13920929_1144755248921760_7429535334567736381_n

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การประชุมความร่วมมือรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา ได้หารือประเด็น

  1. กรอบวงเงินมูลค่าโครงการ อยู่ที่ 179,000 ล้านบาท สำหรับค่าฝึกอบรมบุคลากร 920 ล้านบาท และค่าออกแบบมอบให้จีนทำแบบรายละเอียดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ให้ไทยพิจารณา โดยไทยจะจ่ายเงินให้กับจีนตามความเป็นจริง ส่วนค่าศึกษาความเหมาะสมของโครงการไทยขอให้จีนเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่รวมกับมูลค่าโครงการ ซึ่งการเบิกจ่ายจริงอาจจะไม่ถึง 179,000 ล้านบาท
  2. การก่อสร้างช่วงแรก 3.5 กิโลเมตร สถานีกลางดง-ปางอโศก ที่มีปัญหา3-5 จุดในแบบรายละเอียด ใช้เวลาในการแก้ไขประมาณ 10 วัน รวมทั้งปรับการถอดรหัสวัสดุ และราคาให้เป็นตามมาตรฐานของไทย จากนั้นถึงจะสามารถถอดราคา ภายในเดือน ก.ย. และประมูลคัดเลือกเอกชน 2-3 เดือนได้ ส่วนช่วงที่ 2 ปากช่อง-คลองขนานจิตร ระยะทาง 11 กิโลเมตร จากที่กำหนดส่งแบบรายละเอียดในเดือน ต.ค เลื่อนเป็น พ.ย. เนื่องจากมีปัญหาเรื่องดิน ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมาระยะทาง 120 กิโลเมตร กำหนดส่งแบบรายละเอียด ธ.ค. 59 และช่วงที่ 4 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 119 กิโลเมตร กำหนดส่งแบบรายละเอียด ก.พ.60
  3. ร่างสัญญาการลงนาม การจ้างงานในรูปแบบ EPC งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (EPC 1) และงานระบบและรถไฟฟ้าความเร็วสูง (EPC 2) จากการประชุมครั้งที่ 12 ได้แยกออกเป็น 3 ส่วนคือ 2.1 ค่าที่ปรึกษาโครงการ (ออกแบบการก่อสร้าง) 2.2 ค่าจ้างผู้ควบคุมงานทั้งการก่อสร้างและระบบรถ 2.3 ระบบเหนือโครงสร้างพื้นฐาน ต้องให้เสร็จภายใน 19-21 ก.ย.59
  4. ขั้นตอนภายในของประเทศไทย โครงการจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จากนั้นจะเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ก.ย. และใช้มาตรา 44 คัดเลือกเอกชนระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) จะลงนามสัญญาได้ก็ต่อเมื่อ EIA ผ่านแล้ว

นายอาคมกล่าวว่า จีนเสนอให้มีการลงนามสัญญา 2.1 และ 2.2 ก่อน ซึ่งไทยจะพิจารณา แต่ถ้าตกลงการลงนามสัญญาได้ครบทั้ง EPC 2 ก็จะลงนามทั้ง 3 ส่วนในเดือน ก.ย.นี้  การหารือในการร่างสัญญา EPC1-2 จะต้องพิจารณาในรูปแบบกฎหมายไทยเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ เช่นเงื่อนไขการผิดสัญญา เวลาจีนทำโครงการกับประเทศไหนจะมีหลักประกัน และต้องชดใช้หากโครงการไม่สำเร็จคือ เมื่อก่อสร้างล่าช้า ทำให้จีนไม่สามารถวางระบบรางได้จากที่กำหนดไทยจะต้องชดเชยเวลา และเงินให้กับจีน แต่กฏหมายไทยในฐานะผู้จ้าง ไทยจะชดเชยเวลา แต่ไม่ชดเชยเงิน เป็นต้น

ที่มา: ประชาชาติ