หลายคนคงรอคำตอบเกี่ยบกับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่าจะมากน้อยเท่าไหร่ เพื่อเป็นตัวตัดสินใจเรื่องค่าใช้จ่ายและวางแผนการเดินทาง ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา กทม. ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนจากการปรับอัตราค่าโดยสารของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และได้พยายามหาทางแก้ไข รวมถึงศึกษาแนวทางการดำเนินการต่างๆ โดยขณะนี้ กทม.อยู่ระหว่างการนำเสนอแนวทางแก้ไขสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบปรับลดค่าโดยสารให้เหลือ 65 บาทตลอดสาย เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะเป็นหลัก ช่วยลดผลกระทบด้านการจราจร มลพิษ และค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กทม.ได้เปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทุกเส้นทางแล้ว พร้อมทั้งได้ออกประกาศกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.64 เป็นต้นไป โดยการเก็บค่าโดยสารจะเก็บเพียงครั้งเดียวต่อรอบ ไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อน โดยคิดจากเส้นทางต้นทางที่เริ่มเดินทาง ดังนี้ครับ
- ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงเส้นทางสัมปทานในปัจจุบัน (หมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-วงเวียนใหญ่) จะยังคงเป็นอัตราเดิม คือ 16-44 บาท
- ส่วนต่อขยายช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต จากสถานีห้าแยกลาดพร้าว ถึงสถานีคูคต ค่าโดยสาร 15 – 45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
- ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท จากสถานีบางจาก ถึงเคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสาร 15-45 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
- ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงที่ 2 จากสถานีโพธิ์นิมิตร ถึงสถานีบางหว้า ค่าโดยสาร 15-24 บาท (ปรับเพิ่มขึ้น 3 บาทต่อสถานี)
พร้อมกันนี้ เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 กทม. จะปรับอัตราค่าโดยสารสูงสุด จากเดิมที่ต้องจ่ายจริงตลอดสายอยู่ที่ 158 บาท เป็น 104 บาท แม้กทม.จะต้องแบกรับภาระการขาดทุนตั้งแต่ปี 2564 – 2572 ถึงประมาณ 30,000-40,000 ล้านบาท ก็ตาม ซึ่งขอยืนยันว่ากทม. จะพยายามแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอย่างดีที่สุดและจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อนจะลดเพดานค่าโดยสารให้ไม่เกิน 65บาท
กระทรวงคมนาคมชะลอการปรับค่าโดยสาร BTS 104 บาท ตลอดสาย ยืนยันให้รอฟังประกาศจากครม. อีกที
อ้างอิงจากข้อมูลของ PPTV ล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าในวันนี้ (18 ม.ค. 2564) ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคม กรมการขนส่งทางราง ทำหนังสือถึง กทม.พิจารณาชะลอการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารสายสีเขียว จนกว่าจะได้ข้อสรุปมีการพิจารณาร่วมกันระหว่างทุกฝ่าย และหาหนทางอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการ บริหารจัดการ ที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้บริการ ซึ่งประกาศของ กทม.ที่ออกมานั้นถือว่าไม่ได้ปฎิบัติตามมติของคณะรัฐมนตรีให้ครบถ้วน
โดยมติของคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 มีการลงมติสำคัญๆ เช่น การกำหนดให้ กระทรวงคมนาคมบูรณาการร่วมกับกรุงเทพมหานครในการกำหนดอัตราแรกเข้า อัตราค่าโดยสารที่เป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชน นอกจากนี้กระทรวงคมนาคมยังได้มีหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อขอเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาศึกษา และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ลดอัตราค่าโดยสารจากสูงสุด 65 บาท ที่ กทม.ใช้เป็นฐานการคำนวนให้สัมปทานกับเอกชนถึงปี พ.ศ.2602 คิดเวลารวมกว่า 38ปี ซึ่งสูงกว่าอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆในสังกัดกระทรวงคมนาคมได้กำหนดใช้ด้วย
ด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในวันนี้จะให้เจ้าหน้าที่ส่งหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงคมนาคม ที่เคยทำหนังสือขอเอกสารประกอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระยะเวลา 30 ปีให้กับกลุ่ม บีทีเอส พร้อมยืนยันว่าการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวแบบนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์ เพราะค่าโดยสารตลอดสายจะถูกลงเหลือไม่เกิน 65 บาท รวมถึง กทม.ก็ไม่ต้องแบกรับหนี้มูลค่ากว่าแสนล้านบาทด้วย ส่วนหนี้สินค่าจ้างเดินรถมูลค่า 9,577 ล้านบาทนั้น ทาง กทม.กำลังหาแนวทางออกอยู่ว่าจะดำเนินการ
ขณะที่ นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ BTS บอกว่า อัตราค่าโดยสารที่เพิ่มขึ้นเป็นข้อสรุปจากการหารือกับ กทม.ที่เป็นผู้ว่าจ้างเดินรถแล้ว และค่าโดยสารสูงสุด 104 บาท ก็เป็นตัวเลขที่ต้องแบกภาระขาดทุน เนื่องจากคิดตามต้นทุนส่วนต่อขยายทั้งหมดจะต้องเก็บค่าโดยสารถึง 158 บาท
สามารถอ่านข้อมูลแผนที่สถานีรถไฟฟ้าทั่วประเทศ ที่ไหนที่เปิดให้บริการกันไปแล้วบ้าง และในสถานีที่ยังสร้างไม่เสร็จแต่ละเส้นมีความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว มาอัพเดตข้อมูลและดูแผนที่รถไฟฟ้าล่าสุดเพิ่มเติมได้ที่ บทความแผนที่รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล