เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ข่าวใหญ่ที่สะเทือนวงการอสังหาฯ คงหนีไม่พ้น ข่าวการผนึกกำลังระหว่างปริญสิริฯ และ KPNH (KPN Holding) ผ่านดิวซื้อขายมูลค่า 4,032 ล้านบาท ชำระเป็นหุ้นเพิ่มทุน และเงินสดอย่างละครึ่ง โดยเตรียมเพิ่มทุน 1.92 พันล้านหุ้น (ราคาหุ้นละ 2.10 บาท) จัดสรรให้กับนักลงทุนในวงจำกัด (PP) รวม 960 ล้านหุ้น และจัดสรรให้แก่ KPNH อีก 960 ล้านหุ้น ส่งผลให้ KPNH เข้ามาถือหุ้นในบริษัท 30.57% พร้อมลุยธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ให้ครอบคลุมครบทุกระดับ
วันนี้ Think of Living จะพาไปย้อนอดีตกว่าสองทศวรรษของ “ปริญสิริ” ภายใต้บังเหียนของหญิงแกร่งอย่าง “คุณสิริลักษณ์ โกวิทจินดาชัย” ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการของบริษัทฯ…ผู้เริ่มต้นจากธุรกิจผ้าม่าน “ไทยจินดาผ้าม่าน” ในปีค.ศ. 1988 ก่อนที่จะผันตัวมาจับอสังหาริมทรัพย์ ก่อตั้ง บริษัท ไทยจินดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด และบริษัท จินดาพงษ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ในปีค.ศ. 1993
การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ คุณสิริลักษณ์ ในระยะแรกเป็นการพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรขนาดเล็ก ไม่เกิน 100 หลัง มูลค่าเฉลี่ยไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยเน้นโครงการในแนวราบเป็นหลัก จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปีค.ศ. 1997 บริษัทก็ชะลอแผนการลงทุน เน้นการพัฒนาโครงการที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามแผนที่วางไว้ ก่อนที่จะกลับมารุกเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกครั้งในปีค.ศ. 2000 ด้วยการจดทะเบียนจัดตั้ง “บริษัท ปริญสิริ จำกัด” ด้วยทุน 5 ล้านบาท ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปี ค.ศ. 2004 และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 1 ปีต่อมา
“ปริญสิริ” เน้นการพัฒนาบ้านจัดสรรแนวราบเป็นหลัก ก่อนที่จะรุกตลาดคอนโดมิเนียมครั้งแรก“The Pulse ซ.ลาดพร้าว 44” ในปีค.ศ. 2006 พร้อมๆ กับการพัฒนาโครงการทั้งแนวราบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บริษัทฯ ยังรุกเข้าไปลงทุนในธุรกิจอื่นๆ แยกเป็น 7 บริษัทย่อย
- บริษัท ปริญเวนเจอร์ จำกัด ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ประเภทหมู่บ้านจัดสรร บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100.00 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
- บริษัท โกร โยธา กรุ๊ป จำกัด ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างและจำหน่ายวัสดุก่อสร้างให้กับบริษัทและผู้รับเหมาก่อสร้างของบริษัทเป็นส่วนใหญ่ บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
- บริษัท ซีเอ็น เอสพีอาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบธุรกิจค้าให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่รอการพัฒนา โดยส่วนใหญ่เป็นอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่ดิน บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.97 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
- บริษัท เพลินนารี่ มอลล์ จำกัด ประกอบธุรกิจศูนย์การค้าตั้งอยู่ที่ ถนนวัชรพล อยู่บนที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.97 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
- บริษัท เพลินแลนด์ จำกัด ประกอบธุรกิจสวนสนุกและศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็ก เป็นบริษัทในเครือบริษัท เพลินนารี่ มอลล์ จำกัด บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.97 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
- บริษัท อีทเทอรี่ จำกัด ประกอบธุรกิจภัตตาคารร้านอาหาร เป็นบริษัทในเครือบริษัท เพลินนารี่ มอลล์ จำกัด บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.97 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว (เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เดือน ตุลาคม 2557)
- บริษัท ปริญ เอนเนอร์จี จำกัด ประกอบธุรกิจ ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานทดแทน สำหรับบ้านพักอาศัย อาคารสำนักงาน ออกแบบก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ตลอดจนบริการดูแลบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัทถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99.97 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
การขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ในปีค.ศ. 2008 ต้องเผชิญกับวิกฤติเมื่อโครงการคอนโดมิเนียมของบริษัทมีปัญหาในเรื่องการก่อสร้างผิดแบบจากที่ได้รับใบอนุญาตด้านสิ่งแวดล้อม จนทำให้การก่อสร้างและการโอนล่าช้ากว่ากำหนด ส่งผลให้บริษัทต้องชะลอแผนการลงทุนในโครงการคอนโดมิเนียมไประยะหนึ่ง และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทปรับตัวลดลงดังนี้
ถึงแม้แผนการลงทุนของบริษัทจะชะลอตัว เน้นการลงทุนอย่างค่อยเป็นค่อยไปไม่รุกเหมือนช่วงก่อนหน้าก็ตาม เราก็ยังคงรับรู้การเคลื่อนไหวของปริญสิริผ่านโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีข่าวสะเทือนวงการ “ปริญสิริ ผนึกกับกลุ่มเคพีเอ็น” เปลี่ยนมือด้วยการแลกหุ้นและชำระเป็นเงินสดบางส่วนโดยมีเป้าหมายก้าวไปสู่พัฒนาบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ซึ่งเป็นเป้าหมายเดียวกับบริษัทอสังหาฯหลายราย ที่ปรับตัวไปก่อนหน้านี้
นายอุเทน คงสุนทรกิจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปริญสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าจะจบดีลระหว่างปริญสิริ และกลุ่มเคพีเอ็น ภายในเดือนนี้ และจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นปริญฯเพื่อขออนุมัติโครงสร้างการบริหารและแผนดำเนินการ หลังกลุ่มเคพีเอ็น ถือหุ้นใหญ่ในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ โดยยืนยันจะใช้ชื่อปริญสิริเหมือนเติม ซึ่งปริญสิริจะเน้นพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบเป็นหลัก ส่วนกลุ่มเคพีเอ็นจะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม โดยแบรนด์ของทั้งสองบริษัทจะยังคงอยู่ แต่จะมีการนำแบรนด์มาวางตำแหน่งสินค้าใหม่
ทั้งนี้การซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนกิจการด้วยเงินสดกับหุ้น เปรียบเหมือนนวัตกรรมทางการเงิน ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อตอบโจทย์บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องการเพิ่มขนาดองค์กรทางลัด เพื่อโตให้ทันกับสถานการณ์การแข่งขันที่ทวีความเข้มข้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง…ซึ่งในกรณีของปริญสิริ ก็เป็นเรื่องที่เราต้องจับตากันดูต่อไป 🙂
ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติม: ฐานเศรษฐกิจ, ข่าวหุ้น