bo8a2347

กฤษฎีกาชี้ร.ฟ.ท.สามารถนำที่ดินมักกะสันพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ แจงได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาจากกรมรถไฟแล้ว ระบุร.ฟ.ท.มีอำนาจเด็ดขาดในการใช้ประโยชน์จากที่ดิน เพื่อประโยชน์ของรัฐ ประชาชน  ทั้งการให้เช่าและดำเนินงานอื่นๆเกี่ยวกับทรัพย์สิน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่ความเห็น เรื่องการนำที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)บริเวณโรงงานมักกะสันไปทำโครงการพัฒนา เชิงพาณิชย์ โดยระบุว่า ที่ดินดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ เนื่องจากที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยผลทางกฎหมาย ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต่อมาได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของร.ฟ.ท.จึงสามารถนำที่ดินไปดำเนินการใดๆได้ตามขอบวัตถุประสงค์ของร.ฟ.ท.

อย่างไรก็ตาม เมื่อร.ฟ.ท.มีอำนาจในการจัดดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการร.ฟ.ท.เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และธุรกิจอื่นซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการร.ฟ.ท.รวมถึงการให้เช่าและดำเนินงาน เกี่ยวกับทรัพย์สินใดๆ ตามมาตรา 6 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย ดังนั้นการนำที่ดินบริเวณโรงงานมักกะสันไปทำโครงการพัฒนา เชิงพาณิชย์จึงสามารถดำเนินการได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14ก.ย.ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้มี หนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องด้วยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2559 มอบหมายให้ร.ฟ.ท.ดำเนินการ จัดทำแผนการส่งมอบพื้นที่โรงงานมักกะสันให้แก่กระทรวงการคลังให้ชัดเจน พร้อมทั้งให้เร่งรัดดำเนินการส่งมอบเพื่อลดภาระหนี้สินโดยเร็ว โดยร.ฟ.ท.ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าพื้นที่โรงงานมักกะสันได้มาจากบทบัญญัติกฎหมาย 7 ฉบับ โดยกรมรถไฟได้ พื้นที่โรงงานมักกะสันมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์  มีการก่อสร้างโรงงาน มักกะสันตามพระบรมราชโองการของ พระมหากษัตริย์ ต่อมาร.ฟ.ท.จึงรับโอนกิจการ ทรัพย์สินและหนี้สินจากกรมรถไฟ ร.ฟ.ท.จึงได้ขอหารือกับสำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังนี้

  1. พระบรมราชโองการและพระราชบัญญัติ มีลำดับศักดิ์กฎหมายเป็นเช่นใด
  2. การเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ย่านโรงงานมักกะสัน (เพื่อประโยชน์ในกิจการเดินรถไฟ) มาเป็นโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ถือว่าขัดกับพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์หรือไม่ อย่างไร และ
  3. หากข้อ 2 ขัดแย้ง กับประกาศพระบรมราชโองการของ พระมหากษัตริย์แล้ว จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้พิจารณาข้อหารือของร.ฟ.ท.  มีความเห็นว่าที่ดินมักกะสันสามารถนำไปพัฒนาใน เชิงพาณิชย์ได้

ก่อนหน้านี้นายเอกนิติ   นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่ได้เปลี่ยนมติ การโอนสิทธิการใช้ที่ดินมักกะสันของร.ฟ.ท.ให้กระทรวงการคลัง เพื่อแลกหนี้ 6 หมื่นล้านบาท แต่ให้ ร.ฟ.ท.ไปดูรายละเอียดข้อกฎหมาย การสร้างความชัดเจนถึงอำนาจหน้าที่และพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับ การพัฒนาที่ดินเชิงพาณิชย์ให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นำเสนอคนร. ในการประชุมครั้งหน้า

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