ก่อนที่มาตรการ #ลดค่าโอนจดจำนอง เหลือ 0.01% จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีข่าวดีสำหรับคนที่กำลังมองหาบ้าน เนื่องจากได้มีการเปิดเผยจาก กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลังว่า คลังอยู่ระหว่างพิจารณาที่จะต่อมาตรการดังกล่าวออกไปอีก เพื่อช่วยเหลือประชาชนและกระตุ้นกำลังซื้อในเศรษฐกิจ

แต่เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา การกระตุ้นอสังหาผ่าน มาตรการลดค่าโอน-จดจำนอง ทำให้รัฐเสียรายได้ว่า 5,600 ลบ. จึงเป็นเรื่องที่ต้องหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย ผู้จัดเก็บภาษี สำนักงบประมาณและ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่าจะมีการชดเชยรายได้ตรงนี้อย่างไร

อ้างอิงจากกรุงเทพธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีเสียงเรียกร้องจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ให้ปรับเพดานราคาบ้านที่เข้าเกณฑ์ลดค่าโอน-จดจำนอง จาก 3 ลบ. เป็น 5 ลบ. ซึ่งเป็นระดับราคาที่มีสัดส่วนเกือบ 80% ของตลาด หากปลดล็อคตรงนี้ได้ น่าจะเป็นการกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดให้กลับมาคึกครั้งอีกครั้ง อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ถูกยกขึ้นมาตลอด 2 ปี แต่ก็ไม่มีเสียงตอบจากรัฐบาลเลยซักครั้ง

มาตรการลดค่าโอน-จดจำนองเหลือ 0.01% คิดอย่างไร?

ถ้าเราซื้อบ้านราคา 3 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมการโอนจากปกติต้องจ่าย 2% เป็นเงิน 60,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท และการลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากปกติต้องจ่าย 1% เป็นเงิน 30,000 บาท เมื่อลดเหลือ 0.01% จะจ่ายเพียง 300 บาท

รวมแล้วจากที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองสำหรับบ้านราคา 3 ล้านบาท ในอัตรา 3% เป็นเงิน 90,000 บาท ก็จะจ่ายในอัตราเพียง 0.01 % เป็นเงินเพียง 600 บาท

ทิศทางของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564

จากข้อมูลของหนังสือพิมพ์ทันหุ้น ได้มีการวิเคราะห์ว่า สำหรับผลดำเนินการของ 11 บริษัทอสังหาในตลาด น่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 7,062 ลบ. ลดลง 12% จากไตรมาสก่อน และ 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์ Covid และผลกระทบจากการปิดแคมป์คนงาน ทำให้ยอดโอน และคนเข้าชมโครงการลดลง

คาดการณ์กำไรรวมทั้งปีอยู่ที่ 30,170 ลบ. สูงกว่าปี 2563 ที่ทำได้ 28,378 ลบ. โดยน่าจะมาจากแนวราบเป็นหลัก ส่วนคอนโดมิเนียมน่าจะต้องใช้เวลาอีก 3 ปีกว่าจะฟื้น

ข้อมูลเพิ่มของรายได้-กำไร ของ 10 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ครึ่งปีแรก ได้ที่ ส่องผลประกอบการ 10 บริษัทอสังหาครึ่งปีแรก 2564 ก่อน Lock Down

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ  หนังสือพิมพ์ทันหุ้น