ยังไม่ทันได้เริ่มใช้ พ.ร.บ. ของปี 60 ที่เลื่อนไปใช้ปี 61 ครม. ก็ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอีกครั้ง ซึ่งว่ากันว่ารอบนี้ “เศรษฐีที่ดิน” จะต้องหนาว เพราะครม.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว โดยได้มีการปรับปรุงร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ โดยเก็บไม่เกิน 2% และขยับเพิ่ม 0.5% ทุกๆ 3 ปี จนถึงอัตราสูงสุด 5%
โดยการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในครั้งล่าสุดของปี 2562 จะมี 4 ประเภทหลัก ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้
- 1. ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเพื่อการประกอบเกษตรกรรม กำหนดอัตราภาษีไม่เกิน 0.2% ของฐานภาษี
- 2. ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบ้านที่พักอาศัย กำหนดอัตราภาษีไม่เกิน 0.5% ของฐานภาษี
- 3. ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ กำหนดอัตราภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี
- 4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า กำหนดฐานภาษีที่ 2% และจะเพิ่ม 0.5% ทุกปี ไม่พัฒนา 3 ปีติดต่อกันเสีย 2.5% โดยมีเพดานภาษีสำหรับพื้นที่รกร้างว่างเปล่าสูงสุด 5%
จะมีเงื่อนไขใดเข้าข่ายได้รับการยกเว้น หรือ ขอลดหย่อนภาษีได้?
โดยการคำนวณภาษีนั้น ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณไม่เกิน 50 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อเป็นช่องทางการขอลดหย่อนภาษีได้ 90% จากอัตราฐานภาษี ในกรณีที่มีบ้านพักอาศัยอยู่มาเป็นระยะเวลานานแต่ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเจ้าของบ้านมีรายได้ไม่มาก รวมทั้งกำหนดข้อบังคับห้ามขายห้ามโอนหากติดหนี้ภาระภาษี ยกเว้นกรณีขายทอดตลาด
เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่?
คาดว่าจะใช้ระยะเวลาการพิจารณาในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติประมาณ 2-3 เดือน และจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 1 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ประมาณ 1 ม.ค. 2562
มีวิธีการคำนวณภาษีอย่างไร?
ด้านภาระภาษีที่ต้องเสียในแต่ละปีนั้นจะคำนวนจากฐานภาษีของ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินรวมกับสิ่งปลูกสร้าง โดยจะมีวิธีการคำนวณภาระภาษีในแต่ละกรณีก็จะแตกต่างกันออกไป
- 1 . กรณีที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง
ภาระภาษี = มูลค่าที่ดิน x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน - 2. กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ภาระภาษี = (มูลค่าที่ดิน + มูลค่าสิ่งปลูกสร้าง) x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้มูลค่าที่ดิน = ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน (ต่อ ตร.ว.) x ขนาดพื้นที่ดิน โดยมูลค่าสิ่งปลูกสร้าง = (ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่สิ่งปลูกสร้าง) – ค่าเสื่อมราคา - 3. กรณีห้องชุด
ภาระภาษี = มูลค่าห้องชุด x อัตราภาษี ทั้งนี้ กำหนดให้ มูลค่าห้องชุด = ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด (ต่อ ตร.ม.) x ขนาดพื้นที่ห้องชุด (ตร.ม.)
โดยกรมธนารักษ์จะเป็นผู้กำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน ราคาประเมินทุนทรัพย์โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุด และอัตราค่าเสื่อมราคา ตามการประเมิน
ที่มา: Plus.co.th