รถไฟฟ้าสายสีทอง

ใกล้จะได้ใช้กันแล้วนะคะ กับรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน เชื่อมห้างดังอย่าง ICONSIAM ที่มีกำหนดเปิดใช้ไม่เกิน ปลายปี 2563 นี้ ปัจจุบันก่อสร้างไปได้กว่า 90% และอยู่ระหว่างการวิ่งทดสอบเสมือนจริง (Train Run)

รถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี – สถานีประชาธิปก  เริ่มต้นพัฒนาประมาณปี 2560 ก่อสร้างโดยบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ความพิเศษของรถไฟฟ้าสายนี้คือ สามารถเชื่อมเข้ากับ ICONSIAM ได้โดยตรง

แนวเส้นทางโครงการ

รถไฟฟ้าสายสีทอง
ในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ประกอบด้วย 3 สถานี ระยะทาง 1.74 กิโลเมตร แนวเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้า BTS กรุงธนบุรี ไปทางทิศตะวันออกตามแนวเส้นทางคู่ขนานของถนนกรุงธนบุรี เลี้ยวซ้ายขึ้นทางทิศเหนือไปตามแนวถนนเจริญนครผ่านแยกคลองสาน ไปสิ้นสุดที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยาที่บริเวณหน้าโรงพยาบาลตากสิน

  • สถานีกรุงธนบุรี
  • สถานีเจริญนคร (เชื่อม ICONSIAM)
  • สถานีคลองสาน

ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 1 สถานี คือสถานีประชาธิปก ความยาวทางวิ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 0.88 กิโลเมตร

ระบบรถไฟฟ้า
ระบบรถไฟฟ้าที่ใช้เป็น Monorail รูปแบบไร้คนขับโดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำเมื่อเทียบกับระบบอื่น อีกทั้งมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยโมเดลที่ใช้เป็นรุ่น Bombardier Innovia APM 300 จำนวน 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ รองรับผู้โดยสารได้ 4,000-12,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง

การเชื่อมต่อ รถไฟฟ้าสายสีทองมีจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่

  1. รถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS สายสีลม เชื่อมต่อจาก BTS กรุงธนบุรี  (G1)
  2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เชื่อมต่อกับสถานีประชาธิปก (G4)
  3. รถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงหัวลำโพง-บางบอน-มหาชัย เชื่อมต่อกับสถานีคลองสาน (G3)

รู้จักรถไฟฟ้าล้อยางสายสีทอง

รถไฟฟ้าสายสีทอง
รถไฟฟ้าสายสีทองรุ่น Bombardier Innovia APM 300 เป็นระบบที่ใช้เป็นรถไฟฟ้ารูปแบบไร้คนขับโดยใช้รางนำทาง มีผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ซึ่งจะทำให้เกิดความนุ่มนวลและก่อให้เกิดเสียงรบกวนต่ำ

รถไฟฟ้าสายสีทอง รุ่น Bombardier Innovia APM 300 เป็นรถไฟฟ้าระบบไร้คนขับ และวิ่งโดยใช้รางนำทาง  ข้อสำคัญคือ วิ่งได้นุ่มนวลและมีเสียงรบกวนต่ำ เพราะผิวสัมผัสระหว่างล้อและทางวิ่งเป็นยาง ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง

  • ความกว้าง 2.8 เมตร
  • ความยาว 12.75 เมตร
  • ความสูง 3.5 เมตร
  • ประตูกว้าง 1.9 เมตร
  • พื้นรถสูง 1.1 เมตร
  • น้ำหนัก 16.3 ตัน

รถไฟฟ้าสายสีทองมีทั้งหมด 3 ขบวน ขบวนละ 2 ตู้ ความจุผู้โดยสาร 138คน/ตู้ และ 1 ขบวนสามารถจุผู้โดยสารได้ 276 คน ซึ่งในอนาคตรถจะออกวิ่งรับส่งผู้โดยสารคราวละ 2 ขบวน ที่ความถี่ 6-12 นาที โดยมีรถสำรองไว้ในระบบ 1 ขบวน

