fb-cover2-3-4-v2-mourning-%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%ab%e0%b8%b1%e0%b8%a7%e0%b8%a1%e0%b8%b1%e0%b8%992

“เขาบอกพระราชา นั่งอยู่บนบังลังก์
ใส่เสื้อคลุมหนัง บนยอดปราสาทเสียดฟ้า
แต่ว่าราชาของฉัน ทรงเดินอยู่บนผืนหญ้า
เก้าอี้ของพระราชาคือพื้นดิน..”

เนื้อเพลงตอนหนึ่งจากเพลง พระราชาในนิทาน จากศิลปินเสถียรธรรมสถาน สะท้อนเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ผู้เป็นกษัตริย์นักพัฒนา เราจึงมักจะเห็นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรตามภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศไทย ทำให้มีพระตำหนักในถิ่นทุรกันดารหลายแห่ง ซึ่งพระตำหนักตามต่างจังหวัดของพระองค์มักเป็นบ้านที่มีความเรียบง่าย ตามพระราชดำรัสพอเพียงที่ทรงสอนประชาชน ยิ่งตามต่างพื้นที่ที่ทุรกันดารมากๆ พระองค์จะไม่ได้ใช้ที่ดินเพื่อสร้างบ้านอย่างเดียว แต่จะทรงแบ่งพื้นที่สำหรับใช้เป็นพื้นที่วิจัยเพื่อพัฒนาที่ดินในย่านนั้นด้วย ทำให้ “บ้านของพ่อ” ในถิ่นทุรกันดารไม่เหมือนกับพระราชวังของกษัตริย์พระองค์ใด เพราะบ้านของพ่อจะไม่ใช่วิลล่าที่สวยงามแต่จะเป็นตำหนักที่ประทับทรงงานของท่านด้วย วันนี้จะพาไปชมบ้านทรงงานหลังสุดท้ายของพ่อ ณ บ้านเลขที่ 1 โครงการ “ชั่งหัวมัน” จังหวัดเพชรบุรี บ้านพักแห่งนี้จะมีความน่าสนใจอย่างไร ตามไปชมกันค่ะ

บ้านเลขที่ 1 หมู่ 5 บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี บ้านพักส่วนพระองค์ในโครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เป็นบ้านพักส่วนพระองค์ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือโฉนดและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยทรงขึ้นทะเบียนเป็นเกษตรกรทำไร่ ซึ่งมาทราบภายหลังจากที่ซื้อที่ดินแล้วว่าเป็นที่ดินผืนที่แห้งแล้งที่สุดในจังหวัดเพชรบุรี ภายในที่ดินมีเพิงเก่าอยู่หลังหนึ่งเลขตามทะเบียนเป็นเลขที่ 1 ด้วยความพอเพียงของพระองค์ท่านจึงโปรดให้ปรับปรุงเพิงหลังเก่าขึ้นมาเป็นบ้าน จนเป็นที่มาของบ้านเลขที่ 1

บริเวณบ้านรายล้อมไปด้วยแปลงปลูกพืชผักท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นเสมือนแปลงทดลองเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจให้กับชาวบ้านในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียงทั้งแปลงผักและพืชสวน ได้แก่ มันเทศ สับปะรดปัตตาเวีย มะนาวแป้น หน่อไม้ฝรั่ง ชมพู่เพชรสายรุ้ง มะพร้าว กะเพรา ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ยางพารา ยางนา

นอกจากนี้ยังมีฟาร์มปศุสัตว์ ได้แก่ โคนมและ ไก่ไข่ซึ่งเปิดให้เยาวชนและประชาชนที่สนใจเข้ามาศึกษาเพื่อนำไปปรับใช้กับการเพาะปลูกพืชผลการเกษตรของตนเอง อีกทั้งยังทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเป็นลูกจ้างที่เข้ามาช่วยกันดำเนินงานภายในต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูแลแปลงผัก พืชสวน ฟาร์มปศุสัตว์ ที่สำคัญยังมีอ่างเก็บน้ำหนองเสือสำหรับกักเก็บน้ำไว้ใช้ในโครงการด้วย

เหตุที่เรียกโครงการ “ชั่งหัวมัน” ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าชื่อนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร…เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯไปประทับที่พระราชวังไกลกังวล ทรงมีพระราชประสงค์ให้นำมันเทศที่ชาวบ้านนำมาถวายวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณ ต่อมาพระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพฯโดยไม่ได้นำมันกลับไปด้วย พอพระองค์เสด็จพระราชดำเนินกลับไปยังพระราชวังไกลกังวลอีกครั้งจึงพบว่า มันเทศที่วางบนตาชั่งมีใบงอกออกมา จึงรับสั่งให้นำหัวมันนั้นไปปลูกใส่กระถางไว้ในวังไกลกังวล แล้วทรงมีพระราชดำรัสให้หาพื้นที่เพื่อทดลองปลูกมันเทศ “พระองค์ท่านมองว่า ถึงเป็นที่ดินที่แห้งแล้ง ก็น่าจะเอามันมาปลูกขึ้นได้ง่าย” รองเลขาธิการพระราชวัง ดิสธร วัชโรทัย กล่าวไว้ในรายการเจาะข่าวเด่น

โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นมา ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 รวมเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ แต่เดิมผืนดินมีสภาพเสื่อมโทรมและกันดาร เนื่องจากเจ้าของเดิมปลูกยูคาลิปตัสไว้ตัดขาย โครงการที่เกิดขึ้นจึงมีจุดประสงค์ในการก่อตั้งเพื่อพลิกฟื้นดินที่แห้งแล้งให้กลับมาสมบูรณ์ มีเป้าหมายเพื่อสร้างให้เป็นศูนย์รวมพืชเศรษฐกิจ โดยให้ชาวบ้านและภาครัฐเข้ามาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อช่วยกันดูแล เพื่อทำให้ดูว่าแม้พื้นที่ที่ยากที่สุดแก่การทำการเกษตร ก็ทำให้อุดมสมบูรณ์ได้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร

มีบทสัมภาษณ์นายศรราม ต๋องาม สมาชิก อบต. กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการปลูก หน่อไม้ฝรั่งกล่าวไว้ว่า “รู้สึกดีใจที่พ่อหลวงมีพระประสงค์ตั้งพื้นที่โครงการใกล้ชิดชาวบ้าน ทำให้ทุกคนต่างร่วมแรงร่วมใจใช้ความรู้ที่แต่ละคนมีช่วยเหลือ เพื่อให้พ่อหลวงมีความสุข โดยทุกวันพฤหัสบดีชาวบ้านจะมารวมตัวกันเพื่อดูแลไร่ของพ่อหลวงด้วยความสมัครใจ เดิมทีชาวบ้านหลายครอบครัวใช้สารเคมีแต่พอเข้ามาดูในไร่ของพระเจ้าอยู่หัวแล้วจึงเห็นการทำเกษตรเกษตรอินทรีย์ และการใช้ระบบน้ำหยด ทำให้ชาวบ้านเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ความสำเร็จจากโครงการนี้จึงไม่ใช่เพียงผลที่เกิดในโครงการอย่างเดียว ยังส่งผลถึงประโยชน์ที่ชาวบ้านในละแวกนี้จะได้รับไปด้วย”

นอกจากแม่แบบด้านการเกษตรแล้ว ยังมีกังหันลมผลิตไฟฟ้า ตามนโยบายรัฐบาลที่ใช้พลังงานทดแทนผลิตกระแสไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะดำเนินการเข้ามารับซื้อพลังงานสะอาดที่ได้นี้ต่อไป ไฟฟ้าพลังงานสะอาดไม่ได้ใช้หมุนเวียนในไร่ ผลิตได้เท่าไร จะเอาไปหักลบกับพลังงานที่ใช้ ทุกเดือนจะมีเงินเหลือ การไฟฟ้าฯ ก็ตีเช็คกลับคืนมา เป็นรายได้อีกทางหนึ่งของโครงการด้วย นอกจากนี้ยังมี Solar Cell เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ป็นแบบทดลองตัวอย่างแก่เกษตรกรโดยรอบ

โครงการชั่งหัวมันฯ เป็นการบริหารทรัพยากรแบบบูรณาการ โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกันก็พยายามเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับประชาชนโดยทั่วไป แล้วให้ภาครัฐและชาวบ้านร่วมดูแลด้วยกัน เพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิด ทำให้เกิดความรู้ทางการเกษตรที่ยั่งยืน หน่วยงานราชการที่มีส่วนร่วม อาทิ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น ส่วนเกษตรกรก็จะเข้ามาช่วยดูแลและแลกเปลี่ยนความรู้กับทางราชการ ช่วงหลังก็มีการทำการเกษตรอินทรีย์ การเกษตรผสมผสานแล้วชาวบ้านก็มาช่วยทำงาน เป็นตัวอย่างการทำการเกษตรที่ประสบความสำเร็จในพื้นที่แห้งแล้ง ปัจจุบันนี้จากอ่างเก็บน้ำหนองเสือที่เคยแห้งแล้ง สามารถใช้เป็นที่เก็บกักน้ำขนาด 280,000 ลบ.. เพื่อกระจายน้ำใช้ในไร่ทั้งหมด ..5 ปีผ่านไป ผลผลิตจากการทำวิจัยในการปลูกพืชและการทำเกษตรแบบอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพจากโครงการมากมาย ที่พระองค์ให้จำหน่ายในโครงการชื่อร้านว่า Golden Place ไม่ได้ไปจำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไปเพื่อไม่ให้ไปแย่งลูกค้ากับชาวบ้าน

สุดท้ายนี้จะพามาชมบ้านชมวิวบนเขาของพ่อ แต่พระองค์ยังไม่เคยได้ประทับ เนื่องจากในช่วงที่กำลังก่อสร้างพระองค์เริ่มประชวร ปัจจุบันบ้านหลังนี้สร้างเสร็จแล้ว เป็นที่ตั้งที่สามารถเห็นบรรยากาศโดยรอบของโครงการชั่งหัวมันทั้งหมด

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • Presentation จากโครงการชั่งหัวมัน
  • matichonweekly.com
  • manager.co.th
  • รายการเจาะข่าวเด่น
  • นสพ. สยามรัฐ
  • นสพ. บ้านเมือง