ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลยุทธ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ เน้นไปที่การพัฒนาโครงการแนวราบ หลายๆ บริษัท จากที่เคยสร้างแต่คอนโด ก็พยายามขยายตลาดมาลุยบ้าน-ทาวน์โฮมมากขึ้น สังเกตได้จากผลประกอบการของ 10 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรายได้หลักๆ มาจากโครงการแนวราบ แล้ว…สำหรับปี 2564 ที่เรายังคงเผชิญหน้ากับวิกฤต Covid-19 สถานการณ์ราคาบ้าน-ทาวน์โฮมเป็นอย่างไร ยังคงเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ให้กับวงการอสังหาได้หรือไม่?

อ้างอิงจากศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ หรือ REIC ราคาบ้าน-ทาวน์โฮมในช่วง Q1/2564 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% จากปลายปีที่แล้ว หลังจากที่ลดต่ำลงต่อเนื่องติดต่อกันมา 3 ไตรมาส แต่…เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน หรือ Q1/2563 ราคากลับลดลงประมาณ 0.2%

ขณะที่ศูนย์วิจัย LPN Wisdom ได้มีการเก็บข้อมูลจำนวนยูนิตของบ้าน-ทาวน์โฮมที่เพิ่งเปิดขายใหม่ช่วง Q1/2564 ซึ่งมีประมาณ 4,791 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 23,588 ลบ. ลดลงถึง 46% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และจากสถานการณ์ที่เราเจออยู่ตอนนี้ มีความเป็นไปได้ว่าอสังหาปีนี้อาจแย่กว่าปีที่แล้วด้วยซ้ำ แต่…ในทางกลับกัน ช่วงนี้ถือเป็น “โอกาส” ของคนที่กำลังมองหาบ้าน และจะซื้อได้ในระดับราคาที่เหมาะสมจริงๆ

ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากภาพรวมดัชนีได้สะท้อนว่า ในช่วงไตรมาส 2 ถึง 4 ปี 2563 เป็นช่วงที่ราคาบ้านจัดสรรใหม่ปรับลดต่อเนื่องจากโปรโมชั่นต่างๆ ของสต๊อกที่มีอยู่เดิมเป็นสำคัญ แต่สังเกตได้ว่าพอเข้าสู่ไตรมาส 1 ปี 2564 ก็กลับมีการปรับขึ้นสูงกว่าไตรมาส 4 ปี 2563 ประมาณ 0.3% ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการเปิดตัวโครงการบ้านจัดสรรใหม่ๆ ในช่วงที่ผ่านมาที่มีต้นทุนราคาที่ดินสูงขึ้น และเป็นสินค้าที่มีความต้องการในตลาดสูง แต่ราคาบ้านจัดสรรใน ไตรมาส 1 ปี 2564 ค่อนข้างชัดเจนว่าบ้านจัดสรรยังคงถูกกว่าต้นปี 2563 เล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงรุนแรง ก็อาจทำให้ดัชนีราคาบ้านจัดสรรกลับมาปรับตัวลดลงเล็กน้อย หรือ ทรงตัวในไตรมาส 2 ปี 2564 ได้

สำหรับการที่รัฐบาลมีมาตรการในการขยายระยะเวลามาตรการการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองสำหรับบ้านใหม่ ไปจนถึงสิ้นปี 2564 น่าจะมีผลต่อการกระตุ้นตลาดบ้านประเภททาวน์เฮ้าส์ เนื่องจากยังคงมีหน่วยขายระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลพอสมควร
แต่สำหรับบ้านเดี่ยวน่าจะได้รับประโยชน์น้อย

นอกจากนี้ มาตรการการเลื่อนประกาศอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปเป็นปี 2565 และลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือ 10% ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่สำคัญในการช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการที่จะพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเสนอขายบ้านจัดสรรในราคาต่ำลงได้

ดัชนีราคาบ้านจัดสรร กรุงเทพ-ปริมณฑล

  • กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 127.1 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.3%
  • ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 129.0 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.2% (ดูตารางที่ 3 และแผนภูมิที่ 1 – 3)

ดัชนีราคาบ้านเดี่ยว ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล Q1/2564

มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.4 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.3%

  • กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 125.7 ลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.3%
  • ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 126.5 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน(YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) ลดลง 0.2% (ดูตารางที่ 2 และแผนภูมิที่ 1 – 3)

ดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล Q1/2564

มีค่าดัชนีเท่ากับ 130.1 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.3%

  • กรุงเทพฯ มีค่าดัชนีเท่ากับ 128.2 ลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.2%
  • ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 132.1 ลดลง 0.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) เพิ่มขึ้น 0.2% (ดูตารางที่ 3 และแผนภูมิที่ 1 – 3)

สำหรับรายการส่งเสริมการขายบ้านจัดสรรใหม่ที่อยู่ระหว่างการขายในไตรมาสนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 46.6% เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายในวันโอนกรรมสิทธิ์ และ/หรือ ฟรีค่าส่วนกลาง รองลงมา 32.8% เป็นของแถม เช่น เครื่องปรับอากาศ เฟอร์นิเจอร์ ผ้าม่าน ปั๊มน้ำ แท้งก์น้ำ ฯลฯ และ 20.5% เป็นส่วนลดเงินสด