บรรดามหานครต่างๆ ล้วนมีการสร้างทางเดินลอยฟ้า หรือ Skywalk ในย่านสำคัญๆ เพื่อการสัญจรที่ปลอดภัยและสะดวกสบายของประชาชนเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลัก รวมทั้งเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ สร้างแรงบันดาลใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก เช่น Highline New York, Seoul Sky Garden, Promenade plantée Paris
เมื่อเร็วๆ นี้ มีการเปิดใช้ skywalk บริเวณแยกปทุมวัน ที่เกิดจากการลงขันของ “สมาคมการค้าพลังสยาม” โดยเชื่อมทั้ง 3 ห้างเข้าด้วยกัน งบลงทุนเบื้องต้นประมาณ 300 ลบ.
ความพิเศษของ Skywalk แห่งนี้คือ Universal Design โดยทั้งผู้สูงอายุหรือผู้พิการจะสามารถใช้ทางเชื่อมได้อย่างไร้กังวล
ก่อนหน้านี้ในย่าน CBD ก็มีการสร้าง Skywalk เชื่อมจากรถไฟฟ้าไว้หลายแห่ง วันนี้เราลองรวบรวมมาให้ดูกันบางส่วนค่ะ
Skywalk แยกสาทร–นราธิวาส หรือ “สะพานช่องนนทรี” เชื่อมระหว่าง BTS ช่องนนทรี – สถานี BRT และสำนักงานใหญ่ๆ ในละแวกนั้น ลงทุนโดยกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ด้วยงบ 100 ลบ.
ด้านบนของสะพานตกแต่งด้วยโครงเหล็กขนาดใหญ่ มองดูไกลๆคล้ายกับสะพานแขวนซึ่งจุดเด่นตรงนี้แหละที่ทำให้บรรดาช่างภาพชักขวนกันมาเก็บภาพสะพานยามค่ำคืน
Skywalk เชื่อม ห้างเกษร – Platinum หรือ Bangkok Skyline
โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Super Skywalk System แผนดั้งเดิมของ กทม. ในปี 2554 ซึ่งถ้าทำสำเร็จเราจะมีทางเดินลอยฟ้ายาวรวมกันถึง 50 กม. ! แต่…สุดท้ายแผนก็พังไม่เป็นท่า เหลือแค่ Bangkok Skyline ที่กลุ่มราชประสงค์ลงทุนให้ โดยแบ่งเป็น 2 เฟส
- เฟส 1 เริ่มจากจุดทางเชื่อมบริเวณทางเข้าชั้น 2 ระหว่างโซน 2 และโซน 3 ของศูนย์การค้า เดอะ แพลทินัม แฟชั่น มอลล์ และโรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ข้ามคลองแสนแสบ ต่อเนื่องมาถึงสะพานลอยคนข้าม ข้ามมาฝั่งบริเวณด้านหน้า โครงการ เดอะมาร์เก็ต บนถนนราชดำริ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง
- เฟส 2 จะเชื่อมต่อจากเฟส 1 ผ่านโครงการ เดอะมาร์เก็ตห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี อาคารเกษรอาคารอัมรินทร์พลาซ่าและเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชิดลม
และในช่วง 3-5 ปี ข้างหน้า ที่เส้นทางรถไฟฟ้ามีความคืบหน้ามากขึ้น ก็จะเริ่มมี Skywalk ผุดขึ้นมาตามทำเลที่มีศักยภาพ โดยบางแห่งเป็นเงินทุนของเจ้าสัวรายใหญ่ ที่ยอมทุ่มเงินหลักร้อยล้าน สร้าง Skywalk เชื่อมเข้ากับโครงการอสังหาฯริมทรัพย์ของตัวเอง
Skywalk “The Line จตุจักร – หมอชิต“
ดูจากชื่อก็คงรู้ว่าเชื่อมจาก BTS จตุจักรไปที่คอนโด The Line จตุจักร–หมอชิต โดยจะเริ่มเชื่อมจากสะพานลอยฝั่งสวนจตุจักร เจาะเข้าไปที่ Community Mall ด้านหน้าคอนโด เป็นระยะทาง 480 เมตร โดยใช้งบประมาณ 200 ลบ. ซึ่งแน่นอนว่า BTS-Sansiri เป็นคนจ่าย
Skywalk “Whizdom 101”
เชื่อมจาก BTS ปุณณวิถี เข้าไปใน Whizdom 101 มิกซ์ยูสขนาดใหญ่กว่า 43 ไร่ ซึ่งนอกจากลงขัน 120 ลบ. เป็นค่าเชื่อมแล้ว ยังมีการเพิ่มเทคโนโลยีใหม่ Pavegen แผ่นผลิตพลังงานจากประเทศอังกฤษที่สามารถเปลี่ยนก้าวเดินให้เป็นกระแสไฟฟ้าหมุนเวียนในโครงการ
แม้ว่างบประมาณในการการสร้าง Skywalk จะค่อนข้างสูง แต่บรรดาผู้ประกอบการก็ยังเล็งเห็น “โอกาส” ในการทุ่มเม็ดเงินลงไป เพราะนอกจากการเพิ่ม Traffic ให้อสังหาริมทรัพย์โดยรอบแล้ว ยังเป็นการสร้าง Landmark ที่เป็น “หน้าตา” ของประเทศอีกด้วย