ถกกันต่อไปกับผังเมือง กทม. ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่ช้านี้ (ต้องคลอดแน่ๆภายใน 2 ปี เพราะผังเมืองเดิมไม่สามารถต่ออายุได้ต่อไป) รายละเอียดมีหลายจุด ประเด็นหลักที่ชี้กันมากที่สุดก็คือ ซอยถ้ากว้างไม่ถึง 12 เมตร ไม่สามารถสร้างคอนโดได้ ซึ่งปัจจุบันซอยเก่าๆใน กทม. มีจำนวนไม่มากที่กว้างถึง 12 เมตร การจะผุดคอนโดต้องทำในซอยที่กว้างขนาดนี้หรือมากกว่าเท่านั้น ทำให้พื้นที่การขึ้นคอนโดมีน้อย ผู้ประกอบการก็จะแย่งกันซื้อที่ ทำให้ต้นทุนที่ดินขึ้นไปสูง สุดท้ายก็ย้อนกลับมาหาผู้บริโภค ที่จะไม่มีห้องชุดถูกๆในเมือง แต่ในมุมกลับกัน ถ้าซอยแคบเกินไป การจราจรจะมีปัญหา ถ้ารถจอดสองฟากแล้วจะเข้าออกอย่างไรถ้าซอยกว้างแค่ 8 เมตรแล้วเกิดมีคอนโด 200 ห้องอยู่ข้างใน ชาวบ้านเดิมๆไม่เดือดร้อนตายเลยหรอ ดังนั้นก็ต้องหาข้อสรุปกันต่อไปครับ
Website Link ประชาชาติธุรกิจ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยเชิญตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุมประมาณ 300 ราย
นายประทีป ตั้งมติธรรม สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ประเด็นการกำหนดขนาดเขตทางขั้นต่ำ 12 เมตรในถนนรอง เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในขณะนี้ แต่ควรเป็นในอีก 10-12 ปีข้างหน้า หรือควรลดขนาดลงมาให้เหลือขนาดเขตทาง 8 เมตรน่าจะเหมาะสมมากที่สุด
นอกจากนี้ การกำหนดสัดส่วนพื้นที่อาคาร (Floor Area Ratio-FAR) ในหลายพื้นที่ที่มากถึง 10 เท่าถือว่ามากเกินไป น่าจะลดลงเหลือประมาณ 8 เท่าก็พอ มหานครใหญ่ ๆ ทั่วโลกก็ใช้เกณฑ์มาตรฐานนี้อยู่แล้ว
“ประเด็นที่อยากให้พิจารณา คือ การกำหนด FAR โบนัส ในรัศมีรถไฟฟ้า 500 เมตร โครงการที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ จะโฟกัสไปที่ผู้มีรายได้สูงเป็นหลักแต่หากขยายออกไปเป็น 1,000 เมตร เชื่อว่าผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะเข้าถึงที่อยู่อาศัยในเมืองมากขึ้น” นายประทีปกล่าว
นายธำรงค์ ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวว่า ถ้ากำหนดให้มีขนาดเขตทางเพิ่มขึ้น จะส่งผลให้การพัฒนาโครงการในอนาคตต้องพัฒนาในทำเลติดถนนสายหลักเท่านั้น ส่วนการเข้าไปพัฒนาคอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ในถนนซอยไม่สามารถทำได้เลย เหมือนกับเป็นการคุมกำเนิดการพัฒนาโครงการที่อยู่ในถนนซอยไม่ให้เกิดขึ้น
“เป็นไปได้หรือไม่ ซอยที่มีเขตทางกว้างไม่ถึง 12 เมตร ควรมีการปรับระยะถอยร่นแบบค่อย ๆ ขยายส่วนอัตราส่วนพื้นที่โล่งต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) อยากให้เพิ่มความสูงเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันจำกัดความสูงอยู่ที่ 23 เมตร” นายธำรงค์กล่าว
ด้านนางสาวณฤดี เคียงศิริ อดีตนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ยังมีหลายประเด็นที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะราคาที่ดินชานเมืองปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้รายได้น้อยและปานกลางไม่สามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้
เช่น ที่ดินประเภท “ย.1” พัฒนาบ้านเดี่ยว 50 ตารางวาขึ้นไป แต่ผังใหม่เพิ่มเป็น 100 ตารางวา ต้นทุนที่ดินเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท “ย.2 สีเหลือง” สร้างทาวน์เฮาส์ 50 ตารางวาขึ้นไปได้ ซึ่งขนาดปกติ 16 ตารางวา ราคาที่ดินอยู่ที่ 480,000 บาท/ตารางวา ผังใหม่จะเพิ่มเป็น 1.5 ล้านบาท “ก.1” ที่ดินอนุรักษ์และเกษตรกรรม สร้างบ้านเดี่ยว 1,000 ตารางวาขึ้นไป ทำให้ราคาที่ดินเพียงอย่างเดียวในการสร้างบ้านพุ่งขึ้นเป็น 30 ล้านบาท