ถ้ายังจำกันได้ช่วงต้นปีคลังเคยเปรยๆ เรื่องเพิ่มการจัดเก็บภาษี นอกจากภาษีที่ดินซึ่งกำลังปรับกันอยู่แล้ว ก็มีเรื่องของ “ภาษีลาภลอย” ที่หลายฝ่ายเกิดอาการ “ตื่นกลัว” อย่างไม่มีสาเหตุ
ล่าสุด ทาง สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ออกมาบอกว่า ทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ยกร่างกฎหมายจัดเก็บภาษีจากผู้ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ หรือที่เรียกกันว่าภาษีลาภลอย เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ เพราะจะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบก่อน ซึ่งคาดว่าจะเสนอได้ในเร็ว ๆ นี้
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังจะทำอยู่แล้ว โดยมีแนวคิดคือจะจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐไม่ใช่แต่โครงการรถไฟฟ้า แต่รวมไปถึงทางด่วน รถไฟทางคู่ ไฮสปีด ทางด่วน ท่าเรือ สนามบิน โดยมีหลักการง่ายๆ คือจะเก็บเมื่อมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ” -สมชัย สัจจพงษ์-
ภาษีลาภลอย แปลตรงตัวคือ Windfall Tax ซึ่งต่างประเทศมีการใช้มานานแล้ว (จริงๆ ของไทยก็เคยศึกษาเรื่องนี้มานาน แต่ยังไม่มีการประกาศใช้จริงจัง คาดว่ารอบนี้อาจได้เห็นกันซักที) เป็น ภาษีที่เก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ โดยแบ่งการจัดเก็บเป็น 2 กรณี คือ
- เก็บระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง ส่วนนี้ให้กรมที่ดินเป็นผู้จัดเก็บ
- เก็บเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จแล้ว ซึ่งจะเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท โดยจัดเก็บจากห้องชุดของบริษัทที่รอการจำหน่าย จะจัดเก็บในปีถัดจากปีที่โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ และจะจัดเก็บเพียงครั้งเดียว กรณีนี้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของพื้นที่จัดเก็บ
ประเภทโครงการพัฒนาของรัฐที่อยู่ในข่ายต้องเก็บภาษี |
1.โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ซึ่งกำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี |
2.โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ |
3.ทางด่วนพิเศษ รัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลง |
4.สนามบิน รัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน |
สำหรับการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดิน/ คอนโดมิเนียมที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จะมีข้อยกเว้นสำหรับบ้านหรือที่ดินที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และที่ดินทำเกษตรกรรมเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนทั่วไปมากนัก
อัตราจัดเก็บภาษีจะมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสมอีกครั้ง โดยเสนอให้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วออกเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ในร่างพระราชบัญญัตินี้จะกำหนดเพดานอัตราภาษีสูงสุดเอาไว้ที่ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี ซึ่งฐานภาษี คือส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือคอนโดมิเนียมที่เพิ่มขึ้น ตั้งแต่วันที่รัฐบาลเริ่มดำเนินโครงการพัฒนากับมูลค่าในวันที่โครงการพัฒนาแล้วเสร็จ
อย่างไรก็ดีในส่วนของคอนโดมิเนียมนั้น จะยกเว้นคอนโดมิเนียมที่ผู้ประกอบการเป็นผู้จำหน่าย หรือคอนโดมิเนียมที่ยังไม่ได้จำหน่ายหลังโครงการพัฒนาของรัฐแล้วเสร็จ โดยให้คำนวณส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าคอนโดมิเนียมและจัดเก็บภาษีเพียง 20% จากส่วนต่างของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจริงหลังการพัฒนาโครงการของรัฐแล้วเสร็จ ซึ่งมูลค่าที่ดินและคอนโดมิเนียมจะใช้ราคาประเมินราชการแบบเดียวกับที่กรมที่ดินใช้อยู่
Source of Information: Property DNA