ้าน
สินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ปี 2564
อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอสังหา (REIC) ด้านข้อมูลสินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั่วประเทศช่วงครึ่งแรกปี 2564 มีจำนวน 294,959 ล้านบาท และ มีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศ 4,376,788 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเดียวกันของปี 2563 มีจำนวน 280,037 ล้านบาท และมีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างทั่วประเทศ 4,098,805 ล้านบาท
ศูนย์ข้อมูลฯคาดการณ์ภาพรวมสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลปล่อยใหม่ทั่วประเทศปี 2564 จะมีมูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยประมาณ 586,040 ล้านบาท ลดลงจากปี 2563 ประมาณ 4.3% และมีจำนวนสินเชื่อที่อยู่อาศัยบุคคลคงค้างทั่วประเทศประมาณ 4,523,597 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ประมาณ 6.1 %
โดยธอส. ครองแชมป์ธนาคารที่มีสินเชื่อบ้านคงค้างเยอะที่สุด 1,375,663 ลบ. คิดเป็น 30%
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 106,231 ล้านบาท 69,705 บัญชี เพิ่มขึ้น 5.20% จากช่วงเดียวกันของปี 2563 สินเชื่อคงค้างรวม 1,375,663 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,441,928 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.31% ของยอดสินเชื่อรวม ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 104,390 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 176.13% พร้อมเร่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ล่าสุดมีลูกค้าได้รับความช่วยเหลือผ่านทั้ง 18 มาตรการของ ธอส. ตั้งแต่ปี 63 ถึงปัจจุบันเป็นจำนวนรวมสูงสุดมากกว่า 925,000 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 796,500 ล้านบาท
ที่มา: ธอส.