san 0090 (2)

จากที่แสนสิริเป็นข่าวดังในกระทู้ของ Think of Living ประเด็นแซบ ร้อนฉ่าในแวดวงอสังหาฯ ในนาทีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องที่ลูกบ้านตาน้ำข้าวในโครงการ เดอะเบส สุขุมวิท 77 ของแสนสิริไปซ่อมน้ำรั่วซึมบริเวณผนัง แต่กลับพบว่าผนังในส่วนนั้นมีโฟมผสมโรงอยู่ในนั้น จนทำให้กลายเป็นประเด็นร้อนที่ลูกบ้านทั้งของแสนสิริและลูกบ้านโครงการอื่นๆ ต่างร้อนๆ หนาวๆ บางรายถึงขั้นอยากจะทุบผนังบ้านตนเองเลยทีเดียว และเมื่อมีภาพว่อนเน็ต พร้อมกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างนานาถึงประเด็นดังกล่าวแบบรายวัน ทำให้พ่องานอย่างแสนสิริ ต้องออกโรงทำหนังสือรายงานความคืบหน้าถึงเรื่องนี้ต่อลูกบ้าน รวมถึงจัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการถึงเรื่องนี้ ซึ่งเนื้อหาใจความหลักก็เป็นไปตามคาดการณ์ของใครหลายคนว่า ความบกพร่องที่เกิดขึ้นนั้นผู้รับเหมารายย่อยก็ต้องรับไป ในฐานะผู้ลงมือก่อสร้างที่ประมาทเลินเล่อนั่นเอง

ภายในงานแถลงข่าว ได้รับเกียรติจากคุณอุทัย แสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) มาเป็นผู้ให้ถ้อยแถลงทั้งหมด โดยคุณอุทัย เปิดเผยว่า ประเด็นที่ลูกบ้านในโครงการเดอะเบส สุขุมวิท77 ( Mr. Kristopher George Houtson) ตรวจพบว่าผนังห้องของตนเองนั้นมีโฟมอุดอยู่ในช่องผนังขนาด 30×20 ซม. บริเวณมุมผนังด้านบนชุดวงกบกรอบอลูมิเนียมนั้น ถือเป็นความประมาทเลินเล่อของช่าง  เฉพาะบุคคคล (Human Error) ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายย่อย ที่ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้ โดยมี RTH ซึ่งเป็นผู้รับเหมาหลักจ้างมาอีกทีหนึ่ง

san 0090 (1)

ทั้งนี้คุณอุทัยกล่าวต่อไปว่า ยอมรับว่าบริเวณที่เกิดปัญหาเป็นจุดที่ไม่สามารถใช้ระบบโครงสร้างสำเร็จรูปแบบพรีแคส ( Precast) ได้เนื่องจากเป็นเป็นส่วนของสถาปัตยกรรมการตกแต่งวงกบจึงต้องทำการก่ออิฐฉาบปูนแทน ซึ่งตรงนี้อาจทำให้เกิดความสับเพร่าขึ้นได้ในระหว่างการก่อสร้าง แต่ถือเป็นส่วนที่น้อยมากเพียง 0.01 ตร.ม. เมื่อเทียบกับพื้นที่ผนังและพื้นในโครงการทั้งหมดที่มีถึง 140,000 ตร.ม.

“ตามปกติในแต่ละโครงการเรามีทีมงานที่ตรวจสอบเรื่องคุณภาพการก่อสร้างอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ถือเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งเราก็ไม่ทิ้งลูกค้า และเร่งแก้ไขให้และเราก็เชื่อว่าหลังจากที่เราได้แถลงข่าวไปแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น และเชื่อว่าลูกบ้านจะยังคงมั่นใจในบริษัทของเรา รวมถึงแบรนด์เดอะเบสเองก็จะยังเดินหน้าต่อไป ไม่มีการรีแบรนด์แต่อย่างใด” คุณอุทัยกล่าว

ล่าสุดได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยส่งทีมงานเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมห้องที่เกิดเหตุโดยได้นำเครื่องมือตรวจสบความแข็งแรงของผนัง หรือ Rebound Hammerแล้ว รวมถึงนำเครื่องมือนี้ไปตรวจสอบห้องอื่นๆ อีก 350 ยูนิต ซึ่งไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด และเหลืออีก 900 ยูนิต ที่คาดว่าจะตรวจแล้วเสร็จได้ภายในวันที่ 20 ก.ย. 2556 นอกจากนี้ทางแสนสิริได้ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังสภาวิศวกรรมเพื่อเข้ามาตรวจสอบคุณภาพโครงสร้างอีกด้วยโดยต้องรอฟังผลในอาทิตย์ถัดไป

Page1Page2

สำหรับประเด็นคำถามที่ว่า ผู้รับเหมารายใหญ่อย่าง RTH ยังจะทำงานร่วมกันหรือไม่ คุณอุทัยกล่าวว่า  “ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา หารือถึงประเด็นที่เกิดขึ้น รวมถึงรอดูว่าจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาร่วมกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนในตอนนี้  ส่วนประเด็นที่มีข่าวออกมาว่า มีอีกโครงการหนึ่งของแสนสิริที่เสาของบ้านมีถุงสีน้ำตาลอยู่ในนั้น ก็ขอชี้แจงว่า ตรงนั้นเป็นส่วนของเสาโรงรถ ซึ่งโรงรถนั้นก็มีการทำเป็นที่เก็บของด้วย ตรงนี้ก็จะไปตรวจสอบต่อไปว่าถุงนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมจริงหรืออยู่ในส่วนของที่เก็บของ”

ทั้งนี้หากลูกบ้านที่กำลังหวั่นเกรงว่าผนังบ้านของตนเองจะมีการสอดใส้โฟมด้วยหรือไม่นั้น อาจทำการเช็คเบื้องต้นด้วยตนเอง โดยใช้ค้อนยางทุบๆ ผนังเบาๆ แล้วฟังเสียงดูว่าเป็นผนังโปร่งหรือทึบ หากฟังดูแล้วโปร่งๆ โล่งๆ ก็แสดงว่าอาจผิดปกติได้ แต่วิธีนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าผนังนั้นสามารถรับแรงกระแทกได้มากขนาดไหน

อย่างไรก็ตาม เรื่องที่เกิดขึ้นนับเป็นบทเรียนครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของแสนสิริก็ว่าได้ รวมถึงเป็นสัญญาณแจ้งเตือนผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ต้องย้อนกลับมาพิจารณาระบบการก่อสร้างและการตรวจสอบคุณภาพของโครงการอย่าละเอียดก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า เพราะท้ายสุดปัญหาที่เกิดขึ้นแม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับชื่อเสียงของบริษัทที่มีมายาวนาน ก็อาจเป็นน้อยนิดมหาศาล ที่จะกระเทือนความรู้สึกและความเชื่อมั่นของลูกค้าในอนาคตก็เป็นได้

อัมพวรรณ :รายงาน