นายธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) พร้อม ผู้บริหาร รฟม. แถลงข่าวชี้แจงกรณี นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาระบุ การเจรจาตรงให้ผู้เดินรถรายเดิม เดินรถส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ เข้าข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และขอให้นายกรัฐมนตรี รื้อสัญญาดังกล่าว โดยในส่วนของ รฟม. มั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อสงสัยกรณีการเจรจาตรงให้บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยาย ได้ในทุกประเด็น

นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า การเจรจาตรงให้ BEM เป็นผู้เดินรถส่วนต่อขยายนั้น นอกจากจะประหยัดงบลงทุน ในระบบอาณัติสัญญาณ 9,800 ล้านบาท โดยกล่าวถึงประเด็นที่นายวิลาส ยกตัวอย่างระบบรถไฟฟ้าในญี่ปุ่น ที่ในเส้นทางรถไฟฟ้า 1 เส้นทางนั้น สามารถมีผู้บริหารการเดินรถถึง 3 บริษัท ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถทำได้ แต่ก็จะมีต้นทุนเพิ่ม คือ การลงทุนระบบอาณัติสัญญาณที่ต้องมีการติดตั้งที่ตัวรถทั้ง 3 ระบบ โดยการมีผู้เดินรถทั้งระบบเพียงรายเดียวก็จะช่วยลดต้นทุนการลงทุนในส่วนนี้

ทั้งนี้ ยืนยันด้วยว่าการดำเนินการเจรจาเดินรถกับเอกชนรายเดิม ในช่วงที่ผ่านมาเป็นไปตามผลศึกษาของบริษัทที่ปรึกษา และสอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีในทุกครั้ง ที่มีการพิจารณาตั้งแต่ปี 2553 ที่ชัดเจนว่า แนวทางให้เอกชนรายเดิมเป็นผู้เดินรถนั้นมีความเหมาะสม เป็นที่มาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ใช้มาตรา 44 เข้ามาดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องนี้

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าการเจรจาตรง ให้BEM เดินรถ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ PPP นั้น ยืนยันว่าคณะกรรมการ PPP คำนึงถึงประโยชน์และความสะดวกของผู้ใช้บริการที่จะเดินทางในเส้นทางเป็นหลักโดยมีการพิจารณาเป็นประเด็นแรก ก่อนที่จะมีการพิจารณาในประเด็นผลตอบแทนในการร่วมลงทุนที่ภาครัฐได้รับจากเอกชน

ทาง รฟม.จึงได้ข้อยุติคือให้สัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย 33 ปีร่วมการติดตั้งระบบ 3 ปี ใช้โครงสร้างค่าโดยสารอัตราเท่ากับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเดิม คือ 16-42 บาท เดินทางสูงสุดในราคา 42 บาทได้ 38 สถานี

ที่มาข่าว: รายการทั่วฟ้าคมนาคมไทย