เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ก่อนซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัย นอกจากปัจจัยเรื่องทำเล ราคา ผู้ประกอบการ และการออกแบบโครงการ ปัจจัยสำคัญอีกด้านก็คือเรื่องการบริหารและผู้บริหารจัดการที่พักอาศัยหลังเข้าอยู่แล้วว่ามีแนวทางและประสบการณ์ในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ อย่างไร ซึ่งระยะหลังๆ ปัจจัยดังกล่าว ผู้อยู่อาศัยเห็นความสำคัญมากขึ้น จนขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งใน 3 ปัจจัยแรกเลยทีเดียว เพราะการอยู่อาศัยร่วมกันในหลายครอบครัวภายใต้บ้านหลังใหญ่ ต้องการผู้ที่มีประสบการณ์และมีความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง เพื่อให้การอยู่อาศัยนั้นราบรื่น ได้รับความสะดวกสบายในทุกด้าน (Smooth Your Living)

ระบบการรักษาความปลอดภัยที่ดี ควรได้ถูกออกแบบร่วมกันกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อมองเห็นภาพรวมทั้งหมดในทุกมิติ แล้วค่อยแตกรายละเอียดไปในแต่ละหมวดหมู่ ซึ่งหลักๆ ขอแบ่งออกเป็น 1) การรักษาความปลอดภัยในเชิงกายภาพของโครงการ และ 2) การรักษาความปลอดภัยในด้านจิตใจ เพื่อให้ผู้พักอาศัยรู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ดังเช่น การบริหารจัดการในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา การบริหารจัดการกรณีเกิดโรคระบาด หรือในสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เช่น การเกิดเหตุเพลิงไหม้ หรือมีผู้เจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน เป็นต้น

🔸 การรักษาความปลอดภัยในเชิงกายภาพ

ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ในทุกระบบงานโครงสร้างอาคาร ทีมบริหารงานต้องได้รับการฝึกฝนต่อเนื่องตามแผนงานมาอย่างดี และมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ทั้ง 1) ระบบงานรักษาความปลอดภัย อันได้แก่ระบบ CCTV ที่ต้องมอนิเตอร์โดยตลอด ระบบดับเพลิงภายในห้องชุด และส่วนสันทนาการต่างๆ ระบบแจ้งเหตุเพลิงไหม้พื้นที่ส่วนกลางและภายในห้องชุด ที่ต้องได้รับการตรวจสอบการทำงาน ให้สมบูรณ์พร้อมใช้ตลอดเวลา ซึ่งระบบดังกล่าวมักถูกละเลยในการดูแลบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ผู้พักอาศัยไม่สามารถรู้ได้ว่าระบบพร้อมใช้งานหรือไม่ จนกว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นและระบบไม่ทำงาน ดังนั้น บริษัทบริหารจัดการอาคารชุดที่เป็นมืออาชีพ จะมีทีมวิศวกรส่วนกลาง ช่วยกำกับควบคุมการปฎิบัติงานของทีมบริหารอีกชั้น เพื่อสร้างความมั่นใจ อุ่นใจ กับผู้พักอาศัย และ 2) เจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่นั้นๆ ที่ต้องได้รับความรู้อย่างต่อเนื่อง มีระเบียบวินัยที่เข้มแข็ง (Hard Power) เอาใจใส่ในหน้าที่ของงานที่รับผิดชอบอยู่อย่างจริงจัง และสม่ำเสมอ โดยต้องมีการซ้อมแผนฉุกเฉินและผ่านการประเมินเป็นประจำทุกไตรมาส

🔸 การรักษาความปลอดภัยในด้านจิตใจ

ถือเป็น Soft Power ที่ต้องการความเข้าใจในผู้อยู่อาศัยทุกท่าน สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความโกลาหลภายในชุมชน มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น สถานการณ์โควิด-19 ดังที่เคยกล่าวมาโดยละเอียดในบทความก่อน หรือเหตุฉุกเฉินในทุกกรณี โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ต้องทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่นิติฯ อย่างไร้รอยต่อ มีการสื่อสารที่ชัดเจน เข้าใจได้ทันที และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ก็จะทำให้สามารถระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว ไม่ทำให้เกิดความกังวลใจในผู้พักอาศัยท่านอื่นๆ เช่น กรณีผู้พักอาศัยอุ่นอาหารทิ้งไว้ โดยลืมปิดเตาไฟฟ้า จึงทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ ถ้าระบบแจ้งเตือน ทำงานโดยอัตโนมัติ จะได้รับการแก้ไขเหตุได้ทันท่วงที ไม่ทำให้เพลิงลุกลามเป็นเพลิงขนาดใหญ่ ซึ่งมีเวลาไม่เกินภายใน 5-10 นาที เมื่อได้รับแจ้งเตือน ในการจัดการเหตุเพลิงไหม้ หลังเหตุการณ์สงบ จะต้องมีการฟื้นฟู จัดการให้ห้องชุดที่เกิดเพลิงไหม้และทุกส่วนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำดับเพลิงและกลิ่นควัน สามารถเข้าพักอาศัยได้โดยเร็ว ต้องมีระบบรวบรวมข้อมูล บันทึกและวิเคราะห์การแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ประสานงานกับหน่วยงานดับเพลิง งานประกันภัย และอื่นๆ เพื่อเป็นกรณีศึกษาและให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในชุมชนอื่นๆ และทีมงานที่เกี่ยวข้องทุกส่วนต่อไป

นอกจากนี้ การมีบริษัทหรือหน่วยงานด้านการรักษาความปลอดภัยเป็นของตนเอง ก็จะทำให้การบริหารจัดการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น เพราะมีการเชื่อมต่อข้อมูลแบบ Real Time ด้วยระบบการสื่อสารที่ทันสมัย

แต่สิ่งสำคัญที่สุด ก็คือการสร้างวัฒนธรรมที่ดีภายในชุมชน ให้ผู้พักอาศัยทุกท่านมีความเข้าใจในการปฏิบัติงานด้านการรักษาความปลอดภัยในชุมชน ที่จะนำมาซึ่งความร่วมมือที่ดี เช่น การเข้าร่วมในกิจกรรมซ้อมหนีไฟของชุมชนเป็นประจำ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น สามารถเอาตัวรอดอย่างปลอดภัย ก็จะทำให้ระบบรักษาความปลอดภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริงค่ะ