เหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ ธปท. พิจารณาประกาศมาตรการนี้ น่าจะมาจากอัตราการเติบโตของตลาดอสังหา ที่บรรดาผู้ประกอบการแห่เปิดโครงการใหม่อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี รวมไปถึงการเก็งกำไรของนักลงทุนบางกลุ่มที่ทำให้ราคาบ้าน–คอนโดสูงซะจนหยิบจับไม่ได้
โดยเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่ธปท. เตรียมประกาศใช้ใหม่ กำหนดให้ผู้ซื้อบ้านหลังแรกที่มีราคาเกิน 10 ลบ. และบ้านหลังที่สอง (ไม่มีราคาขั้นต่ำ) ต้องวางเงินดาวน์อย่างน้อย 20% ของมูลค่าหลักประกัน
ข้อดีของมาตรการนี้ จะช่วยให้คนที่ซื้อเพื่ออยู่ สามารถซื้อบ้านได้ในราคาที่เหมาะสม ขณะที่ผู้ที่ซื้อเพื่อลงทุน ก็จะรับความเสี่ยงได้ดีขึ้น ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ สามารถวางแผนลงทุนได้เหมาะสม ลดความเสี่ยงในการเกิดโอกาสฟองสบู่ รวมถึงสถาบันการเงินก็จะมีคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้น และมีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของมูลค่าหลักประกัน
ตามกำหนดการที่วางไว้ ธปท. ต้องการเริ่มใช้มาตรการไม่เกินต้นปีหน้า ทำให้มีการคาดการณ์ว่าในช่วง 3 เดือนสุดท้าย จะมีบริษัทอสังหาฯ หลายราย เอาคอนโดออกมาขายมากกว่า 50,000 ยูนิต เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งเมื่อรวมกันคอนโดที่ค้งคางในตลาดอีก 40,000 ยูนิต ก็ยิ่งนึกภาพไม่ออกเลยว่า จะช่วยกันระบายออกไปยังไง ?
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบ LTV ของประเทศอื่นๆ พบว่าบางประเทศมีการกำหนดค่า LTV ไว้ต่ำกว่า 50% อาทิ เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ที่ต่างเคยประสบปัญหาฟองสบู่อสังหาฯ มาแล้ว ซึ่งนอกจากลดหนี้เสีย มาตรการนี้ยังคุมไม่ให้ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น จนเกินกำลังซื้อของคนส่วนใหญ่