ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเปิดเผยว่า ทิศทางตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะมีโอกาส ขยับเพิ่มขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกที่มีการหดลงอย่างมาก หากภาครัฐสามารถควบคุมการระบาดของโควิดได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมและการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผน รวมถึงการออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แต่ยังนับว่าต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคโดยภาพรวมยังไม่ฟื้น โดยเฉพาะฐานลูกค้าหลักอย่างกลุ่มเซ็กเม้นต์ระดับล่าง-กลางล่าง รวมถึงข้อจำกัดในการเดินทางเข้ามาของผู้ซื้อชาวต่างขาติ
นอกจากแรงกดดันจากกำลังซื้อของผู้บริโภคแล้ว ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยยังคงต้องเผชิญกับปัจจัยท้าทายต่อเนื่อง อาทิ
- ความท้าทายในการระบายสินค้าคงเหลือ ที่ส่งผลต่อทางเลือกการลงทุนโครงการใหม่ที่จำกัดขึ้น โดยต้องแข่งขันกันทำตลาดเพื่อชิงกลุ่มผู้บริโภคที่มีจำนวนจำกัด ขณะที่จำนวนที่อยู่อาศัยรอขายสะสมยังคงทรงตัวสูงในทุกเซ็กเม้นต์
- ต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง โดยนอกจากราคาที่ดินที่ทรงตัวระดับสูง ราคาวัสดุก่อสร้างยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะเหล็กที่เป็นวัสดุสำคัญของธุรกิจที่อยู่อาศัย ประกอบกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่กระจายตัวไปยังแคมป์ก่อสร้าง ซึ่งสร้างผลกระทบเพิ่มเติมให้ภาวะการขาดแคลนแรงงาน
- ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นประกอบกับแหล่งเงินทุนที่จำกัด นอกจากการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน การที่ผู้ประกอบการหันมาระดมทุนในตลาดทุนมากขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อนำมาไถ่ถอนหุ้นกู้และตั๋วแลกเงินที่จะทยอยครบกำหนดในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2564 อีกไม่ต่ำกว่า 70,000 ลบ. ได้สร้างการแข่งขันและทำให้ต้องเพิ่มอัตราผลตอบแทนเพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงเพิ่มช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่ เช่น โทเคนดิจิทัล (Digital Token) ที่มีทรัพย์สินอ้างอิง
จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า
- อัตราการจองซื้อที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งปี 2564 จะอยู่ที่ประมาณ 56,000-58,000 หน่วย หรือลดลงประมาณ 11.2-14.2%
- การลงทุนเปิดโครงการใหม่คาดว่าจะเหลือเพียง 55,000-58,000 หน่วย หรือลดลงประมาณ 20.6-24.7%
ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562 อย่างไรก็ดียังคงต้องติดตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่อาจเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศเชิงบวกต่อธุรกิจที่อยู่อาศัยในระยะข้างหน้า รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด และการเข้าถึงของวัคซีนที่จะเป็นตัวแปรสำคัญต่อโอกาสฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย