content_b001-8

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการร่วมเจรจาการเจรจาเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมฯ ได้เจรจารายละเอียดในการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้ข้อยุติแล้ว ตามคำสั่ง มาตรา 44 โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะต้องสรุปรายละเอียดเสนอตามขั้นตอน พ.ร.บ. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 และตามคำสั่งมาตรา 44 โดย รฟม.จะเสนอเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และอัยการคู่ขนานกัน ซึ่ง สคร.มีเวลาพิจารณาให้ความเห็นภายใน 30 วัน ตามคำสั่ง มาตรา 44 จากนั้นจะส่งเรื่องต่อกระทรวงคมนาคม ซึ่งจะมีเวลาพิจารณาอีก 30 วัน เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการร่วมฯ ได้พิจารณาข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการลงทุน จำนวนผู้โดยสารและรายได้จากค่าโดยสาร และรายได้เชิงพาณิชย์ ภายใต้เงื่อนไขที่มีค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวต่อการเดินทางตลอดสายเป็นวงกลม ตั้งแต่ ท่าพระ-บางซื่อหัวลำโพง-บางแค โดยจัดเก็บค่าโดยสารเท่าเดิม คือเริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท หรือเก็บค่าโดยสารสูงสุดที่ 12 สถานี แม้ว่าจะเดินทางมากกว่าหรือตลอดสายเป็นวงกลมรวม 39 สถานี จะจ่ายค่าโดยสาร สูงสุดที่ 12 สถานีเท่านั้น ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์ และได้รับความสะดวกในการใช้บริการมากที่สุด

โดยได้เจรจาต่อรองกับเอกชน จนได้ข้อยุติที่ตรงกัน ซึ่งต้องยอมรับว่าการเดินรถตลอดสายเป็นวงกลม ระยะทางรวม 47 กม. จำนวน 39 สถานีนั้น เอกชนเองมีต้นทุนที่สูง เนื่องจากเก็บค่าโดยสารได้สูงสุดที่ 12 สถานีเท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้โครงการดำเนินต่อได้ รัฐจะต้องอุดหนุนรายได้ที่หายไปในบางส่วน ซึ่งประเมินออกมาเป็นเงินประมาณ 700 ล้านบาทเศษ โดยจะอุดหนุนเฉลี่ยเป็นรายปี ระยะเวลา 10 ปี ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ 9.75% ซึ่งรัฐจะต้องอุดหนุนส่วนต่างรายได้

ขณะเดียวกัน เอกชนพร้อมที่จะทยอยเปิดการเดินรถในช่วงที่ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณแล้วเสร็จก่อน โดยไม่รอให้เสร็จตลอดทั้งโครงการ โดยช่วง 1 สถานี (เตาปูน-บางซื่อ) หากสามารถติดตั้งระบบได้ในเดือนมกราคม 2560 จะเปิดได้ในเดือนสิงหาคม 2560 นอกจากนี้ จะเปิดเดินรถช่วง หัวลำโพง-ท่าพระ-บางแค ได้ก่อนเปิดส่วนต่อขยายทั้งหมด ประมาณ 6 เดือน อีกด้วย

สำหรับสัญญาสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้นมีระยะเวลา 33 ปี (ติดตั้งระบบ 3 ปี เดินรถ 30 ปี )โดยสัญญาจะเริ่มปี 2560 สิ้นสุดปี 2592 อย่างไรก็ตาม ในส่วนสัญญาสายเฉลิมรัชมงคลนั้น จะดำเนินตามเดิมไปจนสิ้นสุดปี 2572 จะมีการต่อขยายออกไปให้สิ้นสุดปี 2592 เช่นกัน เพื่อให้สะดวกในการบริหารสัญญาและการเดินรถต่อเนื่อง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา