Screen Shot 2558-09-03 at 10.31.14 AM

โครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ เป็นรูปเป็นร่างขึ้นเรื่อย ๆโดยล่าสุดมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เพื่อนำระบบขนส่งมวลชนแบบราง (TRAM) มาใช้เป็นระบบขนส่งมวลชนหลักของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังร่วมกันพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนภายในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

“พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล” ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ภายหลังการ MOU รฟม.จะเริ่มดำเนินการศึกษาและนำแผนศึกษาวิจัยที่สำนักงานพัฒนาพิงคนคร ทำเสร็จสมบูรณ์แล้วมาต่อยอดศึกษารายละเอียดเชิงลึกทุกด้าน รวมถึงการศึกษา-ออกแบบ (Detail-Design) และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งระบบราง หรือ TRAM มีความเหมาะสมมากที่สุด

ประเด็นสำคัญคือรูปแบบการลงทุนว่ารูปแบบไหนที่มีความเหมาะสมเช่นเป็นการลงทุนโดยรัฐบาลกลาง หรือรัฐบาลร่วมลงทุนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือให้เอกชนเข้ามาลงทุน ซึ่งหากเป็นการลงทุนโดยรัฐบาล ก็มีความเป็นไปได้ที่ รฟม.จะเป็นผู้ลงทุนและดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่

ผู้ว่าการ รฟม.ยังบอกด้วยว่า มีแผนศึกษาในหัวเมืองใหญ่ อาทิ เชียงใหม่ ภูเก็ต นครราชสีมา และขอนแก่น ซึ่งเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ จำเป็นต้องมีระบบขนส่งและสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐาน ซึ่งระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูงคือระบบราง เพราะมีความสะดวกปลอดภัย

ส่วนในอนาคตก็อาจจะขยายไปยังระบบที่สูงขึ้น เช่น Heavy Rail สามารถขยายเส้นทางไปรอบนอกได้ คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาราว 8-12 เดือน จากนั้นจะส่งผลการศึกษาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

ขณะที่ “สุริยะ ประสาทบัณฑิตย์” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ บอกว่า ขณะนี้จังหวัดเชียงใหม่ได้งบประมาณประจำปี 2559 ในเบื้องต้น 25 ล้านบาท จากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) จะต้องใช้เพิ่มเติมอีก 50-60 ล้านบาท เพื่อใช้ในการศึกษาและออกแบบระบบขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ในระบบ TRAM โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จะเข้ามาศึกษาและออกแบบรายละเอียดร่วมกับ รฟม.

สำหรับผลการศึกษาของสำนักงานพัฒนาพิงคนครนั้น “ศราวุฒิ ศรีศกุน” ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการ บอกว่า ระบบขนส่งมวลชนสายหลักที่เหมาะสมสำหรับเมืองเชียงใหม่ คือ รถไฟฟ้าแบบราง (TRAM) มีความเร็วเฉลี่ย 20-25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดย 1 ตู้โดยสาร สามารถจุประมาณ 150 ที่โดยสาร สามารถต่อเพิ่มตู้โดยสารและเป็นการขับเคลื่อนยานพาหนะด้วยไฟฟ้า ซึ่งเป็นระบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ โดยระยะที่ 1 (5-15 ปี) มีทั้งหมด 3 เส้นทาง 53 สถานี

ทั้งนี้ สายที่ A1 เส้นทางสายเหนือ-ใต้ แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ สายสีแดง เส้นทางสายเหนือ-ใต้ส่วนบน โดยมีสถานีเริ่มต้นจากจากศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ด้านทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ผ่านโรงพยาบาลนครพิงค์ ศูนย์ราชการ ลงมายังตัวเมือง วนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกาและวกกลับขึ้นไปยังสถานีต้นทาง มีระยะทางรวมไป-กลับ 29.2 กิโลเมตร จำนวน 21 สถานี ใช้รถ 9 คัน โดยมีความสามารถในการรับส่ง 700 คนต่อชั่วโมง

สายสีน้ำเงิน เส้นทางสายเหนือ-ใต้ส่วนล่าง สถานีเริ่มต้นจากเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ขึ้นเหนือผ่านสนามบินเชียงใหม่ ไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ วนรอบตัวเมืองตามเข็มนาฬิกา และวกกลับลงไปยังสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี ระยะทางไป-กลับ 29.9 กิโลเมตร 12 สถานี ใช้รถ 9 คัน

สำหรับ สายที่ A2 สายสีเขียว เส้นทางสายตะวันตก มีสถานีเริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่ ผ่านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิ่งไปทางทิศใต้แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางโรงพยาบาลสวนดอก ก่อนกลับไปยังต้นทาง มีระยะทางไป-กลับ 19.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี ใช้รถ 7 คัน

สายที่ A3 สายสีเหลือง เส้นทางสายตะวันออก สถานีเริ่มต้นจากตลาดสมเพชรผ่านกาดหลวง ไนท์บาซาร์ ถนนช้างคลาน แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางประตูท่าแพ ก่อนกลับไปยังต้นทาง มีระยะทางไป-กลับ 19.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี ใช้รถ 5 คันรับส่งผู้โดยสารได้ 700 คนต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เส้นนำร่องที่จะเริ่มดำเนินการในระยะที่ 1 คือ สายที่ A1 เส้นทางสายเหนือ-ใต้ (สายสีน้ำเงิน และสายสีแดง) เนื่องจากเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่สนับสนุนให้เริ่มดำเนินการเส้นทางที่ผ่านสนามบิน และแหล่งท่องเที่ยว เช่น ไนท์ซาฟารี และพืชสวนโลกก่อน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ยังมีเส้นทางสายย่อย (Feeder) รองรับระบบขนส่งมวลชนสายหลัก ได้แก่ รถสองแถว (สี่ล้อแดง) ทำหน้าที่เป็นรถโดยสารของสายย่อยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ เนื่องจากผู้ประกอบการรถสี่ล้อแดง เป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่

ส่วนแผนงานของเทศบาลนครเชียงใหม่ “ทัศนัย บูรณุปกรณ์” นายกเล็กบอกว่า ได้นำระบบรถเมล์มาทดลองวิ่งในเมืองเชียงใหม่แล้วเส้นทางขนส่งอาเขต-สนามบิน-ขนส่งอาเขต ในราคาเด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 15 บาทโดยลงทุนซื้อรถเมล์ขนาดเล็ก 23 ที่นั่ง จำนวน 12 คัน คันละประมาณ 1 ล้านบาทพร้อมติดตั้งจุดแขวนรถจักรยานไว้ด้วย

“ทัศนัย” บอกว่า เชียงใหม่มีปัญหารถติดหนักขึ้นเรื่อย ๆ จึงต้องทำให้คนใช้รถส่วนตัวน้อยลง จึงมุ่งไปที่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน เชื่อมโยงกับการเดินทางด้วย “การเดินและการใช้จักรยาน” ในเขตตัวเมืองชั้นใน ตอนนี้มีโครงการจักรยานสาธารณะให้เช่าและจุดคืนจักรยาน 16 จุดมีจักรยานรองรับ 150 คัน

จากนี้ไปจะเป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงระบบขนส่งมวลชนครั้งใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่

ที่มาข่าว: ประชาชาติ