จากผลกระทบของ Covid-19 ทำให้ผลประกอบการอสังหาในช่วงครึ่งปีแรก ยังไม่ค่อยสดใสนัก และมีแนวโน้มซึมยาวไปถึงปลายปี หลายบริษัทชะลอการเปิดโครงการใหม่ โดยเฉพาะคอนโด และหันมารุกแนวราบมากขึ้น ควบคู่ไปกับการระบายสต็อคในโครงการเดิม และพยายามที่จะเก็บกระแสเงินสดไว้ให้มากที่สุด
REIC หรือศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ได้ประมาณการจำนวนยูนิตเปิดใหม่ในปี 2563 คาดว่าจะอยู่ราวๆ 56,662 ยูนิต ลดลง 54,592 ยูนิต (-49.1%) จากปี 2562 และจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสมจำนวนประมาณ 212,750 หน่วย มูลค่าประมาณ 1,340,233 ลบ.
LPN Wisdom วิเคราะห์ถึงภาพรวมผลประกอบการในครึ่งปีแรก ว่า ผลการดำเนินงานของ 36 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ (ครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 70%)
- มีรายได้รวม 143,202.37 ล้านบาท ลดลง 19.27% เทียบกับระยะเดียวกันของปี 62
- กำไรสุทธิอยู่ที่ 10,714.80 ล้านบาท ลดลง 55.11% เทียบกับระยะเดียวกันของปี 62
ขณะที่ความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยทั้งตลาดอยู่ที่ 7.48% โดย 15 บริษัทแรกมีรายได้รวม 119,687.52 ลบ. คิดเป็นสัดส่วน 83.58% ของรายได้รวม
สินค้าคงเหลือ (รวมโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและสร้างเสร็จ) ของ 36 บริษัท
ในครึ่งปีแรกอยู่ที่ 601,441.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (yoy) แต่ลดลงมา 3.38% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 63 เนื่องจากช่วงในไตรมาส 2 ผู้ประกอบการทุกค่ายต่างโหมจัดแคมเปญส่งเสริมการขายอย่างหนัก ลดราคา แจก แถม เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าเร่งตัดสินใจซื้อโครงการที่อยู่อาศัย มีการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ถ่ายทำและจำลองห้องเสมือนจริง ให้ลูกค้าเลือกดูห้องในตำแหน่งต่างๆ ในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการระบายสต๊อกมูลค่ากว่า 601,441.55 ลบ. ต้องอิงปัจจัยเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ หาก GDP ขยายตัวได้ระดับ 3-4% อัตราดูดซับต่อปีน่าจะอยู่ประมาณ 230,000-250,000 ลบ. โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการระบายออก 2 ปีครึ่ง แต่หาก GDP เติบโตต่ำลงอย่างต่อเนื่อง อัตราการดูดซับจะช้าลงออกไปอีก