ความก้าวหน้างานก่อสร้างโรงจอดและซ่อมบำรุง รวมถึงสถานีกรุงธนบุรี สถานีเจริญนคร และสถานีคลองสาน ในภาพรวม 94.84 % แบ่งเป็นงานโยธา มีความก้าวหน้า 97.36 % และงานติดตั้งระบบเดินรถ มีความก้าวหน้า 91.31

ศักยภาพของทำเลที่เปลี่ยนไป กับการมาถึงของรถไฟฟ้าสายสีทอง

เส้นทางคมนาคมใหม่ของรถไฟฟ้าสายสีทอง  ซึ่งเชื่อมต่อฝั่งกรุงเทพฯ และฝั่งธนบุรี ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุง BTS สะพานตากสินให้เป็นสถานีที่มี 2 ชานชาลาและเป็นรางคู่ จึงทำให้การเติบโตของย่านเจริญนครอาจเทียบได้ใกล้เคียงกับย่านอื่นในฝั่งกรุงเทพฯ โดยจุดดึงดูดที่สำคัญของย่านเจริญนครคือราคาที่พักอาศัยแนวสูงที่ถูกกว่าย่านซีบีดีมากกว่าครึ่งซึ่งเป็นระดับไฮเอนด์ มีราคาขายโดยเฉลี่ยไม่เกิน 100,000 – 150,000 บาทต่อตารางเมตร เท่ากับเป็นข้อบ่งชี้เรื่องของการเจริญเติบโตทุกๆ ด้านที่กำลังก่อตัวและพัฒนาอย่างรวดเร็วบนถนนสายนี้

เทรนด์ในการเลือกบ้านสำหรับคนกรุงเทพฯ นอกจากต้องการความสะดวกสบายในเรื่องทำเลแล้ว ยังต้องการใกล้ชิดกับธรรมชาติ โดยเฉพาะการอยู่อาศัยในห้องขนาดเล็กทำให้ต้องการวิวที่เปิดโล่ง ดังนั้น วิวแม่น้ำจึงเป็นเหมือนมูลค่าเพิ่มที่มาเสริมให้ที่พักอาศัยแนวสูงในย่านนี้มีความน่าสนใจมากขึ้น

นอกจากนี้ ในย่านดังกล่าวยังมีชุมชนเก่าแก่ทางด้านวัฒนธรรม วัดวาอาราม และสตรีทฟู้ดเจ้าดังๆ เป็นย่านที่มีทั้งความเจริญสมัยใหม่ผสมผสานกับคุณค่าของวิถีชุมชนเก่าซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่ทำเลในกรุงเทพฯ ทำให้ย่านนี้เติมเต็มรูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน

อีกปัจจัยที่สนับสนุนให้เจริญนครกลายเป็นทำเลดาวรุ่งในปีนี้ คือ การย้ายที่ทำการของกระทรวงมหาดไทยจากฝั่งพระนครมาปักหมุดที่ริมแม่น้ำบนถนนเจริญนคร ซึ่งทำให้เห็นได้ชัดถึงกระแสความคึกคักของการพัฒนาชุมชนอยู่อาศัยบนถนนสายนี้ในระยะ 3 – 5 ปีจากนี้

ปัจจุบันเจริญนครถือเป็นย่านที่ไม่มีภาวะโอเวอร์ซัพพลายของที่พักอาศัยแนวสูง เมื่อเส้นทางคมนาคมสะดวกมากขึ้นทั้งรถ-ราง-เรือ มีสะพานข้ามแม่น้ำหลายจุด ทั้งสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และสะพานกรุงเทพ รวมทั้งมีรถไฟฟ้าสายสีทอง ทำให้การเดินทางจากฝั่งธนบุรีเข้าสู่ย่านซีบีดีของกรุงเทพฯ สะดวกรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับใครที่กำลังมองหาคอนโดใกล้รถไฟฟ้าสายสีทอง สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความ มองหาคอนโดใกล้รถไฟฟ้า ตอนที่ 9 “ย่านเจริญนคร” (รถไฟฟ้าสายสีทอง)

ขอบคุณภาพประกอบจาก Facebook: BTS