ท้ายสุดแล้ว เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2556 รฟม.ก็เห็นชอบรับเรื่องยื่นมือ เป็นผู้ลงทุนศึกษา ความเหมาะสมของการสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี ซึ่งก่อนหน้านี้ สนข.(สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร) ออกมาบอกว่า ไม่มีงบประมาณพอที่จะมาศึกษาโครงการให้
ทั้งนี้รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเป็นการต่อยอดไอเดียของคุณ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ผุดขึ้นมาท่ามกลางเสียงต้านการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ (N1,N2,N3) จนกระทรวงคมนาคมต้องสั่งเบรก แต่อย่างไรก็ตามอานิสสงฆ์ที่มีมาถึงที่ดินเรือนจำกลางคลองเปรมก็มีอยู่มาก เพราะหลังจากที่บิ๊ก กระทรวงการคลัง กิตติรัตน์ ณ ระนอง จองพื้นที่ผืนนี้ที่มีอาณาจักรกว่า 500ไร่ หรือประมาณ 5.5 ล้าน ตร.ม. โดยตั้งใจจะเปิดให้เอกชน ร่วมลงทุนระยะยาวสร้างรายได้ โดยเตรียมจะปรับสีผังเมืองพื้นที่บริเวณนี้จากเดิม สีน้ำเงิน ใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนราชการ ปรับเป็นสีน้ำตาล ให้สามารถพัฒนาได้มากขึ้น
ทั้งนี้มีแผนจะปรับให้เป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์ผสมผสาน โดยนอกจากจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงหรือเดโป้สำหรับรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีพื้นที่อาคารสำนักงาน ค้าปลีก คอมมูนิตี้มอลล์ โรงแรม คอนโดฯ และเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ อีกด้วย ซึ่งแนวคิดนี้ตรงกับ ยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามานั่งเก้าอี้ผู้ว่า ฯ รฟม. ที่ต้องการจะสร้างโมเดล TOD หรือ Transit Orientad Development ซึ่งเป็นแนวคิดการพัฒนาพื้นที่รองสถานีรถไฟฟ้าที่เตรียมจะผลักดันเป็นโมโนเรลเพิ่มรายได้ให้กับ รฟม. ในอนาคต
สั่งทำโมโนเรล 4.5 หมื่นล้าน
ทั้งนี้ประธานบอร์ด รฟม. น.ส.รัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ รฟม. ศึกษารายละเอียดความเหมาะสมและออกแบบก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล (แคราย-ลำสาลี) ระยะทาง 21.9 กม. วงเงินประมาณ 45,000 ล้านบาท ตามที่ รฟม.เสนอเป็นโครงการเพิ่มเติมจากแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน 12 สาย โดยจะเป็นระบบรถไฟฟ้าโมโนเรล มีจุดเชื่อมกับรถไฟฟ้าอีก 6 สาย ขั้นตอนจากนี้จะนำเสนอกระทรวงคมนาคมรับทราบเพื่อบรรจุเพิ่มเติมในแผนแม่บทรถไฟฟ้าต่อไป สำหรับแนวเส้นทางเริ่มจาก ถ.รัตนาธิเบศร์ ตรงหน้าศาลากลางนนทบุรี เชื่อมกับรถไฟฟ้า 2 สาย คือ สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับสีม่วง(บางซื่อ – บางใหญ่) แล้ววิ่งไปตามแนว ถ.งามวงศ์วาน ผ่านเรือนจำคลองเปรม ข้าม ถ.วิภาวดีรังสิต เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตรเชื่อมรถไฟฟ้าสานสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สถานีเกษตรศาสตร์ ผ่าน ถ.เกษตร-นวมินทร์ ตัดเข้า ถ.ลาดพร้าว ถ.พ่วงศิริ แยกลำสาลี จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ทั้งนี้ รฟม. อยู่ในช่วงเจรจากับการทางพิเศษฯขอใช้ตอม่อของทางด่วนบน ถ.เกษตร-นวมินทร์ ที่คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี อย่างไรก็ตาม แนวเส้นทางของ รฟม. ไม่ได้เพี้ยนไปจากที่ สนข.ขีดไว้คร่าวๆ เพียงขยับแนวช่วงปลายโครงการใหม่ จากเดิมสิ้นสุดที่บึงกุ่มเป็นมาอยู่แยกลำสาลีแทน เพื่อเชื่อมกับสายสีส้มและสีเหลืองที่ รฟม. กำลังเร่งผลักดัน
สำหรับแนวเส้นทางของ สนข. เป็นแนวเดียวกับทางด่วนของ กทพ. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย จุดเริ่มต้นโครงการจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง –สายสีชมพู มีสถานีร่วมกันที่หน้าศูนย์ราชการนนทบุรี จากนั้นจะวิ่งตรงมา ถ.งามวงศ์วานผ่านแยกพงษ์เพชร แยกวิภาวดีฯ เชื่อมกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ตรงมาถึงแยกเกษตรฯ เชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ตรงมาตามแนว ถ.เกษตร-นวมินทร์ (ถ.ประเสิรฐมนูกิจ) ช่วงจุดตัดกับทางด่วน เอกมัย-รามอินทรา ในอนาคตจะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีเทา (โมโนเรล) แล้วตรงไปผ่านแยกนวมินทร์ เลี้ยงขวาเข้า ถ.นวมินทร์ ไปตามแนวถนน ช.2 ของ กทม.ที่จะสร้างเพื่อเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่แล้วตัดเข้านวมินทร์ ซ. 50 และซ. 42 ผ่านเสรีไทย ซ. 35 ข้าม ถ.เสรีไทย และไปตาม ถ.รามคำแหง ซ.129/1 บรรจบกับรถไฟฟ้าสายสีส้มที่สถานีมีนบุรี โดยผลการศึกษาเบื้องต้นจะเป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลขนาดกลาง กว้างประมาณ 2.40-3 ม. ยาว 12-15 ม.ต่อตู้ จะเป็นฟีดเดอร์ คล้ายกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู-สีเหลือง ใช้เงินลงทุน 61,752 ล้านบาท ระยะทาง 21.9 กม.แยกเป็นค่าก่อสร้าง 25,752 ล้านบาท ค่าระบบรถไฟฟ้าและบำรุงรักษา 30 ปี 36,000 ล้านบาท ทั้งนี้จะมี 23 สถานี ซึ่งเบื้องต้นมี 21 สถานี และอีก 2 สถานีจะมีในอนาคต โดยแต่ละสถานีห่างกันประมาณ 1 กม.
ที่มาบางส่วน :ประชาชาติธุรกิจ