รถไฟความเร็วสูง เชียงใหม่-พิษณุโลก จัดเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคมโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ต้องการให้เป็นโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพื่อเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางสำหรับประชาชนด้วยความเร็วราว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมงโดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการร่วมมือกับญี่ปุ่นในการเร่งผลักดันเส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้
สำหรับไฮสปีดเทรนช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่มีระยะทางประมาณ 296 กิโลเมตร แนวเส้นทางต่อจากช่วงกรุงเทพ-พิษณุโลก จำนวน 5 สถานี คือ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และสถานีเชียงใหม่ รูปแบบโครงสร้างทางวิ่งมีหลายรูปแบบดังนี้คือ แนวเส้นทางระดับพื้นดิน(At Grade) 59 กิโลเมตร แนวยกระดับ(Viaduct) 110 กิโลเมตร รูปแบบทางลอดใต้สะพานรถไฟ(Short span Bridge) 102 กิโลเมตร และรูปแบบอุโมงค์ (Tunnel) 25 กิโลเมตร โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุงย่อยที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ มีหน่วยซ่อมบำรุง 3 แห่งที่อำเภอศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย อำเภอลอง จังหวัดแพร่ และที่อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
ทั้งนี้ตามผลการศึกษาของสนข.พบว่ามีมูลค่าการลงทุนช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ประมาณ 2.2 แสน ล้านบาท จำแนกออกเป็นค่าก่อสร้างประมาณ 2.14 แสนล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินประมาณ 6,500 ล้านบาท โครงการมีความคุ้มค่าช่วยพัฒนาเศรษฐกิจที่มีความเหมาะสมในด้านเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิ(NPV) 32,693 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน(B/C Ratio) 1.21% มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ(EIRR) 13.82%
โดยจากการประมาณการณ์ผู้โดยสาร กทม.-พิษณุโลก ในปีแรกจะมีผู้ใช้บริการรวมประมาณ 26,500 คน ประกอบด้วย
สถานี | จำนวนผู้โดยสาร (คน) |
บางซื่อ | 9,700 |
ดอนเมือง | 2,400 |
พระนครศรีอยุธยา | 2,100 |
ลพบุรี | 1,600 |
นครสวรรค์ | 3,200 |
พิจิตร | 2,000 |
พิษณุโลก | 5,500 |
หากครบเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ จะมีผู้ใช้บริการรวม 44,500 คน
สถานี | จำนวนผู้โดยสาร (คน) |
บางซื่อ | 16,700 |
ดอนเมือง | 4,200 |
พระนครศรีอยุธยา | 3,400 |
ลพบุรี | 1,600 |
นครสวรรค์ | 3,800 |
พิจิตร | 2,500 |
พิษณุโลก | 4,400 |
สุโขทัย | 2,100 |
ศรีสัชนาลัย | 1,600 |
ลำปาง | 2,800 |
ลำพูน | 1,400 |
สำหรับในปีที่ 10 เพิ่มขึ้นเป็น 66,100 คน ปีที่ 20 เพิ่มเป็น 80,200 คน และปีที่ 30 เพิ่มเป็น 96,600 คน ทั้งนี้ได้คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารในเส้นทางช่วงกรุงเทพ-เชียงใหม่นี้ว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้น 2.5% ต่อปี นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 3.4% ต่อปี
ส่วนผลประโยชน์ทางตรงนั้นจะช่วยประหยัดพลังงานในการเดินทาง ช่วยลดมลพิษ ช่วยประหยัดเวลาในการเดินทาง ช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ผลประโยชน์ทางอ้อมจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว ธุรกิจการค้า การลงทุน การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน การสร้างงานสร้างอาชีพ และยังช่วยชี้นำการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์
โดยที่ผ่านมาได้จัดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ขณะนี้เหลือเพียงความเห็นชอบผลการศึกษาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)เท่านั้นก็จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติให้ดำเนินโครงการต่อไปภายใต้ความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นนั่นเอง
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,193 วันที่ 18 – 21 กันยายน พ.ศ. 2559